พัฒนา Happinometer วัดความสุขคนทำงาน

          “สสส.-มหิดล-NECTEC” พัฒนา “Happinometer” วัดความสุขคนทำงานไทยรอบ 3 ปี พบจิตวิญญาณดี แต่ผ่อนคลายแย่สุด พร้อมแปล 10 ภาษาอาเซียนรับ AEC แสดงความพร้อมรับแรงงานเสรี ต่อยอดสร้างประชาคมแห่งความสุข


/data/content/25793/cms/e_ahiklmnpvz23.jpg


          เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ในงาน Happy Workplace Forum 2014 ครั้งที่ 4 “HAPPINOMETER: From Happy Workplace to Happy AEC” นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(NECTEC) ดำเนินโครงการจับตาสถานการณ์ความสุขคนทำงานในประเทศไทย ปี 2555–2557 พัฒนาเครื่องมือวัดความสุขระดับบุคคลและองค์กร “HAPPINOMETER” โปรแกรมสำเร็จรูปคำนวณและบันทึกผลได้ทันที ตามหลักความสุข 8 ประการ+1 มิติ ได้แก่ 1.Happy Body สุขภาพดี 2.Happy Relax ผ่อนคลายดี 3.Happy Heart น้ำใจดี 4.Happy Soul จิตวิญญาณดี 5.Happy Family ครอบครัวดี 6.Happy Society สังคมดี 7.Happy Brain ใฝ่รู้ดี และ 8.Happy Money การเงินดี และ Happy Work Life การงานดี


          “ผลการการจับตาสถานการณ์ความสุขคนทำงาน จะช่วยเสริมจุดแข็ง ลดจุดอ่อนได้ตรงจุด บริหารจัดการความสุขได้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังพร้อมเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนแนวคิดองค์กรแห่งความสุข รองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 เพื่อร่วมกันสร้าง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแห่งความสุข” ต่อไปด้วย” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว


/data/content/25793/cms/e_befhoprv1268.jpg


          รศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลจับตาสถานการณ์ความสุขคนทำงานในประเทศไทย โดยสำรวจคนทำงานกว่า 96,700 คน จาก 274 องค์กร พบว่า ปี 2555 ครึ่งปีแรก คนทำงานมีความสุขภาพรวม 61.1 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ครึ่งปีหลัง 60.9 คะแนน ปี 2556 ครึ่งปีแรกลดลงเหลือ 57.1 คะแนน ครึ่งปีหลัง 60.2 คะแนน น่าจะเป็นผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ และปี 2557 ครึ่งปีแรกเพิ่มเป็น 61.1 คะแนน โดยด้านจิตวิญญาณดีได้คะแนนสูงสุดทุกปี สะท้อนว่า คนทำงานส่วนใหญ่มีความพร้อมด้านจิตวิญญาณของการทำงาน ขณะที่ด้านผ่อนคลายดี ได้คะแนนต่ำสุด โดยเฉพาะครึ่งปีแรก 2556 มีคะแนนเพียง 48.5 คะแนน ซึ่งสะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนให้มีการสร้างเสริมความสุขคนทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในระยะต่อไปจะวิจัยเชิงคุณภาพที่เน้นเรื่องสถานที่ทำงานที่มีคนทำงานหลายวัฒนธรรม หลายเชื้อชาติ รองรับ AEC เป็นการแสดงความพร้อมสถานประกอบการไทยในการรับการไหลเวียนแรงงานเสรี โดยขณะนี้ HAPPINOMETER ได้แปลเครื่องมือครบ 10 ภาษา แล้ว


 


 


          ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code