พัฒนาโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยอีโบล่า
'กระทรวงสาธารณสุข' เตรียมพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์กว่า 30 แห่ง เพื่อเตรียมการป้องกันและรองรับหากพบผู้ป่วยโรคอีโบลาและโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ 2012 หรือเมิร์สคอฟในประเทศไทย
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ติดตามความพร้อมรองรับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา(Ebola)และโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ 2012 หรือเมิร์สคอฟ(MERSCoV) เปิดเผยว่า สถาบันบำราศนราดูรมีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อร้ายแรง ทั้งไวรัสอีโบลาและโคโรนาไวรัส โดยมีระบบการคัดกรองแยกผู้ป่วย ระบบการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วยไปยังบุคลากร รวมทั้งความปลอดภัยของระบบการส่งตรวจเชื้อโรคทางห้องปฏิบัติการ และการกำจัดขยะติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพ
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมโรงพยาบาลไว้หากพบผู้ป่วยโรคอีโบลาในประเทศไทย ในกทม.และปริมณฑล5 แห่ง คือ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลราชราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันสุขภาพเด็กฯ โรงพยาบาลเลิดสิน ในส่วนต่างจังหวัด ทั้ง 12 เขตบริการสุขภาพ จะมีโรงพยาบาลศูนย์อย่างน้อย 1 แห่ง พร้อมรองรับได้ และจะได้พัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศทั้ง 30 แห่ง ให้รองรับผู้ป่วยได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2557 นี้ ส่วนของโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง จะพัฒนาให้สามารถดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นและส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลศูนย์ที่ใกล้ที่สุดได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ในการพัฒนาศักยภาพ จะดำเนินการครอบคลุมทั้งด้านสถานที่ ห้องแยกผู้ป่วย เครื่องมือเครื่องใช้ และที่สำคัญคือการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความชำนาญในแนวทางการปฏิบัติ
รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงสาธารณสุขมีระบบเฝ้าระวังโรคที่เข้มแข็ง กรองได้ถึง 3 ชั้น ทั้งที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ในโรงพยาบาลและในชุมชน หากมีผู้เข้าข่ายสงสัย เรามีความพร้อมที่จะดูแลเต็มที่ และจะพัฒนาโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต