พลัง ‘Gen A’ ร่วมสร้างสุขการอ่านสู่เยาวชนภาคใต้
ภที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
แฟ้มภาพ
พื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ยังคงมีปัญหาเรื่อง "การอ่าน" ที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิกฤติปัญหาก็ว่าได้ อันเนื่องมาจากภาษาที่ใช้ในพื้นที่คือ ภาษามลายู แต่ภาษาที่ใช้ในการสอบและการอ่านคือภาษากลาง ทำให้เด็กๆ อ่านและเขียนภาษาไทยไม่คล่อง
เมื่อเร็วๆ นี้ "โครงการ Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมือง" ปี 2 จึงได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ณ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดซ์ แอนด์ รีสอร์ท อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เนื่องจากการประสบความสำเร็จในปีแรกที่เกิดขึ้น ได้มีเสียงสะท้อนว่า เด็กๆ ในพื้นที่อ่านออก เขียนได้ และรักการอ่านมากขึ้น ด้วยกระบวนการที่มีชีวิตชีวา มีเสน่ห์ของพลังนักศึกษาทำให้เด็กเล็กสนใจและมีความสุขจากการอ่าน
ท.พ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การอ่านออกเขียนได้เป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญ เพราะเป็นหน้าต่างสร้างการเรียนรู้ของมนุษย์ทุกคนและยังเป็นสะพานนำไปสู่การมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีขึ้น เช่น การอ่านฉลากยา ฉลากอาหาร การอ่านข่าวสารต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และตัดสินใจเลือกในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจการอ่านออกเขียนได้ของกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2558 พบว่า มีเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1-6 ถึง 140,000 คน ที่อ่านหนังสือไม่ออก และมีนักเรียนที่เขียนหนังสือไม่ได้มากถึง 270,000 คน ขณะที่ข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า 1 ใน 3 ของเยาวชนอายุ 15 ปี ไม่สามารถอ่านจับใจความหรือไม่เข้าใจเนื้อหาที่กำลังอ่าน โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในเขตชนบทและในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มักอยู่ใน 10 อันดับรั้งท้ายของประเทศ
"แผนสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เป็นภาคีหลักในการขับเคลื่อนการอ่านสู่เด็กใต้ เนื่องจากมีประสบการณ์ บทเรียน เทคนิค และหนังสือที่คัดสรรมาแล้วว่าเหมาะกับเด็กวัยไหน สสส.จึงเชื่อมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงอาศัยพลังนักศึกษามาเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กชั้นประถมศึกษา โดยสิ่งที่ สสส.คาดหวังคือ เด็กชั้นประถมศึกษาจะอ่านออกเขียนได้ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นหน้าต่างให้เขาได้เปิดโลกกว้างมากขึ้น และการรวมพลังของจิตอาสา Gen A ที่เอาความรู้ความสามารถไปช่วยน้องๆ ให้รักการอ่านมากขึ้น" ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าว
จากการจัดงานพลังอ่านเปลี่ยนเมืองปี 1 มีเด็กๆ มาร่วมแค่ไม่กี่ร้อยคน แต่สามารถขยายจำนวนคนรักการอ่านกว่า 2,000 คน สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวถึงความภูมิใจเรื่องผลสำเร็จ และเล่าถึงการดำเนินงานครั้งนี้ว่า
"ภาคใต้เป็นพื้นที่น่าห่วงเรื่องของการอ่าน เป็นข้อเท็จจริงว่าหลายๆ พื้นที่ใน 5 จังหวัดภาคใต้ไม่ได้ใช้ภาษาไทย เป็นภาษาหลักในการเรียนการสอน เด็กจึงมีปัญหาเรื่องการอ่านเขียนเยอะมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงนำพลังของนักศึกษาที่ทำสำเร็จจากปีที่แล้วมาจูงใจน้องๆ นักศึกษาภาคใต้ในปีนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับดีมากจาก 25 สถาบัน" สุดใจ กล่าว
ในงาน Gen A พลังอ่านเปลี่ยนเมืองปี 2 มีเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้ฟังแรงบันดาลใจจาก วรรณกนก เปาะอีแตดาโอะ หรือพี่ชมพู่ ประธานสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จ.ยะลา (กลุ่มลูกเหรียง) เรื่องการใช้หนังสือเยียวชีวิตเด็กตัวเล็กๆ ที่ยังเหลืออยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า
"เริ่มจากการนำหนังสือที่มีอยู่ 5-6 กล่อง ไปตั้งไว้ที่โรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเวียนหนังสือไปโรงเรียนละ 1 เดือน เมื่อถึงคราวไปรับหนังสือ ทเด็กๆ ต่างมาเรียกร้องขอหนังสืออ่านอีก พี่ลองเปิดหนังสือเหล่านั้นดู ปรากฏว่าเด็กๆ มีเขียนสรุปเรื่องราว ขีดเส้นใต้ นั่นแสดงว่าเขาอ่านจริง ต่อมาทีมงานได้สำรวจหนังสือที่เด็กชื่นชอบ พบว่าเป็นหนังสือด้านการพัฒนาตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจ เราเลยคัดหนังสือประเภทนี้ไปให้โรงเรียน รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับต่างประเทศ เพราะเด็กอยากรู้ว่าโลกข้างนอกเป็นอย่างไร แต่ละโรงเรียนมีเด็กแกนนำที่เก่ง แต่ไม่มีกลไกการรวมตัว กลุ่มลูกเหรียงจึงให้ทางโรงเรียนจัดทำสภานักเรียน เพื่อยกระดับเสียงของพวกเขาให้ดังขึ้นและระดมหนังสือมาให้" วรรณกนก กล่าว
ประธานกลุ่มลูกเหรียง ยังเล่าต่อว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก และเจอโจทย์ชีวิตที่ยาก "การอ่าน" จึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเยียวยาความรู้สึกเด็กๆ ที่สูญเสียหรืออยู่ในเหตุการณ์ความไม่สงบได้ เพราะสามารถดึงเขาออกจากโลกปัจจุบัน ให้จดจ่ออยู่ในโลกกว้างที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความรู้ ทำให้เด็กเหล่านี้ทัดเทียมผู้อื่นในสังคม การได้ช่วยเหลือชีวิตผู้อื่น ทำให้เรามีค่าในสังคมที่กว้างใหญ่ อยากฝากถึงเยาวชน Gen A ให้มีพลังในการช่วยเหลือสังคม และนำการอ่านเข้าไปสู่เด็กๆ ให้เขาได้รู้จักโลกกว้าง และทำให้รู้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียว
ทั้งนี้ เยาวชน Gen A กว่า 20 สถาบัน ได้แบ่งกลุ่มลงพื้นที่โรงเรียนกัลยาณชนรังสรรค์มูลนิธิ มัสยิดบ้านเหนือ อ.คูเต่า จ.สงขลา เพื่อทดลองนำกิจกรรมไปสอนเด็กๆ ใน 3 ระดับคือ ประถมศึกษาปีที่ 1-3 ประถมศึกษาปีที่ 4-6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยโรงเรียนดังกล่าวเป็นโรงเรียนสอนศาสนาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น กำลังจะสร้างห้องสมุดประจำมัสยิดเพื่อให้นักเรียน ผู้ปกครอง และคนในชุมชนมายืมหนังสืออ่าน เพื่อนำความรู้มาพัฒนาสังคมและสร้างประโยชน์กับชุมชน
ญาณิศา รักษ์ศรีทอง หรือนุ่น ตัวแทนเยาวชนจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ม.ทักษิณ จ.สงขลา เล่าให้ฟังว่า กลุ่มของตนรักงานจิตอาสาอยู่แล้ว และตื่นเต้นที่มีกิจกรรมแบบนี้ เพราะเดิมจะคอยสอนหนังสือเด็กๆ ละแวกบ้าน และพบว่าเด็กอ่านเขียนไม่คล่อง กิจกรรมในครั้งนี้จะมาเสริมความรู้ สร้างแรงบันดาลใจที่จะส่งต่อพลังการอ่าน เพื่อเปลี่ยนแปลงน้องๆ ระดับประถมศึกษาให้มีการอ่านและเขียนที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเติมเต็มคุณค่าในตัวเองที่ได้ช่วยเหลือสังคม
ด.ญ.น้ำฝน สาระวารี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกัลยาณชนรังสรรค์มูลนิธิ มัสยิดบ้านเหนือ หนึ่งในนักเรียนที่ได้รับประโยชน์จากการอ่านสะท้อนว่า ปกติไม่ได้อ่านหนังสือเท่าไหร่ แต่พอพี่ๆ มาสอนแล้วรู้สึกสนุก ชอบมากที่ได้ร่วมกิจกรรม และเห็นว่าการอ่านสำคัญทำให้เรามีความรู้ อย่างวันนี้พี่สอนเรื่องจราจร และเขียนจังหวัด อยากให้พี่ๆ มาอีกค่ะ
หัวใจสำคัญของโครงการฯ ครั้งนี้คือสร้างความสุขจากการอ่านให้เด็กๆ โดยกลุ่มเยาวชน Gen A ที่มีพลังของจิตอาสา ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือปัญหาของชาติ และนำไปสู่การสร้างฐานการเรียนรู้ที่มีความสุขไปตลอดชีวิต