‘พลังเด็ก สร้างเมืองเรียนรู้ มุ่งสู่อาเซียน’
ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของ "งานพลังเด็กเปลี่ยนโลก มหกรรมพลังเยาวชน พลังท้องถิ่น สู่เมืองแห่งการเรียนรู้สาหรับเด็กและเยาวชน" (คืนความสุขให้เยาวชน) ซึ่งเกิดจากการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการ ของสานักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยร่วมกันพัฒนาให้จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเมืองต้นแบบ ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน
"เรารู้ว่าพลังของเยาวชนมีศักยภาพมาก จึงสนับสนุนให้มีเครือข่ายเด็กและเยาวชนในเชิงการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ มีสุขภาวะที่ดี เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานและให้โอกาสกับเด็ก ในทิศทางที่ดี" นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบาย
นางเพ็ญพรรณ เล่าให้ฟังว่า การสนับสนุนโครงการขับเคลื่อนด้านเด็กและเยาวชน เน้นการทำให้สถานการณ์เด็กและเยาวชนในจังหวัดอุบลราชธานีคลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่าง ปัญหาเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ปัญหาครอบครัว หรือความเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ จึงมีการสร้างเครือข่ายเยาวชนภายในจังหวัด โดยมีพื้นที่ต้นแบบ 45 ตำบล และยังได้ทำงานร่วมกับจังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ ยังได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอย่าง เครือข่ายหนุ่มสาวชาวลาวจากประเทศลาว องค์กรเด็กและเยาวชนจากกัมพูชา และมหาวิทยาลัยของประเทศเวียดนาม เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งการทำงานด้านการศึกษาหรือทำกิจกรรมสร้างสรรค์ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นสื่อที่ดีที่สุด เป็นการสร้างมิตรภาพ ความเข้าใจระหว่างเด็กไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เด็กและเยาวชนควรมีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจทั้งทักษะชีวิต และการเรียนรู้วิชาการ
ด้าน นายโสม บุตตะกุล เลขาธิการคณะบริหารสาวหนุ่มแขวงจำปาศักดิ์ จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บอกเล่าถึงการทำงานเครือข่ายเด็กและเยาวชนว่า ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการร่วมงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ จะเป็นแนวทางเพื่อพัฒนาและยกระดับการเรียนรู้ด้านต่างๆ ของเยาวชน ซึ่งกิจกรรม
ที่คณะบริหารสาวหนุ่มฯ ได้ทำในพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมเข้าค่ายพัฒนาศักยภาพ ระหว่างเมืองและโรงเรียน เน้นการทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ นำเสนอแนวคิด ขนบธรรมเนียมประเพณีและเศรษฐกิจของท้องถิ่น อย่างกีฬา พื้นบ้าน การแสดงศิลปะท้องถิ่น โดยในอนาคตจะเน้นการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมการแสดงออกในทักษะด้านต่างๆ ของเยาวชน พร้อมทั้งจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้เพิ่มมากขึ้น
ด้านกลุ่มเครือข่ายเด็กและเยาวชนอย่างกลุ่มสื่อใสวัยทีน เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยใช้กระบวนการละคร กระบวนการค่าย และศิลปะ เป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติโดยตรงให้กับเด็ก เพื่อพัฒนาความคิด จิตใจและเสริมสร้างทักษะชีวิต ให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างสร้างสรรค์ และยังเปิดพื้นที่ให้เยาวชนที่สนใจร่วมเป็นอาสาสมัคร เพื่อ แบ่งปันสิ่งดีๆ ให้สังคมอีกด้วย
นายตะวัน มากนวล หรือน้องเข้ม อาสาสมัครกลุ่มสื่อใสวัยทีน วัย 18 ปี จังหวัดอุบลราชธานี บอกว่า ชุมชนมีสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงที่เกิดกับวัยรุ่นอย่างเช่น ปัญหายาเสพติด การพนัน เราอยากทำสิ่งเล็กน้อยๆ เพื่อเป็นพลังเปลี่ยนแปลงชุมชนของเราในทางที่ดีขึ้น จึงรวมกลุ่มกัน เมื่อทำกิจกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เยาวชนให้ความสนใจ มีส่วนร่วมแสดงในการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และสร้างสรรค์ ตัวอย่างกิจกรรมที่ทำจะมีทั้งละครเวที มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโทษของยาเสพติด การทำงานศิลปะอย่างทำสมุดทำมือ ตุ๊กตาหุ่นมือ หมวก ซึ่งสิ่งของเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดเป็นสื่อการเรียนสอนได้
น้องเข้ม อาสาสมัครคนเก่ง บอกทิ้งท้ายว่า ในอนาคตกลุ่มอาสาสมัครฯ มีการวางแผนจะเปิดโรงละคร เพราะอยากสร้างพื้นที่สาธารณะให้เยาวชนมีสิทธิมีเสียงในการแสดงออกและความคิดเห็น รวมถึงการร่วมมือกับเยาวชนอาเซียนในการทำละครร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรม เพื่อสะท้อน แง่คิดทางสังคมและการพัฒนาประเทศของตนเองด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด