พลังอาสาสร้างสังคมปลอดควันสานปณิธานพ่อหลวง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"ไม่อยากให้สูบบุหรี่ สูบแล้วเป็นโรคต้องรักษาทรมาน ต้องนอนรักษาตัวโดยมีญาติพี่น้องคอยดูแล เลิกเถอะครับ" ข้อความจากปลายปากกาของผู้ป่วยโรคมะเร็งกล่องเสียงที่นอนรักษาตัว ณ หอผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราช ฝากสื่อสารพิษภัยของบุหรี่เอาไว้เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย และสารพิษที่มากับมวนบุหรี่ก็ยังเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งต่างๆ ทั้งมะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดเลือดในสมอง และปอดอักเสบ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายหมออนามัย และชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการและปฏิญาณตน "อสม.-อสส. ชวนเลิกบุหรี่ ทำดีถวายพ่อ" เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินงานชวนคนเลิกบุหรี่ทั่วประเทศ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนสู่ชุมชน ภายใต้โครงการ "3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน"
โครงการดังกล่าวได้เริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 ถือได้ว่าเป็นการร่วมถวายเป็นพระราชกุศลและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยต่อสุขภาพพสกนิกรชาวไทยจนมีพระราชดำรัสเรื่องบุหรี่ เมื่อ 4 ธันวาคม 2547 ใจความว่า "การสูบบุหรี่ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้สมองทึบ ไม่กระฉับกระเฉง การห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่จริงเด็กอายุ 50 ปี ก็ควรจะห้าม" อีกทั้งพระองค์ยังทรงเป็นต้นแบบที่ดีในการเลิกสูบบุหรี่เพื่อประชาชนอีกด้วย
ปัจจุบัน โครงการ 3 ล้าน 3 ปีฯ ได้ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ในฐานะรองผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการว่า โครงการ 3 ล้าน 3 ปีฯ เป็น 1 ใน 16 นโยบายแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ในการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ระยะ 18 เดือน เพื่อป้องกันและส่งเสริมคนไทยมีสุขภาพดีทุกกลุ่มวัย ซึ่ง สธ. ได้กำหนดแผนชาติเรื่องบุหรี่ โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2562 ต้องลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้เหลือ 16.7% จากจำนวนผู้สูบในปี 2558 ที่มีจำนวนถึง 19.9% เท่ากับว่าต้องลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ถึง 1.8 ล้านคนภายในระยะเวลาอีก 2 ปี เพราะ ในแต่ละปีประเทศต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์จากการสูบบุหรี่เกือบ 75,000 ล้านบาท
"โครงการนี้เป็นโครงการที่ตั้งเป้าหมายไว้ใหญ่มาก ถือเป็นความท้าทายในการดำเนินงานอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้จากข้อมูลล่าสุดในการดำเนินโครงการพบว่า มีผู้ร่วมโครงการกว่า 9.8 พันรายที่เลิกสูบบุหรี่ได้ในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งหากเทียบกับข้อมูลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จะพบว่ามีผู้เลิกสูบได้เพียง 3 หมื่นคนเท่านั้น อีกทั้งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการทำเพื่อถวายพ่อหลวง ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงเดือนสุดท้ายก่อนมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันแปรเปลี่ยนความโศกเศร้ามาเป็นพลังในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสังคมไทยให้ดีขึ้น เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ท่านต่อไป" ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว
ด้าน ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ แสดงความคิดเห็นว่า สมาพันธ์ฯ ร่วมกับ สสส. สธ. และภาคีเครือข่ายพยายามขับเคลื่อน งานตามพระราชดำรัสของพระองค์ ซึ่งโครงการ 3 ล้าน 3 ปีฯ เป็นการทำงานเชิงรุกที่มีเจ้าหน้าที่ อสม. และอาสาสมัครเป็นแกนนำลงพื้นที่อย่างเข้มแข็ง แกนนำเหล่านี้เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับคนใน พื้นที่และรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดี ในการทำงานเช่นนี้ต้องใช้ความอดทน ความพยายามเป็นอย่างมาก เนื่องจากในการเชิญชวนครั้งแรกประชาชนอาจยังไม่สนใจ แต่ขอเพียงอย่าท้อแท้และอยากให้ยึดมั่นในการดำเนินงานตามพระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพดี ซึ่งก้าวต่อไป ทางสมาพันธ์ฯ จะรุดทำงานเชิงรุกในระดับจังหวัด ผ่านกลไกการทำงานของคลินิกฟ้าใส 392 แห่งที่อยู่ใกล้โรงเรียน ร่วมติดตามนักเรียนที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ร่วมโครงการ รวมถึงให้ความรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่
นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า คาดการณ์ว่าในเขตกรุงเทพมหานคร มีจำนวนคนสูบบุหรี่ประมาณ 1 ล้านคน คิดเป็น 10% จากจำนวนประชากรที่อาศัยทั้งหมด 12 ล้านคน จึงมีความมุ่งหวังให้ อสส. 1 คนเชิญชวนคนให้เลิกสูบบุหรี่ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน โดยในปีที่ผ่านมาได้จัดอบรมแกนนำ อสส. ไปบางส่วนและในปีหน้าจะจัดอบรมแกนนำ 1,200 คน ใน 50 เขต ซึ่งจากการเปิดตัวการขับเคลื่อนงานไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 1,200 ราย และกำลังเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่
"ภูมิใจที่มีส่วนทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้ ผลที่ตามมาคือครอบครัวเขามีความสุข ไม่ขาดสมาชิกในครอบครัวไปเพราะโรคที่เกิดจากบุหรี่ และสุขภาวะในสังคมก็จะดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสืบสานปณิธานของพ่อหลวง" นางกัญทิมา บุญมาก อาสาสมัคร 039 เขตราษฎร์บูรณะ กทม. บอกเล่าความประทับใจ
ในปัจจุบันมีจำนวน อสม. 1 ล้านคน และอาสาสมัคร จำนวน 4 แสนคน แน่นอนว่าหากเจ้าหน้าที่สามารถเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการได้ เป้าหมายที่หน่วยงานต่างๆ กำหนดไว้ร่วมกันก็คงไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน