“พริตตี้” ความรับผิดชอบของบริษัทบุหรี่?
ถามใจธุรกิจยาสูบคืนกำไรให้สังคม
ลักษณะกิจกรรมที่ปรากฏของการส่งเสริมการขายโดยใช้พริตตี้ ได้แก่ การจัดงานอีเวนท์เปิดตัวสินค้าใหม่ การตั้งบูธขายบุหรี่ตามงานต่างๆ เช่น ลานเบียร์ งานคอนเสิร์ต งานประเพณี งานแสดงสินค้า
นอกจากนี้ สาวพริตตี้ยังปรากฏตัวในการตลาดแฝงกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็นการปรากฎตัวในสถานที่ที่ตกแต่งบริเวณที่อนุญาตให้สูบบุหรี่ไว้อย่างสวยงาม โดยที่บริษัทบุหรี่เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการตกแต่งสถานที่ตามผับบาร์ สถานีขนส่ง ลานเบียร์ และสถานที่แสดงคอนเสิร์ต
สาวพริตตี้จะใส่เสื้อผ้าที่ใช้สีเดียวกับยี่ห้อบุหรี่ที่เขาต้องการส่งเสริมการขาย รวมทั้งสีของสถานที่ที่ใช้ ไม่มีการเขียนยี่ห้อหรือตราบุหรี่ แต่ใช้สีเป็นตัวสื่อยี่ห้อ
พริตตี้ขายบุหรี่จึงเป็นสื่อบุคคลที่โฆษณาและส่งเสริมการขายสินค้าเหมือนกับพริตตี้ของสินค้าอื่นๆ
ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 การกระทำทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายบุหรี่ทุกรูปแบบ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่ได้ทำอะไรกับเรื่องนี้
นี่คือเจตนาอันชั่วร้ายของบริษัทบุหรี่ คือใช้สาวสวยเซ็กซี่ล่อให้วัยรุ่นเข้าไปติดบุหรี่ เมื่อวัยรุ่นติดบุหรี่แล้ว ส่วนใหญ่จะติดไปอีก 20-30 ปี หรือตลอดชีวิต
ในอีกทางหนึ่ง บริษัทบุหรี่ก็สร้างภาพโดยทำโครงการที่เรียกว่าแสดง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” โดยการสนับสนุนโครงการและกิจกรรมของชุมชน โรงเรียนในเรื่องสิ่งแวดล้อม การออกกำลังกาย การกีฬา ฯลฯ ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือ การที่จะพยายามสร้างภาพเพื่อกลบเกลื่อนความจริงที่ว่าบริษัทเหล่านี้ขายสินค้าเสพติดที่ฆ่าคนสูบ
การทำกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทบุหรี่มีผลทำให้ผู้คน องค์กร และชุมชนที่รับสิ่งที่บริษัทบุหรี่หยิบยื่นให้มีความรู้สึกที่ดีต่อบริษัทบุหรี่ มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อบริษัทบุหรี่ลดลง ยอมรับการสูบบุหรี่มากขึ้น
ซึ่งผลสุดท้ายคือการที่บริษัทบุหรี่สามารถรักษาและขยายตลาดต่อไปได้
ถามว่าใจคอจะหัวรุนแรงไม่ให้บริษัทบุหรี่แสดงความรับผิดชอบ/คืนกำไรแก่สังคมเลยหรือ
คำตอบ คือ การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่แท้จริงของบริษัทบุหรี่อย่างน้อยที่สุดคือการปฏิบัติตามกฎหมายที่ประเทศต่างๆ ออกมาเพื่อให้คนสูบบุหรี่น้อยลง เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ ติดบุหรี่มากขึ้น
แต่บริษัทบุหรี่พยายามหาช่องทางเพื่อฝ่าฝืนกฎหมายตลอดเวลา
สาวพริตตี้เชียร์บุหรี่เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งที่ท้าทายกฎหมายและแสดงถึงความไม่รับผิดชอบของบริษัทบุหรี่ต่อสังคม
มาตรา 5.3 อนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก กำหนดให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ออกกฎหมายห้ามบริษัทบุหรี่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือการส่งเสริมการขายทางอ้อม
ระหว่างที่เราคอยกฎหมายนี้ในบ้านเรา สิ่งที่เราทุกคนทำได้ คือ การไม่ยอมรับสิ่งที่บริษัทบุหรี่หยิบยื่นให้เพื่อจะได้ไม่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการคงไว้ซึ่งความชอบธรรมในการทำธุรกิจอย่างไม่รับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทบุหรี่ต่อไป
ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
update:22-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ