พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ยกย่อง 5 แพทย์เก่งมีจิตเมตตา
5 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เข้ารับพระราชทานรางวัล “สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ใน 2 สาขาสำคัญ พระเทพฯ รับสั่งเชิดชูยกย่องผู้ที่ได้รับรางวัล เป็นคนเชี่ยวชาญ เก่งอย่างลึกซึ้ง เสียสละและมีจิตเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างมาก เผยสาขาการแพทย์ มี 2 ศาสตราจารย์ “ศ.นพ.นิโคลัส เจ. ไวต์ – ศ.นพ.เควิน มาร์ช” ผู้พิชิตโรคมาลาเรียในเอเชีย – แอฟริกา ส่วนสาขาสาธารณสุข มี 3 ศาสตราจารย์ ผลงานประยุกต์ให้ธาตุสังกะสีเสริมในเด็ก ให้รอดตายหลายร้อยล้านคนทั่วโลก “ศ.นพ.อนันดา เอส. ประสาด – ศ.นพ.เคนเนท เอช. บราวน์ – ศ.นพ.โรเบิร์ต อี. แบล็ก” เผยแพทย์รับรางวัลต่างมุ่งมั่นพัฒนางานรักษาช่วยเหลือคนไข้ต่อไป
เมื่อเวลา 17.19 น. วันที่ 26 ม.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 19 ประจำปี 2553 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง โดยในปีนี้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัล ใน 2 สาขา 5 คน ประกอบด้วย สาขาการแพทย์ มี 2 คน ได้แก่
1. ศ.นพ.นิโคลัส เจ. ไวต์ ประธานหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนเวลคัมทรัสต์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ทุ่มเทตลอดระยะเวลา 25 ปี ศึกษาค้นคว้าวิธีรักษาโรคมาลาเรีย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเขตระบาดของโรคมาลาเรียที่มีการดื้อยาอย่างมาก มุ่งเน้นใช้ยาสูตรผสมอาเทมิซินิน รักษาและป้องกันการดื้อยาได้ดี
2. ศ.นพ.เควิน มาร์ช ผู้อำนวยการโครงการวิจัยเวลคัม – เคมรี่ และ ศ.เขตร้อน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร ผู้มีบทบาทสำคัญในการศึกษาด้านระบาดวิทยาของโรคมาลาเรียในทวีปแอฟริกา โดยศึกษาวิจัยการตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะแอนติเจนของเชื้อมาลาเรีย พบว่าหลังติดเชื้อมาลาเรียแล้ว เชื้อยังสามารถกลายพันธุ์ต่อไปได้อีก ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงความหลากหลายของสายพันธุ์ของเชื้อมาลาเรีย อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาวัคซีนในปัจจุบัน
สำหรับสาขาสาธารณสุข ประกอบด้วยนายแพทย์ 3 คน ซึ่งมีผลงานเป็นความเกี่ยวเนื่องกัน นำไปสู่การประยุกต์ให้ธาตุสังกะสีเสริมในเด็ก เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเด็กและลดอัตราการตายของเด็กหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ดังนี้
1. ศ.นพ.อนันดา เอส. ประสาด ศ.เกียรติคุณ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวย์นสเตต รัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยผลงานพบความสำคัญของธาตุสังกะสีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกายได้เป็นบุคคลแรก
2. ศ.นพ.เคนเนท เอช. บราวน์ ศ.ภาควิชาโภชนาการ ม.แคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ศึกษาต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 20 ปี ร่วมกับแพทย์หลายท่าน พบว่าการให้ธาตุสังกะสีเสริมในเด็กสามารถป้องกันการเสียชีวิต จากโรคอุจจาระร่วงและปอดบวม
3. ศ.นพ.โรเบิร์ต อี. แบล็ก หัวหน้าภาควิชาสาธารณสุขระหว่างประเทศ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.จอนส์ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้บุกเบิกการเสริมธาตุสังกะสีในโภชนาการ เพื่อลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของเด็ก
ในการนี้แพทย์เจ้าของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานด้วย โดย ศ.นพ.เควิน มาร์ช กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงของเชื้อมาลาเรีย ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีการติดเชื้อมากกว่า แต่อัตราการตายของทวีปแอฟริกาสูงกว่า เนื่องจากความแตกต่างของประชากร สิ่งแวดล้อม และความเจริญก้าวหน้าของประเทศ รวมถึงสายพันธุ์ของเชื้อมาลาเรียที่แตกต่างกัน แต่น่าเสียดายที่วัคซีนจากการวิจัยครั้งนี้ ยังไม่มีผลต่อการรักษาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็มีการตั้งความหวังในการพัฒนาและวิจัยต่อไป
ศ.นพ.นิโคลัส เจ. ไวต์กล่าวเสริมว่า ความกังวลเกี่ยวกับโรคมาลาเรียนั้น ตนห่วงเรื่องการดื้อยา ขณะนี้มีการใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างแพร่หลาย เพราะหาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูก การควบคุมการติดเชื้อ แท้จริงแล้วยังพอรักษาได้ แต่หากยังใช้ยากันเช่นนี้ เชื้อก็จะดื้อยาและรักษาได้ยากยิ่งขึ้น
ศ.นพ.อนันดา เอส. ประสาดกล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการหนึ่งที่พัฒนาให้แพทย์เป็นมากกว่าแพทย์คือเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ซึ่งทำให้ตนไม่เชื่อข้อมูลในตำราเพียงอย่างเดียว แต่สอนให้รู้จักค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ เช่น กรณีพบผู้ช่วยชาวตะวันออกกลาง อายุ 20ปี ที่มีร่างกายแคระแกร็นเหมือนเด็ก บางคนบอกว่าขาดธาตุเหล็ก แต่ตนคิดว่าไม่ใช่ จึงศึกษาวิจัยเพิ่มพบสาเหตุที่แท้จริงว่าขาดธาตุสังกะสี จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ศึกษาเรื่องนี้ตลอดมา
ศ.นพ.โรเบิร์ต อี. แบล็กเผยว่า ตนเริ่มทำงานเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ ที่ประเทศบังกลาเทศ ได้ทำการรักษาคนไข้มาเรื่อยๆ จนพบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขาดสารอาหารโดยเฉพาะธาตุสังกะสี ดังนั้นการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อจึงจำเป็นต้องรักษาและเสริมธาตุสังกะสีด้วยการฉีดวัคซีนและยาเม็ดควบคู่กันไป
ศ.นพ.เคนเนท เอช. บราวน์กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับรางวัลนี้มาก ตนขอมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้แก่ทีมงานวิจัยทุกคนด้วย และยังหวังว่าการได้รับรางวัลครั้งนี้จะช่วยสร้างความตระหนักให้คนทั่วโลกหันมาสนใจโรคที่เกิดจากการขาดธาตุสังกะสีมากขึ้น
ภายหลังสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลแล้วเสร็จ มีรับสั่งใจความสำคัญว่า ขอขอบใจคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ได้ดำเนินการต่างๆ ด้วยดีตลอดมาในการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชนทุกชั้นทั่วทุกส่วนของโลก การปฏิบัติพัฒนางาน การแพทย์และสาธารณสุขนั้น เป็นงานที่ยากและลำบาก ใช้เวลามาก เพราะต้องศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางและนำสิ่งที่วิจัยค้นพบมาปรับใช้ให้บังเกิดผลและเป็นประโยชน์ใช้ได้จริง ผู้ปฏิบัติงานด้านนี้จะต้องมีความรู้ ความสามารถในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง และมีจิตใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตา กรุณาต่อเพื่อนมนุษย์เป็นอย่างสูง จึงจะสามารถอดทนเสียสละและพากเพียรกระทำการจนสำเร็จผลที่น่าชื่นชม
ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความนิยมและยกย่องอย่างจริงใจ กับผู้ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล คือ ศ.นพ.นิโคลัส เจ. ไวต์ และ ศ.นพ.เควิน มาร์ช ผู้ที่มีผลงานดีเด่นในการบำบัดรักษาโรคมาลาเรีย และ ศ.นพ.อนันดา เอส. ประสาด, ศ.นพ.เคนเนท เอช. บราวน์ และ ศ.นพ.โรเบิร์ต อี. แบล็ก และผู้ที่มีผลงานดีเด่นในการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับประโยชน์ของธาตุสังกะสี กล่าวได้ว่าผลงานอันยิ่งใหญ่ของท่าน ได้ช่วยเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าของการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมทั้งอำนวยประโยชน์แก่การพัฒนาสุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์อย่างไพศาล ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพรให้ทุกท่านที่มาร่วมชุมนุมในพิธีนี้ ประสบแต่ความสุข ความสำเร็จ ความเจริญสวัสดี จงทุกเมื่อทั่วกัน
ต่อมาเวลา 20.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ ในการพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553พร้อมคู่สมรส ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร พระบรมมหาราชวัง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์