พรบ.ยาสูบฉบับใหม่ มุ่งลดเยาวชนติดบุหรี่

         สธ.ดัน  พรบ.ยาสูบฉบับใหม่ มุ่งลด'เยาวชน'ติดบุหรี่เพิ่มจากเดิม 18 ปี พร้อมห้ามขายบุหรี่แบบแบ่งซอง ยันไม่กีดกันการค้า-ไม่กระทบร้านค้าปลีก


/data/content/26897/cms/e_abceilry5789.jpg


          ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) แถลงข่าวถึงการจัดทำร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ พ.ศ…. ว่า ขณะนี้ได้นำเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อ นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม และผ่านถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป


          "ขอยืนยันว่าสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ ไม่มีประเด็นใดที่เป็นการกีดกันการค้าหรือขัดต่อกฎกติกาการค้าโลก แต่หากพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะช่วยลดจำนวนเยาวชนไทยที่จะติดบุหรี่ใหม่ปีละ 1 แสนคน ให้มีจำนวนลดลงได้ ซึ่งจากการวิจัยพบว่า หากป้องกันเด็กไทยไม่ให้ติดบุหรี่ได้ 1 คน จะประหยัดค่ารักษาโรคและลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้คนละราว 156,000 บาท ดังนั้น หากปล่อยให้เด็กสูบบุหรี่เพิ่มปีละ 1 แสนคน จะเกิดการสูญเสียมากถึง 15,600 ล้านบาท"


          ส่วนที่ขณะนี้มีการขึ้นป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่ระบุข้อความคัดค้านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในทำนองว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อร้านค้าปลีกหรือโชห่วยว่า "ขายของก็ลำบากอยู่แล้ว อย่าออกพ.ร.บ.ควบคุมยาสูบใหม่มาให้กระทบปากท้องพวกฉันอีกเลย" ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ต้องเอาความจริงมาพูดกัน โดยพบว่ายอดจำหน่ายบุหรี่ต่อปี คือ 2,008 ล้านซอง ร้านค้าปลีกขายได้ประมาณ 8 ซองต่อวัน หรือ 240 ซองต่อเดือน เท่ากับกำไรเฉลี่ยต่อซองเท่ากับ 3.5 บาท ต่อเดือนจะอยู่ที่ 840 บาทต่อเดือน แต่กำไรของอุตสาหกรรมยาสูบอยู่ที่ปีละ 9,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นของโรงงานยาสูบ 6,000 ล้านบาท หากการออกกฎหมายฉบับใหม่จะทำให้กำไรลดลงประมาณ 10% ก็เท่ากับรายได้ของร้านค้าปลีกจะหายไป 84 บาทเท่านั้น แต่กำไรที่หายไปส่วนใหญ่เป็นของอุตสาหกรรมบุหรี่ จึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขึ้นป้ายต่อต้านในลักษณะดังกล่าว


          "เรื่องดังกล่าวต้อง?เอาความจริงมาพูดกัน โชห่วยถูกบริษัทข้ามชาติใช้เป็นเครื่องมือในการยับยั้งร่างพ.ร.บ.นี้ นอกจากการขึ้นป้ายต่อต้านกฎหมายอย่างชัดเจน ยังพบว่ามีการส่งหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทุกกระทรวงให้ช่วยยับยั้งกฎหมายฉบับดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งเป็นการพูดแต่ว่า ธุรกิจได้รับผลกระทบโดยไม่เคยพูดว่า ธุรกิจบุหรี่สร้างความเสียหายต่อสุขภาพคนอย่างไร ทั้งนี้ การสำรวจยังพบว่า?เยาวชน 70% ซื้อบุหรี่แบบแบ่งขาย จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายเพื่อปกป้องเยาวชนอย่างเร่งด่วน" นพ.ประกิต กล่าว


          ด้าน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ไม่ได้ห้ามร้านค้าปลีกหรือโชห่วยขายบุหรี่ และไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้ร้านค้าเหล่านี้ แต่เป็นการกำหนดอายุผู้ที่จะซื้อต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งสอดคล้องกับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี จึงเป็นสิ่งที่ผู้ค้าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ที่สำคัญกำไรของร้านค้าปลีกส่วนใหญ่มาจากสินค้าชนิดอื่น บุหรี่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่ อาทิ การปรับปรุงความหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ เช่น บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และมอระกู่ เป็นต้น กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มจากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี ห้ามขายบุหรี่แบบแบ่งซอง และเพิ่มการห้ามขายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ทางอินเทอร์เน็ต ห้ามแสดงราคาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขาย ในลักษณะจูงใจให้อยากสูบบุหรี่ เป็นต้น


 


 


       ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ


       ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code