ฝ่าวิกฤตการสื่อสาร ในสถานการณ์โควิด-19
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก เสวนาออนไลน์ “ฝ่าวิกฤตการสื่อสาร ในสถานการณ์วิกฤต COVID-19” และหนังสือจับตาทิศทางสุขภาพคนไทยปี 2563
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และแฟ้มภาพ
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ่งหนึ่งที่กลายเป็นปัญหาสำคัญ จนทำให้เกิดปัญหาด้านอื่นๆ ตามมา คือ วิกฤตการสื่อสาร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และป้องกันไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก ความสับสน
การสื่อสาร ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในช่วงภาวะวิกฤตเช่นนี้ “เรา” ในฐานะพลเมือง จะมีวิธีรับข้อมูล และส่งต่อข่าวสารอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์มากที่สุด
รศ.จุมพล รอดคำดี นักวิชาการอาวุโส สถาบันกันตนา และอดีตคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤติ เป็นการสื่อสารในภาวะไม่ปกติ เราจึงต้องทำการสื่อสาร โดยให้ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงอย่างรวดเร็ว ตรงไปตรงมา มีประโยชน์ มีบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และน่าเชื่อถือ เป็นคนให้ข้อมูล เนื่องจากในภาวะวิกฤติ ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากปล่อยให้การสื่อสารถูกทิ้งช่วงนานเกินไป ก็จะทำให้เกิดช่องว่างทางการสื่อสารตามมาในที่สุด
แนวทางการจัดการสื่อสารในภาวะวิกฤติ
1. สร้างการมีส่วนร่วมในการสื่อสาร สื่อสารด้วยความเข้าใจ โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
2. ผลิตสื่อในรูปแบบที่ชัดเจน เข้าใจง่าย เข้าถึงกลุ่มคนทุกช่วงวัย
3. สื่อสารข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผล
4. สื่อสารด้วยความรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ เพื่อลดช่องว่างในการสื่อสาร
5. ปรับรูปแบบการสื่อสารให้เข้ากับลักษณะของพื้นที่ หรือชุมชน
สถานการณ์ของโรคระบาดที่แพร่กระจายไปพร้อมกับข้อมูลข่าวสารในตอนนี้ คือ การมีข้อมูลจำนวนมาก และแข่งกันทำเวลาในการเผยแพร่ จนทำให้ขาดการตรวจสอบความถูกต้อง น่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นๆ นอกจากนี้ การรับข้อมูลในโซเชียลมีเดีย จะทำให้การรับข้อมูลของเราแคบลง เพราะระบบคัดกรองจะคัดกรองเฉพาะเนื้อหา หรือข้อมูลที่เราให้ความสนใจหรืออยากได้ยิน ซึ่งส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำเสนอโดยสอดแทรกความคิดเห็นมากกว่าที่จะเป็นข้อเท็จจริง การตรวจสอบข้อมูลข่าวสารให้ถูกต้องก่อนทำการเผยแพร่หรือส่งต่อ จะช่วยลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในสังคมได้
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพ่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) กล่าวว่า ความรอบรู้หรือรู้เท่าทันสื่อนั้น จะต้องทำให้ครอบคลุมทั้ง 3 ส่วน คือ ตัวสื่อ ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล ในส่วนของตัวสื่อ เราควรเลือกรับสื่อจากหลากหลายช่องทาง หรือหลายรูปแบบ เพื่อเปรียบเทียบความถูกต้องของข้อมูล ลักษณะการนำเสนอว่าเป็นไปในทางสร้างสรรค์หรือไม่และเลือกเชื่อถือจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
"ในส่วนของข้อมูล จะต้องตรวจสอบข้อมูลว่ามีแหล่งที่มาจากที่ใด ใครเป็นบุคคลอ้างอิงหรือคนพูด มีลักษณะเป็นทางการหรือไม่ หากตรวจสอบแหล่งที่มาแล้วพบว่าน่าสงสัย อย่าเพิ่งทำการแชร์หรือส่งต่อ และสุดท้ายในส่วนของการรอบรู้เรื่องข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัล เราจะต้องดูว่าสื่อบนแพลตฟอร์มนั้น มีการคัดกรองข้อมูลก่อนเผยแพร่หรือไม่ มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด และมีประโยชน์ต่อเราหรือไม่" ดร.ธีรารัตน์ กล่าว
การสังเกตข่าวปลอม หรือ Fake News มีเทคนิค 10 ข้อ ดังนี้
1. สงสัยข้อความพาดหัว ข่าวปลอมมักมีข้อความพาดหัวที่ดึงดูดความสนใจโดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด และเครื่องหมายอัศเจรีย์
2. สังเกตที่ URL หาก URL หลอกลวงหรือดูคล้าย อาจเป็นสัญญาณของข่าวปลอมได้ เว็บไซด์ข่าวปลอมจำนวนมากมักเปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง
3. สังเกตแหล่งที่มา ตรวจดูให้แน่ใจว่าเรื่องราวเขียนขึ้นโดยแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ และมีชื่อเสียงด้านความถูกต้อง หากมีเรื่องราวมาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ให้ตรวจสอบที่ส่วน "เกี่ยวกับ" เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม
4. มองหาการจัดรูปแบบที่ไม่ปกติ เว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากมักมีการสะกดผิดหรือวางเลย์เอาต์ไม่ปกติ โปรดอ่านอย่างระมัดระวังหากคุณเห็นสัญญาณเหล่านี้
5. การพิจารณารูปภาพ ข่าวปลอมมักมีรูปภาพหรือวิดีโอที่ไม่เป็นความจริง บางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริงแต่ไม่เกี่ยวกับบริบทของเรื่องราว คุณสามารถค้นหาเพื่อตรวจสอบได้ว่ารูปภาพเหล่านั้นมาจากไหน
6. ตรวจสอบวันที่ เรื่องราวข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุสมผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์
7. ตรวจสอบหลักฐาน ตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียง อาจจะระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม
8. ดูรายงานอื่น ๆ หากไม่มีแหล่งที่มาอื่นๆ ที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมหากมีรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือได้มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง
9. เรื่องราวนี้เป็นเรื่องตลกหรือไม่ บางครั้งอาจแยกข่าวปลอมจากเรื่องตลกหรือการล้อเลียนได้ยาก ตรวจสอบดูว่าแหล่งที่มาของข่าวขึ้นชื่อเรื่องการล้อเลียนหรือไม่ และรายละเอียดตลอดจนน้ำเสียงของข่าวฟังดูเป็นเรื่องตลกหรือไม่
10. เรื่องราวบางเรื่องอาจตั้งใจเป็นข่าวปลอม ใช้วิจารณญาณเพื่อคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่คุณอ่าน และแชร์เฉพาะข่าวที่คุณแน่ใจว่าเชื่อถือได้เท่านั้น
สสส. มีเป้าหมายในการพัฒนา "คน" ทุกวัยสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล ที่ตื่นรู้ มีทักษะเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจด้านการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล เกิดภูมิคุ้มกันต่อปัญหาข่าวลวง และพัฒนาให้คนไทยก้าวสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัล
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สสส.ใช้ศักยภาพในด้านการสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อสังคม โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาแนวทางการสื่อสารร่วมกันภายใต้ #ไทยรู้สู้โควิด เพื่อสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องในการปฏิบัติตัวและช่วยกันยกระดับสู้โควิด-19 โดยสามารถติดตามข้อมูลได้ที่…www.thaihealth.or.th/ไทยรู้สู้โควิด
ในช่วงเวลานี้ทำให้ เราเห็นภาพความสำคัญแห่ง “พลังการสื่อสาร” ชัดเจนมากขึ้น ว่าการสื่อสารนั้นสามารถส่งต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งเป็นโทษได้มากเพียงใด ในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง เราต่างคาดหวังและต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ชัดเจน โดยเฉพาะในยามวิกฤติเช่นนี้ ดังนั้น ในยุคที่ใครๆ ต่างก็เป็นสื่อได้ เราจึงควรร่วมมือกันทำหน้าที่เผยแพร่และส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้อง มีประโยชน์ ไม่สร้างความเข้าใจผิด หรือความตื่นตระหนกให้กับสังคม ตรวจสอบข้อมูลทุกครั้งก่อนทำการแชร์หรือส่งต่อออกสู่สังคมภายนอก เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเราได้เป็นส่วนเล็กๆในการช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ง่ายขึ้น