สานเสริมนวัตกรรม สร้างสุขภาวะยั่งยืน ลดเหลื่อมล้ำไร้รอยต่อ

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : พิธีปิด โครงการพัฒนารูปแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ “HealthTech X สุขล้ำ ไม่เหลื่อมล้ำ” ณ SiamScape ชั้น 9

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

 

                    ปัจจุบัน ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตวิถีใหม่ เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกช่วยประชาชน ทั้งการเข้าถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพเพื่อสร้างความตระหนัก และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต ถึงกระนั้นก็ตามการได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลยังมีข้อจำกัดอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ผู้สูงอายุ เด็ก เยาวชน และคนพิการ…

                    สืบเนื่องจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สานพลังความร่วมมือกับ บริษัท ซีนเนอร์ยี่ อินโนเวชั่น จำกัด (SYNHUB) เป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือภายใต้โครงการ “HEALTHTECH X สุขล้ำ ไม่เหลื่อมล้ำ” โดยดำเนินการพัฒนารูปแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ  และยกระดับนักพัฒนามาตั้งแต่ปี 2565 กระทั่งนำไปสู่การจัดแสดงผลงานนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ได้ผ่านการคัดเลือก ณ Siam Scape ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านสยามสแควร์กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5-6 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

                    “นวัตกรรมสุขภาพที่ผ่านการคัดเลือกครั้งนี้ ล้วนได้รับการทดสอบการใช้งานได้จริง และมีโอกาสต่อยอดขยายผลทั้งในไทยและต่างประเทศจากนักลงทุน หน่วยงาน รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจจะให้การสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงการสร้างเสริมสุขภาพอย่างสะดวก นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สิ่งสำคัญของโครงการ คือ นวัตกรจะต้องไม่หยุดพัฒนาตนเองในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคม”

                    เป็นคำกล่าวของ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 6 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จาก พิธีปิดโครงการพัฒนารูปแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ “HealthTech X สุขล้ำ ไม่เหลื่อมล้ำ”

                    สอดรับจาก น.ส.รัศมี สืบชมภู ผู้จัดการโครงการ HealthTecH X และ CEO Synhub กล่าวว่า “Synhub” เป็นศูนย์บ่มเพาะกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ  และการพัฒนาเป็นธุรกิจ SMEs ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์นวัตกรรมและต่อยอดธุรกิจให้เกิดขึ้นจริงแบบก้าวกระโดด มั่นใจว่า โครงการฯสามารถขับเคลื่อนประเทศทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านการทำธุรกิจที่ยั่งยืน

                    ดังนั้น นวัตกรรมสุขภาพที่นำมาแสดงครั้งนี้ ล้วนผ่านการคัดเลือกจากทั้งหมด 105 ทีม สู่การคัดกรองเบื้องต้น 76 ทีม และผ่านการนำเสนอผลงาน  23 ทีม แบ่งตามประเภทเทคโนโลยี ดังนี้

                    “…ประเภทแอปพลิเคชัน 11 ทีม, เทคโนโลยี AI 5 ทีม, อุปกรณ์อัจฉริยะ หรือ อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoTs) 5 ทีม และ การวิเคราะห์ข้อมูล 2 ทีม ซึ่งแต่ละทีมจะมีโค้ช ที่ปรึกษาเป็นพี่เลี้ยงช่วยยกระดับศักยภาพ ร่วมทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม การแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมต่อยอดในเชิงพาณิชย์และสังคมต่อไป” น.ส.รัศมี กล่าว

                    การสานพลังได้นำไปสู่พันธกิจในการสร้างเสริมความเข้มแข็ง สุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. กล่าวชื่นชมกลุ่มคนรุ่นใหม่ ว่า… ทุกคนเป็นกำลังสำคัญในการริเริ่ม ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่ง สสส.ได้เปิดโอกาสให้เข้ามาร่วมพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น โดยมีทีมโค้ชและที่ปรึกษาจาก Synhub ร่วมกระบวนการจนเกิดเป็นชิ้นงานนวัตกรรมให้ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์”

                    “อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ สสส. ยังคงเดินหน้าสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ผ่านโครงการ Prime Minister ‘s Award 2023 สานพลังคนรุ่นใหม่พัฒนานวัตกรรมสร้างสังคมสุขภาวะอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การขยายผลและช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพให้กับสังคมต่อไปนางเข็มเพชร กล่าว

 

                    เรามาดูถึงตัวอย่างความสำเร็จของโครงการ HealthTecH X ที่นำมาแสดง ซึ่งได้รับการต่อยอดเป็นธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ สู่นวัตกรรมสุขภาพที่เข้าถึงง่ายใน 6 นวัตกรรม ดังนี้

                    1. เครื่องวัดสัญญาณชีพอัจฉริยะ สำหรับกลุ่มคนเปราะบาง จากทีม Bederly ที่สามารถติดตามสภาวะสุขภาพ และประมวลผลในการดูแลสุขภาพสำหรับกลุ่มคนเปราะบางให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ช่วยลดเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังสถานบริการสาธารณสุขที่ห่างไกล

                    2. ที่คาดหัวอัจฉริยะ จากทีม IFlow สามารถวัดประเมินและพัฒนาสภาวะจิตใจของผู้สูงอายุ ช่วยลดการเกิดโรคทางจิตเวช และทำให้ผู้ใช้งานมีสมาธิในการดำรงชีวิตมากขึ้น

                    3. แอปพลิเคชั่นปรึกษาเรื่องสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ จากทีม Dr. ASA สุดเรียบง่ายเพื่อต้องการให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น เข้าถึงการดูแลสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม เข้าใจสุขภาพของตนเองได้ง่าย ๆ เสมือนมีหมอประจำตัว เพื่อช่วยป้องกันโรคในอนาคต

                    4. ไม้เท้ากตัญญู รู้คุณ รู้ใจ อุปกรณ์ช่วยเดินอัจฉริยะ จากทีม Techcare อุปกรณ์ช่วยเดินที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น มีอิสระ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของลูกหลานอีกต่อไป ซึ่งเป็นประเภทอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุ

                    5. แอปพลิเคชัน และ Art box เสริมสร้างสมาธิช่วยป้องกันเด็กสมาธิสั้น จากทีม Boxivity  เป้าหมาย คือ การส่งเสริมพัฒนาการสมาธิเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กสมาธิสั้น ที่สามารถช่วยให้เด็ก ๆ ใช้ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

                    6. Buddy to Go ไม้เท้าเซ็นเซอร์ตรวจจับสิ่งกีดขวาง ประเภท AI จากทีม Golden Ticket ตัวช่วยด้านการเดินทาง ลดการเกิดอุบัติเหตุของผู้พิการทางสายตา ให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย และสามารถพึ่งพาตนเองได้ 

                    สสส. เล็งเห็นถึงเป้าประสงค์สำคัญในการสร้างสุขภาวะดีที่ยั่งยืน ซึ่งมีส่วนที่สำคัญที่สุดคือเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตเป็นต้นกล้านวัตกรผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดีสู่สังคมโลกในกาลข้างหน้า เราจึงสานพลังสร้างคนคุณภาพ สร้างความรู้ที่ดีเพื่อสรรค์สร้างโลกให้มีความน่าอยู่ต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code