ฝูงชนชั่วพริบตา กลยุทธ์สื่อสาร ‘นมแม่’ ดีที่หนึ่ง
ทุกวันที่ 1-7 หรือสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมของทุกปี เป็นวันที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือสัปดาห์นมแม่โลก World Breastfeeding Week (WBW) ทั่วโลกต่างยอมรับว่า ในน้ำนมแม่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกอย่างครบถ้วน และมีภูมิป้องกัน
ขณะที่ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายพ่อแม่อาสา และเครือข่ายแม่ออนไลน์จาก เฟซบุ๊ก จัดแคมเปญรณรงค์สนับสนุน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในปีนี้หันมาใช้กลยุทธ์ “Flash Mob” หรือ“ฝูงชนชั่วพริบตา” เป็นการเดินขบวนรณรงค์สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งที่จัดขึ้นตลอดถนนสีลม และซอยละลายทรัพย์ และ ด้านหน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน
โดยกิจกรรมทั้งสองครั้งมีเป้าหมายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการรณรงค์ให้คุณแม่มือใหม่ คุณแม่ที่เป็นสาวออฟฟิศได้หันมาให้นมแม่เพียงอย่างเดียวใน 6 เดือนแรกโดยมีหัวขบวนใหญ่ของการรณรงค์ในครั้งนี้ ได้แก่ พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และ พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเหล่าคุณพ่อคุณแม่อาสา
พญ.ยุพยง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ปีละ 8 แสนคน แต่ผลสำรวจในปี 2551 กลับพบว่า มีเด็กที่ดื่มนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือนขึ้นไป เพียง 5% หรือราว 4 หมื่นคนเท่านั้น ซึ่งจัดอยู่ใน 10 อันดับท้ายสุดของโลก โดยสาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากนมผงและการโฆษณาอย่างเข้มข้นที่เข้ามาแย่งนมแม่ไปจากทารก เพราะมีส่วนทำให้แม่ส่วนใหญ่สับสนกับความจริงที่ชัดเจนแล้วว่า “นมแม่” มีสารอาหารและคุณประโยชน์มหาศาลที่จำเป็นต่อทารก ซึ่งนมผงไม่สามารถเทียบได้เลย
“ในเด็กที่กินนมแม่ มักไม่ป่วยบ่อย ไม่ค่อยเป็นโรคภูมิแพ้ ที่สำคัญไม่มีนมใด ๆ มาทดแทนหรือสร้างความรู้สึกที่ดีให้ลูกได้มากเท่ากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงควรให้ลูกได้รับนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และให้นมแม่ร่วมกับอาหารอื่นตามวัยจนถึงอายุ 2 ขวบ ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองที่ดี มีแนวโน้มที่เด็กจะฉลาดมากกว่าเด็กที่กินนมผง” พญ.ยุพยง กล่าว
ด้านนายสง่า ดามาพงษ์ ประธานคณะกรรมการสื่อสารนมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการรณรงค์สนับสนุนให้คุณแม่มือใหม่หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น เพราะนมแม่เพียงอย่างเดียวมีสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอต่อการเลี้ยงดูลูกไปจนถึง 6 เดือน ซึ่งคุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้ลูกกินนมผง นมทดแทน อาหารเสริมนม แม้กระทั่งน้ำเปล่า เพราะในนมแม่มีส่วนประกอบของน้ำอยู่แล้วถึง 87% และมีสารอาหารครบถ้วนอยู่แล้ว 100 %
ทั้งนี้องค์ประกอบสำคัญในการให้เด็กได้กินนมแม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ทำงานในออฟฟิศ องค์กร หน่วยงาน ภาคเอกชน ต้องให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดสถานที่หรือในลักษณะของเดย์แคร์เป็นมุมให้แม่ได้แบ่งช่วงเวลามาให้นมลูก มาอยู่กับลูก เป็นการสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูก และสนับสนุนให้ผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถลาคลอดบุตรได้ 3 เดือนโดยได้รับค่าตอบแทน พร้อมทั้งผลักดัน พ.ร.บ. สนับสนุนให้คุณพ่อลางานมาช่วยภรรยาเลี้ยงลูกได้หลังคลอด 15 วัน
ลองมาฟังความเห็นของคุณพ่อ ธีรพงศ์ ผลวิวัฒน์ ในฐานะแกนนำพ่อแม่อาสาและที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ซึ่งได้มาร่วมขบวน Flash Mob สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กล่าวว่า ตอนนี้ ตนมีลูก 2 คน มีความแตกต่างกันอย่างมากกับลูกคนที่สองที่สามารถกินนมแม่ได้นานถึง 1 ปีครึ่ง ทำให้เป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง ผิดกับลูกคนโตที่เป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เล็กตนอยากให้คุณพ่อทุกคนเลิกคิดว่าหน้าที่ในการเลี้ยงลูกเป็นของคุณแม่
“ประโยชน์ของนมแม่ยังเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด เพราะลูกเตยแทบไม่เคยไม่สบายเลย เพราะฉะนั้นเตยกล้าพูดได้เลยว่า ไม่มีนมชนิดใดในโลกที่จะแสนวิเศษเท่านมแม่อีกแล้ว” นางวินรัตน์ ศันสนะเกียรติ ดีเจชื่อดังจากคลื่น Get 102.5เมกะเฮิรตซ์ ยืนยันประสิทธิผลของนมแม่
อย่างไรก็ตาม “เครือข่ายแม่ออนไลน์ ได้สำรวจความเห็นของสมาชิกและประชาชนทั่วไป เรื่องการตลาดของผลิตภัณฑ์นมผง ผ่าน http://www.facebook.com/thaibreastfeeding ที่มีการติดตามข้อมูลของเครือข่ายแม่ออนไลน์ มากกว่า 100,000 เพจวิว พบว่า 80-90% ของเครือข่ายแม่ออนไลน์ ได้รับแจกกิฟต์เซตนมผงจากสถานพยาบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และสำนักงานประกันสังคม ที่สำคัญการตลาดนมผงทำโฆษณาอย่างรุนแรงมาก โดยแฝงเข้ามาจัดกิจกรรมอบรมเลี้ยงลูกให้กับ อบต. เทศบาล เก็บข้อมูลของแม่ พอหลังคลอด 3-4 เดือนก็จะโทรศัพท์มาให้ข้อมูลที่บิดเบือนว่า นมแม่เริ่มไม่ค่อยมีสารอาหารแล้ว ควรให้นมผงเสริมด้วย
ด้าน พ.อ.นพ.พจน์ เอมพันธ์ ในฐานะครอบครัวนมแม่ กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมผงนั้นเป็นภาระทางการเงินระยะยาวที่พ่อแม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายนม เดือนละ 2,500 บาทขึ้นไป ครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางจะได้รับผลกระทบมาก
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์