‘ผู้สูงวัย’ฟันเฟืองสำคัญ เศรษฐกิจไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
อีกไม่เกิน 15 ปี ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด ขณะที่คนในวัยทำงานจะลดลงอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่จะตามมา คือ คนวัยทำงานต้องแบกภาระการดูแลครอบครัวมากขึ้น ขณะคนสูงอายุบางส่วนที่ยังแข็งแรงและมีคุณค่าในตัวเองจำเป็นต้องรีไทร์ตามเงื่อนไขอายุการทำงาน นานวันเข้าชีวิตเริ่มเหี่ยวเฉา คุณค่าแห่งชีวิตก็จะเริ่มสูญหายไป ที่น่าเสียดายยิ่งกว่า คือ ผู้สูงวัยเหล่านี้ ยังมีพลังมากพอที่จะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้หมุนไปได้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เชื่อใน พลังของคนกลุ่มนี้ จึงลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบาย การขยายอายุการจ้างแรงงานผู้สูงวัยในสถานประกอบการร่วมกับภาคเอกชน 12 แห่ง พัฒนาระบบเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่าแนวโน้มโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีอัตราการเกิดน้อยลง ส่งผลถึงประชากรวัยแรงงานให้มีจำนวนน้อยตามไปด้วย ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุกลับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ก็จะมีโอกาสส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ชะลอตัวลงได้ การสร้างโอกาสและการขยายการจ้างแรงงานสูงวัยในสถานประกอบการจึงเป็นแนวทางที่จะนำมา รองรับ และแก้ไขปัญหานี้
ด้าน พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัย และพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า ผู้สูงวัยในปัจจุบันยังคงมีศักยภาพที่จะอยู่ในตลาดแรงงาน และสามารถช่วยลดภาระพึ่งพิงที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้มีการจ้างแรงงานในระบบให้ยืนยาว ถึงอายุ 60 ปี หรือมากกว่านั้น จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะภาครัฐและเอกชน จะต้องประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนทั้งในระดับชาติและระดับปฏิบัติการ
ขณะที่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์อย่าง กลุ่มไทยรุ่ง ยูเนียนคาร์ ก็ตระหนักดีถึงศักยภาพของคนกลุ่มนี้ โดยแม้ว่าบริษัท ยังใช้เกณฑ์เกษียณอายุเดิมคือ อายุ 55 ปี แต่กำลังพิจารณาเพื่อ ปรับขยายการจ้างงานกลุ่มดังกล่าวเพิ่มเติมขึ้นด้วย "เราเชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นคนที่สั่งสมประสบการณ์และความสามารถไว้มาก ซึ่งการขยายอายุการจ้างแรงงานผู้สูงวัยนี้ มีความยืดหยุ่นทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ส่วนตัวคิดว่า ควรให้ผลตอบแทนแก่ผู้สูงอายุแต่ละคนที่ต่างกันอย่างเหมาะสมกับทักษะความสามารถและความเห็นของทั้ง สองฝ่าย" แก้วใจ เผอิญโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มไทยรุ่ง ยูเนียนคาร์กล่าว
หากสังคมไทยเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงวัย ต่อเวลาการทำงานให้เขาเหล่านั้น ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่สะดุด เพราะคุณค่าและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตการทำงานนั้น เป็นความรู้ที่ ฝังอยู่ในตัวของแต่ละบุคคล
คนสูงวัยจึงไม่ใช่แรงงานไร้ประโยชน์ ทว่าเป็นองค์ความรู้ที่ ทรงคุณค่า ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประเทศ "อัตราการเกิดน้อยลง ส่งผลถึงประชากร วัยแรงงานให้มีจำนวนน้อย ตามไปด้วย"