ผู้จัดการ สสส. รับรางวัลทรงเกียรติ จากองค์การอนามัยโลก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
แฟ้มภาพ
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก และขอความร่วมมือไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากอันตรายจากการสูบบุหรี่นั้นเป็นผลร้ายกับ ตัวผู้สูบและคนรอบข้างอย่างร้ายแรง
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จ ณ ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ทรงเปิดงาน "วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2560" จัดโดย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน
โดยในปี 2560 นี้ ประเด็นการรณรงค์ คือ "บุหรี่ : ตัวร้ายทำลายการพัฒนา" เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ความรุนแรง ภัยคุกคามที่เกิดจากอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพประชาชนของประเทศในด้านสุขภาพ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจของประเทศ พิษภัยจากบุหรี่นั้นทำให้ผู้บริโภคถึงแก่ชีวิต เนื่องจากในควันบุหรี่มีเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด เป็นสารพิษ 250 ชนิด และกว่า 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง อีกทั้งบุหรี่ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายแรง รวมทั้งโรคมะเร็ง โดยผู้สูบบุหรี่จะมีอายุสั้นลงเฉลี่ย 12 ปี และป่วยหนักเป็นเวลา 2 ปี ก่อนเสียชีวิต ซึ่งผลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของประชากรไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2558 พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน นอกจากนี้ยัง พบปัญหาเด็กไทยที่สูบบุหรี่ 7 ใน 10 คน จะเสพติด บุหรี่ไปตลอดชีวิต เพราะฤทธิ์ของนิโคตินในบุหรี่ มีอำนาจเสพติดเทียบเท่าเฮโรอีนซึ่งยากที่ผู้ สูบบุหรี่จะถอนตัวขึ้นและทำให้ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้
ในการนี้ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ได้ประทานรางวัลขององค์การอนามัยโลก หรือเวิร์ล โน โทแบคโค เดย์ อวอร์ด ประจำปี 2560 (World No Tobacco Day Award 2017) ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติระดับนานาชาติ ในการรณรงค์การควบคุมการบริโภคยาสูบ องค์การอนามัยโลกจะมอบให้แก่บุคคลที่อุทิศตนดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
สำหรับผู้ได้รับรางวัลปีนี้ ได้แก่ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเพื่อการดำเนินงาน ควบคุมการบริโภคยาสูบ การสร้างสุขภาวะที่ดี รวมถึงลดปัจจัยเสี่ยงหลังจากโรคที่เกิดจากการเสพยาสูบ โดยการขับเคลื่อนรณรงค์ลดการบริโภคยาสูบยาวนานกว่า 10 ปี ซึ่งผลจากการทำงานอย่างเข้มข้น ส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยลดลงจากร้อยละ 25.7 ในปี 2544 อยู่ที่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ในปี 2558 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทยที่อัตราการ สูบหรี่ลดลงในระดับนี้ นอกจากนี้ ยังได้นำแนวทางการทำงานควบคุมยาสูบมาปรับใช้กับการจัดการปัญหาปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพด้านอื่นๆ ด้วย
"รางวัลที่ได้รับจากองค์การอนามัยโลก สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ผมได้ทำงานควบคุมยาสูบและปัจจัยเสี่ยงสุขภาพต่างๆ ภายใต้ การทำงานของ สสส. ซึ่งสนับสนุนให้เกิดกระบวนการควบคุมยาสูบในประเทศไทยที่ เข้มแข็งขึ้น โดยสนับสนุนภาคีเครือข่ายในด้านต่างๆ เช่น ด้านนโยบาย โดยสนับสนุนการพัฒนานโยบายตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบ แห่งชาติ ด้านสังคม โดยการสร้างเครือข่ายการดำเนินงาน ควบคุมการบริโภคยาสูบ เพื่อลดปัญหาและป้องกันผลกระทบจากบุหรี่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และด้านวิชาการ โดยการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้การควบคุมการบริโภคยาสูบ จากระดับองค์กรสู่ชุมชน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ยังได้ประสานงานเครือข่ายต่างๆ ทำให้แผนควบคุมยาสูบแห่งชาติเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งคือการขยายงานในรูปแบบการสื่อสารรณรงค์ ส่งเสริมการทำงานในระดับพื้นที่ให้เข้มข้นขึ้นด้วย" ดร.สุปรีดา กล่าว ที่สำคัญ สสส. ประเทศไทยยังเป็นต้นแบบ ในกระบวนการเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) จากภาษีสรรพสามิตยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีเพิ่มจากระบบภาษีสรรพสามิตปกติ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก ได้แนะนำประเทศต่างๆ ให้มีรูปแบบกลไกการเก็บภาษีในลักษณะนี้ สสส. ประเทศไทย จึงเป็นที่เผยแพร่และเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของหลายๆ องค์กรในระดับโลก
สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนงานด้าน การควบคุมการบริโภคยาสูบนั้น ดร.สุปรีดากล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมา คิดว่า สสส. เดินมาถูกทางในการเดินหน้ารณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้เอง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 จะเป็นกลไกในการดูแลเด็กและเยาวชนและควบคุมการบริโภคยาสูบได้ดีขึ้น หลายๆ ปีที่ผ่านมา สสส. รณรงค์ให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทัน ถึงโทษและพิษภัยของบุหรี่ พุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่ม Gen z หรือ Generation Z ที่อายุระหว่าง 7-20 ปี ซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดบุหรี่โดยตรง ด้วยเครื่องมือของ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 นี้เอง จะทำให้ สสส. และภาคีเครือข่าย ทำงานอย่างเข้มข้นขึ้นมาก
ทั้งหมดนี้ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมปลอดบุหรี่