ผลักดัน ‘การเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ’
ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
ผลักดัน “การเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ” ปลดล็อกความขัดแย้งของบุคลากรระบบสุขภาพ มุ่งทำงานเป็นทีมรักษา “คนไข้” แบบองค์รวม ชูเป้าหมายสุขภาพคนไทยต้องดีขึ้น
เดินหน้ากันอย่างต่อเนื่องสำหรับความพยายามของ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (ศสช.) โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนในการสร้างบัณฑิตในระบบสุขภาพในอนาคตที่ตอบโจทย์สังคม ด้วยการส่งเสริมการเรียนการสอนแบบเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) เพื่อเปลี่ยนจิตสำนึกของบุคลากรสุขภาพให้เข้าใจในความทุกข์ยากของผู้อื่น มีความรักความผูกพันและ ความเป็นหมอ” ของประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยให้นักศึกษาลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และข้อจำกัดต่างๆของประชาชน และทำให้บุคลากระบบสุขภาพเหล่านี้เข้าใจ “คนไข้” สามารถเชื่อมโยงทฤษฎีและนำไปสู่การปฏิบัติงานได้จริงและมีความเข้าใจปัญหาระบบสุขภาพของประเทศ
ที่ผ่านมาศสช. ได้พยายามที่จะปักหมุดมหาวิทยาลัยต้นแบบ ที่ส่งเสริมการเรียนการสอนแบบ Transformative Learning ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ อาทิ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ภาคเหนือ ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ศสช.ได้ปักหมุดการเรียนรู้ดังสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ที่ภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) โดยการจัดงาน เชื่อมสถาบันสานเครือข่ายการขับเคลื่อนระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System DHS) สู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมเปิดตัวหลักสูตรผลิตแพทย์และบุคลากรสุขภาพแนวใหม่ ดึงนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ “สหวิชาชีพ” (Interprofessional Education : IPE) มาความเข้มแข็งให้หลักสูตร “แพทย์ 7 ดาว” (7 Star Doctor) ของมหาวิทยาลัยด้วย
โดยหลักสูตรสหวิชาชีพนั้นเป็นการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาด้านสุขภาพและสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชศาสตร์ สหเวชศาสตร์ กายภาพบำบัด ฯลฯ ได้เรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียน เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีและลดปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างวิชาชีพเมื่อต้องปฏิบัติงานจริง มีการทำงานเป็นทีม โดยเมื่อมีการนำหลักสูตรสหวิชาชีพ มาเสริมหลักสูตรแพทย์ 7 ดาว จะเป็นกลไลสำคัญในการผลิตบัณฑิตแพทย์และบัณฑิตด้านสุขภาพ ให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะสอดรับกับความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสังคมไทยในอนาคตและมีคุณลักษณะและสมรรถนะสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข
ทั้งนี้หลักสูตรผลิตแพทย์ 7 ดาว ที่ มน. ได้มีการขับเคลื่อนตั้งแต่การก่อตั้งคณะแพทย์ศาสตร์ มีลักษณะดังต่อไปนี้ 1.Care Provider การแก้ไขปัญหาสุขภาพโดยการประยุกต์วิทยาศาสตร์การแพทย์แบบทักษะองค์รวม มาสร้างเสริมสุขภาพของผู้ป่วย 2.Decision Maker ตัดสินใจอย่างเป็นระบบ และเก็บเป็น ข้อมูล 3.Community Leader เป็นผู้จัดการและผู้นำชุมชนด้านสุขภาพ และทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นในการแก้ไขปัญหาสุขภาพได้ 4.Life Long Learner แสวงหาความรู้ใหม่และศึกษาด้วยตนเองตลอดชีวิต 5.Manager บริหารจัดการตนเองและกิจกรรมหน้าที่ของตนเองด้วยความรับผิดชอบ 6.Communicator ใช้สื่อภาพ สัญลักษณ์ และทักษะทางภาษา เพื่อสื่อสารอย่างได้ผล 7.Humanistic doctor มีเจตคติที่ดีและปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักเวชจริยศาสตร์และกฎหมาย และสามารถดำรงตนในฐานะแพทย์และสมาชิกในสังคมได้อย่างเหมาะสม
รวมพลังสหวิชาชีพรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ ประธานคณะอนุกรรมการการศึกษาวิชาชีพสุขภาพแบบสหวิชา กล่าวว่า บทเรียนสหวิชาชีพที่ ศสช.ได้จัดทำนั้นสามารถนำไปพิจารณาใช้จัดการเรียนการสอน เป็นกิจกรรมใหม่ในรายวิชาที่ปัจจุบันเปิดสอนอยู่แล้ว หรือนำสามารถนำมาเป็นวิชาเลือกได้ ทั้งนี้เพื่อหวังให้นักศึกษาในอนาคตได้มีทักษะความรู้ความสามารถด้านสหวิชาชีพได้เรียนรู้จากกันและกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อนิสิตนักศึกษาได้สำเร็จการศึกษาออกไปประกอบวิชาชีพ จะสามารถปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพร่วมกันเป็นทีมสุขภาพที่แข็งแกร่ง มีเป้าหมายเพื่อให้สุขภาพคนไทยดีขึ้น สามารถก้าวข้ามความซับซ้อนและการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็วได้
“การเปลี่ยนแปลงทั้งทางภูมิอากาศสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจและเทคโนโลยีวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่และคนที่มีอายุยืนมากขึ้น ซึ่งรวมกันเป็นปัญหาใหญ่มากเกินกว่าผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพสาขาใดสาขาหนึ่ง จะสามารถต่อสู้จัดการเพื่อการแก้ไขหรือตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพ (Health Needs) ได้ เพราะฉะนั้นการรวมพลังแบบสหวิชาชีพจึงเป็นแนวทางที่สำคัญ และเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเตรียมผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขด้วยการจัดการศึกษาแนวใหม่การจัดการศึกษาแบบสหวิชาชีพต้องเกิดชึ้นให้ทันการณ์ทันกับโลคยุคนี้และยุคหน้า” ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สุวัฒน์ กล่าว
หวังแพทย์เลิกสั่งแบบ Top-Down ป้องกันการฟ้องร้องหมอ-คนไข้
รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า บัณฑิตแพทย์ที่จบไป หลักๆมีความสามารถในการตรวจรักษา แต่สื่อสารไม่ค่อยเป็น ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ค่อยได้ ซึ่งหากคนที่มาเป็นหมอไม่สามารถสื่อสารกับคนไข้ได้ ไม่สามารถทำงานร่วมกับทีมเวิร์กได้ ทุกอย่างก็จบ ซึ่งหลักการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ จะเข้ามาช่วยเสริมในจุดนี้ ที่สำคัญยังส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วย ที่บุคลากรด้านสุขภาพจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีทำงานร่วมกันเพื่อการรักษาอย่างดีที่สุด
“การเรียนแบบนี้จะต่างจากเดิมที่เป็นคำสั่งแบบTop-Downแพทย์สั่งมาอย่างไรก็ต้องทำไปแบบนั้นทั้งที่รู้ว่าผิดก็มี และเกิดเป็นกรณีฟ้องร้องเป็นคดีความระหว่างวิชาชีพ หรือฟ้องร้องระหว่างบุคลากรสุขภาพกับคนไข้ ซึ่งเคสดังกล่าวมีจำนวนมากในแต่ละปี และพบว่ามีอัตราเพิ่มมากขึ้นทุกปี” คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ได้มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สหวิชาชีพ เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้บุคลากรและนักศึกษาระบบสุขภาพได้ทำความคุ้นเคย โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักสูตรและทดลองใช้ คาดกว่าจะเปิดใช้จริงในปี 2562
หนุนเรียนร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาการทำงานเหมือนอยู่ในสนามรบ?
ขณะที่ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการสร้างกลไกระบบเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ ((District Health System:DHS) กล่าวว่า การเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ ตั้งแต่ตอนเรียนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก เพราะจะทำให้การทำงานร่วมกันของบุคคลากรด้านสุขภาพมีความราบรื่น เนื่องจากในชีวิตจริงแพทย์กับพยาบาลทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องมีสหวิชาชีพหลายๆ ฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือกัน การเรียนรู้กันและกันว่าหน้าที่ของแต่ละคนคืออะไร และจะทำอย่างไรให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ไม่ซับซ้อน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้
“ถ้าตอนเรียนแยกกันโดยสิ้นเชิงในแบบต่างคนต่างเรียนต่างคนต่างสอน เพื่อหวังว่าเมื่อจบแล้วจะมาทำงานด้วยกันได้นั้น เอาเข้าจริงกลับเป็นเสมือนสนามรบ เพราะต่างคนต่างทำงานของตัวเองไม่เข้าใจบริบทของกันและกัน และกลายเป็นการรักษาแบบลองถูกลองผิด ซึ่งสุดท้ายผลเสียก็ตกอยู่ที่คนไข้ ดังนั้นการเรียนรู้ร่วมกันแบบสหวิชาชีพ จึงสำคัญมากและสามารถสร้างระบบเครือข่ายสุขภาพให้มีความเข้มแข็งได้ ” นพ.อภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลอุบลรัตน์ได้เริ่มทำโครงการนี้แล้ว โดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะทำงานและเรียนรู้ ไปพร้อมกับกลุ่มสหวิชาชีพด้านสุขภาพ อย่าง พยาบาล เภสัชกร รวมถึงนักศึกษาแพทย์ ซึ่งพื้นที่การเรียนรู้มีทั้งในโรงพยาบาลและลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลอื่นๆที่เริ่มเดินหน้านำแนวคิดสหวิชาชีพ ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน เช่น โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลละงู จ.สตูล และโรงพยาบาลสารภี จ.เชียงใหม่
วาง 4 เป้าหมาย สร้างสหวิชาชีพระบบสุขภาพ
ด้าน ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะผู้จัดการโครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า การเรียนรู้แบบสหวิชาชีพไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2553-2554 ในชื่อที่แตกต่างกันออกไป แต่ความหมายก็คือการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่สองวิชาชีพ เรียนได้ในทุกสถานการณ์ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต “Learn as if you will live forever” ซึ่งตอนนี้หลายฝ่ายให้ความสนใจมากขึ้น เพราะองค์กรด้านสุขภาพหลายแห่งปฏิบัติแล้วเห็นประสิทธิผล โดยศสช. ได้เขียนบทเรียนการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ สำหรับแต่ละวิชาชีพไว้เป็นแนวทางเสร็จแล้วในหลายเรื่อง ซึ่งองค์กรที่สนใจโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ทันที
“เป้าหมายของการเรียนการสอนแบบสหวิชาชีพคือเพื่อให้เกิด1.การเรียนรู้ว่าแต่ละวิชาชีพมีบทบาท ความรับผิดชอบอะไร (Role, Responsibility, Respect) 2.รู้จักภาวะความเป็นผู้นำ (Leadership) 3. การทำงานเป็นทีมอย่างเข้าใจกันและกัน (Teamwork) และ 4.การเรียนสอนสะท้อนย้อนคิด (Learning & Reflection) ทั้งนี้ในอนาคตตั้งเป้าให้คณะและสาขาวิชาชีพอื่นๆ นอกจากด้านสุขภาพ เข้าร่วมเรียนในลักษณะนี้ด้วย เพราะคนหนึ่งคนหนึ่งที่จะมีสุขภาวะที่ดีนั้น ไม่ได้หยุดแค่มิติของสุขภาพอีกต่อไป ต้องมีมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และจิตใจรวมถึงคนรอบข้างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” ศ.พญ.วณิชา กล่าว
ทลายกำแพงกั้นระหว่างวิชาชีพ เพราะการสื่อสารสำคัญมาก
นางสาวเจนจิรา อินสัญจร พยาบาลวิชาชีพ รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ข้อดีของการเรียนแบบสหวิชาชีพคือ เราจะได้ฟังคำถามและความเห็นของผู้เรียนคนอื่น ซึ่งบางคำถามทำให้ฉุกคิดได้ว่าเราลืมมองจุดนี้ไป ทั้งนี้การดูแลคนไข้มันไม่ได้มีแค่หมอและพยาบาลเท่านั้นที่สำคัญที่สุด เพราะทุกคนสำคัญหมดจะขาดใครไปไม่ได้ เพราะแต่ละสาขาย่อมมีความเชี่ยวชาญต่างกัน เมื่อได้มาทำงานร่วมกัน คนไข้จะได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะฉะนั้นการส่งเสริมให้การเรียนการสอนแบบสหวิชาชีพจึงเป็นเรื่องที่ดีมาก ก่อนหน้านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สหวิชาชีพจะได้มาทำงานร่วมกัน
“หลังจากได้ผ่านการทำกิจกรรมสหวิชาชีพ ทำให้เรารู้ว่า ทุกวิชาชีพมีข้อจำกัด ดังนั้นเราต้องอาศัยการปรึกษาหารือซึ่งกันและกัน สื่อสารกันให้มากขึ้น ทำให้การดูแลคนไข้หนึ่งคนมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์มันออกมาดีเพราะหลายคนช่วยกัน ทำให้รู้สึกว่านี่คือการดูแลคนไข้แบบองค์รวมที่แท้จริง” นางสาวเจนจิรา กล่าว
ด้านว่าที่คุณหมอ นายเสฎฐวุฒิ ศิษฏิวงศ์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้คือความสำคัญของการสื่อสาร เพราะกิจกรรมนี้ทำให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราถึงไม่สื่อสารกับพี่พยาบาล หรือพี่เภสัชกรในสิ่งที่เราไม่รู้ เช่น เราไม่รู้ว่ายาตัวนี้ผสมกับน้ำเกลือแบบไหน หรือถ้าทุบยาละเอียดจะทำให้ยาเสียคุณสมบัติหรือไม่ ถ้าถามเขาจะสามารถบอกเราได้เลยว่าทำวิธีไหนถึงจะเหมาะกับคนไข้ ซึ่งเป็นเรื่องในทางปฏิบัติที่สามารถใช้ได้จริง เพราะในสมัยก่อนเราอาจจะมีกำแพงที่กั้นระหว่างวิชาชีพ มีขอบเขตที่แบ่งชัดกันไปว่าใครทำอะไร จะไม่ค่อยสื่อสารกัน บางทีหมอมาดูคนไข้เสร็จปุ๊ป เขียนออร์เดอร์ว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง พยาบาลก็ทำตามนั้น แต่จะไม่รู้เหตุผล หรือแผนการรักษาระยะยาว
การเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำความรู้จักกับสหวิชาชีพอื่นๆ แบ่งปันความรู้ ปรับตัวให้เข้ากับการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเราควรจะเปิดใจ ไม่ปิดกั้นคนอื่น ด้วยความเป็นหมอ เราอาจต้องลดทิฐิลงบ้าง บางครั้งเราอาจจะไม่อยากคุย เพราะอยากจะเป็นผู้นำ ทำคนเดียว แต่ที่จริงถ้าเราปรึกษาหารือกัน หนึ่งเราจะได้ความรู้ และสองเราจะได้ช่วยคนไข้ให้ดีขึ้น ดังนั้นคิดว่ากิจกรรม IPE สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง ทำให้เราทำงานได้อย่างราบรื่นขึ้นเพราะมองว่าเราทำงานกันเป็นทีม นายเสฎฐวุฒิ กล่าว