ผนึกกำลัง 9 มรภ.สร้างเด็กไทยให้อ่านออกเขียนได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ผนึกกำลัง 9 มรภ.สร้างเด็กไทยให้อ่านออกเขียนได้ thaihealth


การอ่านถือเป็นการเปิดประตูสู่โลกแห่งการเรียนรู้ที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การอ่านของเด็กเยาวชนไทยยังคงมีปัญหา โดยพบว่า เยาวชนไทยอายุ 15 ปีถึง 83% สอบตกการอ่าน


จากการประเมินผลทักษะการอ่าน โดย PISA ปี 2015 ของเยาวชนอายุ 15 ปี พบว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่สอบตกวิชาการอ่าน โดยมีคะแนนอยู่ในระดับ 2 หรือต่ำกว่าเกณฑ์ถึง 83% นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มคะแนนการอ่านของนักเรียนไทยโดยรวมลดต่ำลง จากปี 2012 ถึง 2015 ลดลงถึง 32 คะแนน อีกทั้งยังพบความเหลื่อมล้ำทางการเรียนรู้จากทักษะการอ่านระหว่างนักเรียนจากพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีคะแนนสูงกว่านักเรียนพื้นที่อื่นๆ โดยห่างจากภาคที่มีคะแนนต่ำสุดคือภาคอีสานตอนล่างมากกว่าครึ่งระดับ หรือเท่ากับการเรียนรู้ที่ต่างกันเกือบหนึ่งปี


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงผนึกกำลังร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย มรภ.อุตรดิตถ์ ลำปาง สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี เลย มหาสารคาม พระนคร ยะลา และพิบูลสงคราม ดำเนินโครงการ "สานพลังเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้และความรอบรู้ด้านสุขภาวะ (Health Literacy)" โดยมีโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายจำนวนกว่า 200 โรงเรียน ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ เพื่อพัฒนานวัตกรรมการอ่านออกเขียนได้และความรอบรู้ทางสุขภาวะให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาในพื้นที่


ผนึกกำลัง 9 มรภ.สร้างเด็กไทยให้อ่านออกเขียนได้ thaihealth


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ทักษะการอ่าน-เขียนของเด็กเป็นบันไดขั้นแรกสู่การเรียนรู้ไม่รู้จบ ช่วยให้แตกฉานความรู้ที่ได้รับไม่ว่าจะในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนอันจะนำไปสู่การรอบรู้ด้านการดูแลสุขภาพที่จะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดี เนื่องจากปัจจุบันคนส่วนใหญ่เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ เบาหวาน ความดัน หัวใจ มะเร็ง ล้วนเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากเด็กยังคงรู้ไม่เท่าทัน ยังเข้าถึงและเข้าใจสื่อทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้น้อย จะส่งผลให้ไม่สามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ดีเท่าที่ควรและบั่นทอนคุณภาพชีวิตในอนาคต


ผนึกกำลัง 9 มรภ.สร้างเด็กไทยให้อ่านออกเขียนได้ thaihealth


นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า เป้าหมายความร่วมมือในครั้งนี้คือการพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะ (Health Literacy) ผ่านการเพิ่มขีดความสามารถด้านการอ่าน-เขียนที่นักเรียนประถมศึกษาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาสื่อนวัตกรรมที่เป็นกลไกส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาวะ เพื่อให้เด็กอ่านออก-เขียนได้ เข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูล จึงบูรณาการร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน โดยดึงความร่วมมือจาก มรภ.ที่เข้มแข็งและโรงเรียนสุขภาวะในเครือข่ายกว่า 200 แห่ง ร่วมผลักดันให้ครอบครัวและชุมชนท้องถิ่นตระหนักและแก้ปัญหาร่วมกัน โดยหวังว่าโครงการนี้จะส่งเสริมให้เด็กนักเรียนในกลุ่มที่มีทักษะน้อยได้พัฒนาทักษะให้อยู่ในเกณฑ์ปกติหรือดีขึ้นกว่าเดิม


ผนึกกำลัง 9 มรภ.สร้างเด็กไทยให้อ่านออกเขียนได้ thaihealth


เมื่อพูดถึงสถานการณ์การเรียนรู้ จ.ยะลา เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่ประสบปัญหา ผศ.ดร.เกสรี ลัดเลีย ผู้ช่วยอธิการบดี มรภ.ยะลา เล่าว่า ที่ผ่านมานักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้รั้ง 3 อันดับสุดท้ายมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการวัดผล O-NET หรือ NT สะท้อนว่านักเรียนยังขาดเครื่องมือในการเรียนรู้ เนื่องจากภาษาหลักที่ใช้สื่อสารเป็นภาษาท้องถิ่นมลายูปัตตานี แต่ภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนเป็นภาษาไทยกลาง ทำให้เด็กส่วนใหญ่อาจมีข้อจำกัดในการเรียนรู้และไม่เข้าใจการสื่อสาร


"ประเด็นเหล่านี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กที่ใช้ภาษาท้องถิ่นได้พัฒนาการเรียนรู้ทั้งการอนุรักษ์ภาษาแม่และภาษากลาง เพราะโครงการนี้ผลักดันให้การอ่านเขียนและการใช้ภาษามิใช่หน้าที่ของครูรายวิชาภาษาไทยแต่เพียงอย่างเดียว ครูทุกรายวิชามีส่วนในการสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ และทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องกับเด็กสามารถร่วมกันพัฒนาทักษะให้ดีขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 23 แห่ง จาก จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส" ผศ.ดร.เกสรีทิ้งท้าย


ผนึกกำลัง 9 มรภ.สร้างเด็กไทยให้อ่านออกเขียนได้ thaihealth


เช่นเดียวกับการนำโจทย์ชุมชนเป็นตัวกระตุ้นความสนใจเรียนรู้ให้กับเด็ก ผศ.ณัฐา วิพลชัย อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มรภ.สุราษฎร์ธานี เล่าว่า ได้รับเสียงสะท้อนจากนักศึกษาในสาขาวิชาที่ลงพื้นที่ปฏิบัติการสอนจริงว่า เด็กส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้ค่อนข้างน้อย ที่ผ่านมาจึงใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาเป็นกลไกในการแก้ไข อย่างวรรณกรรม 'ลำน้ำตาปี' ที่เล่าเรื่องราวท้องถิ่นมาเชื่อมโยงกับปราชญ์ชาวบ้าน มาสอดแทรกจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กได้รู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อว่าการเข้าร่วมโครงการนี้จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด และเกิดการพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ให้ดีขึ้น นำไปสู่การดูแลสุขภาวะและรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ อันเนื่องมาจากความตระหนักและเห็นคุณค่าร่วมกันของท้องถิ่น โดยมี มรภ.สุราษฎร์ธานีเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนทั้งในโรงเรียน จ.ชุมพร และ จ.สุราษฎร์ธานี ทั้งหมด 22 แห่ง


ทั้งนี้ มรภ.ทั้ง 9 แห่งภายใต้การสนับสนุน ของ สสส.มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการให้โรงเรียน เสริมศักยภาพภาคีเครือข่ายให้เกิดกลไกการทำงานในพื้นที่ และบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมหานวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้ของเด็กไทยให้ยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ