ผนึกกำลังเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพฯ เฝ้าระวังสิงห์อมควันหน้าใหม่
ปัจจุบันสังคมออนไลน์ดูจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินการต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่การบริโภคยาสูบ ที่บริษัทบุหรี่ได้นำมาเป็นกลยุทธ์การตลาดในการเจาะเข้าหานักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนวัยรุ่น และกลุ่มผู้หญิง ปัญหาเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ควบคุมยาก
ด้วยเหตุนี้เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จัดเวทีประชุมวิชาการเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ครั้งที่ 1 “บุหรี่กับสุขภาวะ : รวมพลัง สร้างจุดเปลี่ยน” ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยภายในงานยังจัดพิธีมอบรางวัลโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ดีเด่น 21 แห่ง เพื่อกระตุ้นให้สถานพยาบาลให้ความสำคัญในการลดปริมาณการสูบบุหรี่
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บรรยาย “ทศวรรษใหม่แห่งการควบคุมยาสูบ…จะก้าวไปทางไหนดี” ว่า ประเทศไทยถือเป็นอีกประเทศที่มีกฎหมายควบคุมบุหรี่อย่างเข้มข้น ทั้งภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ถือเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่ดำเนินการเรื่องนี้ และได้มีการควบคุมการวางจำหน่ายบุหรี่ตามหน้าร้าน โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งขณะนั้นได้รับการสนับสนุนจากกระแสสังคมมากมายให้นำบุหรี่ออกจากชั้นวางจำหน่าย อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะควบคุมเรื่องนี้อย่างเข้มข้น จากตัวเลขช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า จากสถิติอัตราผู้สูบหน้าใหม่ อายุ 15-24 ปี พบเพิ่มขึ้น จาก 1.6 ล้านคนในปี 2550 เป็น 1.67 ล้านคน ในปี 2552 นับเป็นสัญญาณเตือนว่าจำเป็นต้องมีกลไกการควบคุมรูปแบบใหม่เพื่อช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่
“แม้ภาพรวมการสูบบุหรี่จะลดลง แต่กลับไปเพิ่มในกลุ่มเยาวชนกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับสื่อออนไลน์ เนื่องจากปัจจุบันพบว่าธุรกิจยาสูบมุ่งการทำตลาดผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้นโดยเน้นกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งกลยุทธ์แบบใหม่นี้จะใช้วิธีวัยเดียวกันทำการขายตรงแบบบอกปากต่อปาก บ้างก็มีการสร้างหน้าแฟนเพจในเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งเห็นได้ชัดในกลุ่มธุรกิจเหล้า เปรียบเสมือนเป็นแฟนคลับเหล้าทีเดียว เรื่องนี้น่ากลัวมาก เพราะปัจจุบันไม่มีการควบคุมตรงนี้ และยังมีผลวิจัยจากบริษัทโฆษณาของสหรัฐเมริกาฯ พบว่า อิทธิพลของการซื้อของจากการโฆษณามีเพียงร้อยละ 17 แต่อิทธิพลจากการบอกต่อกันปากต่อปากจะส่งผลให้มีการซื้อสินค้าถึงร้อยละ 70 ข้อมูลตรงนี้เชื่อในอีก 10 ปีข้างหน้า ในกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น และกลุ่มผู้หญิงจะกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ ” ทพ.กฤษดา กล่าว
กลยุทธ์ดังกล่าวจึงเป็นความท้าทายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ต้องมีมาตรการคุมเข้มมากขึ้น ขณะเดียวกันในภาคประชาชนผ่านเครือข่ายต่างๆ จะต้องทำงานเชิงรุก โดยหันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อรู้เท่าทันธุรกิจบุหรี่ ซึ่ง สสส. จะทำหน้าที่ในการสร้างเครือข่ายชุมชนคอยดูแลเพิ่มขึ้น โดยอาจให้เด็กวัยเดียวกันเป็นผู้กระตุ้นให้กลุ่มวัยรุ่นเห็นถึงอันตรายของบุหรี่ ไม่หลงเชื่อธุรกิจยาสูบ เรียกว่าเป็นเพื่อนเตือนเพื่อนนั่นเอง
ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการมอบรางวัลโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ดีเด่นประจำปี 2553 ซึ่งมีทั้งหมด 21 แห่ง พร้อมทั้งได้แสดงตัวอย่างโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ โดย นางชวรัตน์ วันทะนิตย์ ผู้แทน รพ.หนองคาย ให้ข้อมูลว่า รพ.หนองคาย ได้มีการดำเนินการคลินิกปลอดบุหรี่ 100% ตั้งแต่ปี 2542โดยมุ่งไปที่คนไข้จิตเวชที่มารับบริการเนื่องจากพบว่าคนไข้ทุกคนสูบบุหรี่ทั้งหมด ทำให้มีผลต่อการรักษาโรคจิตเวช ดังนั้น ทาง รพ. ได้มีการตรวจคัดกรองผู้ป่วย นอกจากนี้ ได้มีการขยายไปยังกลุ่มผู้ป่วยโรคอื่นๆ เช่น โรคเรื้อรัง ฯลฯ โดยมีการตรวจคัดกรองการสูบบุหรี่ร่วมกับการรักษาโรคไปในตัว
ขณะเดียวกันยังติดป้ายงดสูบบุหรี่ในโรงพยาบาลติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ทั้งหมดและยังร่วมกับสำนักงานประกันสังคม จ.หนองคาย ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ จากการดำเนินการดังกล่าวได้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยปีล่าสุด 2553 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาถึง 242 ราย เป็นต้น
ด้าน นพ.สุเมธ ฉายศิริกุล รพ.สุราษฎร์ธานี เล่าว่า ได้เริ่มโครงการโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ เนื่องจากมีการร้องเรียนของผู้ป่วยและญาติเกี่ยวกับปัญหาการสูบบุหรี่ที่สร้างความรำคาญ และยังทำให้มีผลต่อการรักษาพยาบาล โดยในปี 2550 ได้เริ่มโครงการปลอดบุหรี่ขึ้นโดยเริ่มตั้งแต่พนักงาน เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาล บุคคลใดสูบบุหรี่ต้องทำการรักษา จากนั้นจึงได้มีการขยายไปยังประชาชนต่างๆ ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่โรงพยาบาลเด็ดขาด โดยมีการประกาศก่อนดำเนินการจริง หากฝ่าฝืนจะถือว่าผิดกฎหมายทันที
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากผู้บริหารให้ความสนใจ บุคลากรร่วมมือกัน ดังนั้นความสำเร็จครั้งนี้เนื่องจากความร่วมมือของทุกคน ซึ่งตรงนี้เป็นปัจจัยที่ช่วยให้เกิดความสำเร็จได้ ดังนั้น ในครอบครัวก็สามารถช่วยให้สมาชิกในครอบครัวเลิกสูบบุหรี่ได้เช่นกัน น่ายินดีกับจุดเริ่มของสถานพยาบาลปลอดบุหรี่อย่างแท้จริง
…สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-2298-0500ต่อ 1222
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน