ผนึกกำลังต้านข่าวปลอม หวังผู้ใช้งานสื่อใหม่รู้เท่าทัน
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
ภาพโดย สสส.
8 ภาคีนักวิชาการวิชาชีพ จัดเวทีถอดบทเรียน Fake News 'วสันต์' ชี้สร้างความเสียหายวงกว้าง หวังผู้ใช้งานสื่อใหม่รู้เท่าทัน 'รมว.ดิจิทัลไต้หวัน' ยกโมเดลรัฐต้องแบ่งปันข้อมูลถูกต้องภายใน 60 นาที หากเกิดข่าวลวง
กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่ายด้านสื่อมวลชน คือ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงาน “International Conference on Fake News” ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการร่วมลงนามและประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม ซึ่งได้จัดขึ้นไปเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน “Fake News” หรือข่าวลวง เป็นเรื่องที่สามารถสร้างความเสียหายได้เป็นวงกว้าง และเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งสถานการณ์ของปัญหานี้ มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยการจัดงานครั้งนี้ มีผู้แทนจากประเทศไทยและนานาชาติเข้าร่วมเป็นวิทยากรและร่วมเสวนา เพื่อแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์การรับมือปัญหาข่าวลวงของแต่ละประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนให้สังคมไทยรับมือ กับปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้งานสื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสมัยใหม่ มีทักษะ ในการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ ใช้สื่ออย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์
ด้าน ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล ประเทศไต้หวัน กล่าวว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลปลอม ทำให้พวกเราต้องทำงานเพื่อป้องกันให้ได้ ซึ่งหากทำสำเร็จจะทำให้ภาครัฐไม่ต้องเข้ามาข้องเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเรา ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือไม่ และอาจจะเป็นข่าวลือ แต่จะต้องแก้ไขให้สำเร็จภายใน 60 นาที
“หากพบเห็นข่าวลือข่าวลวง รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงต้องเข้าใจบริบทว่า ทำอย่างไรต้องแก้ข่าวให้ได้ภายใน 60 นาที เพื่อจะบอกได้ว่า เรื่องข้อมูลของภาครัฐจริงเท็จอย่างไร ซึ่งกระบวนการจะเป็นไปในลักษณะการแบ่งปันข้อมูลความคิดเห็นของเราเข้าไปในสื่อสาธารณะ”
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข่าวร่วมกัน ภายใต้ภาคประชาสังคม เรียกว่า CoFacts ในกลุ่มไลน์ ที่มีสมาชิกร่วม 1 แสน มีวิธีการทำงาน บ่อยครั้งข้อมูลต่างๆ ที่เห็น กุข่าวลือขึ้นมา หากมีความรู้สึกต้องส่งต่อข่าวลือนี้ไปที่หุ่นยนต์ (Robot) หากหุ่นยนต์โมโหจะตีข้อมูลกลับมาว่า เป็นข่าวจริงหรือไม่ ซึ่งผู้คนจะมาเจอกันทุกสัปดาห์ โดยเป็นการพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร