ผงะ! การ์ตูนเด็กเกินครึ่งแฝงรุนแรง

ผู้ปกครองเชื่อจัดเรตติ้งทีวีช่วยได้เยอะ

 

 ผงะ! การ์ตูนเด็กเกินครึ่งแฝงรุนแรง

          เผยผลวิจัยความรุนแรงในรายการโทรทัศน์ พบการ์ตูนแฝงความรุนแรงกว่า 55% แถมเด็กยอมรับชอบเลียนแบบเตะต่อยตามตัวละคร ผู้ปกครองเชื่อจัดเรตติ้งทีวีช่วยได้เยอะ สสส. วอนสถานีและผู้ผลิตเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้น

 

          เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552 ผศ.ลักษมี คงลาภ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ความรุนแรงในรายการโทรทัศน์” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าจากการสำรวจรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก 91 รายการ พบว่ามีรายการที่นำเสนอความรุนแรงทั้งสิ้น 50 รายการ หรือว่า 55%

 

          ถือว่ารายการสำหรับเด็กในขณะนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งมีเนื้อหาของความรุนแรงแฝงอยู่ ทั้งการแสดงออกทางวาจาและการกระทำทางร่างกาย โดยเนื้อหาความรุนแรงจะปรากฏอยู่ในรายการการ์ตูนมากที่สุด 83 นาที คิดเป็น 64% ตามด้วยรายการละครสำหรับเด็ก 20 นาที คิดเป็น 15% และรายการสารคดี 11 นาที คิดเป็น 8%

 

          ผศ.ลักษมีกล่าวว่า สำหรับการศึกษาเนื้อหาโฆษณาในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ส่วนใหญ่เป็นโฆษณาสินค้าสำหรับผู้ใหญ่ 61% ส่วนโฆษณาสินค้าสำหรับเด็ก 39% ซึ่งเป็นโฆษณาขนมขบเคี้ยวมากที่สุด และมีการนำเสนอความรุนแรงในภาพยนตร์โฆษณาเช่นกันคิดเป็น 32% ซึ่งเด็กจะได้รับผลเสียอย่างไม่รู้ตัวจากโทรทัศน์สองต่อ คือ ภาวะโรคอ้วนจากการซื้อขนมที่โฆษณาทางโทรทัศน์ และการเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงจากสื่อโฆษณา ซึ่งเป็นสิ่งซึมลึกมากกว่าจะเห็นผลในทันที

 

          “จากที่สนทนากลุ่มเด็กอายุ 6 – 12 ปีและผู้ปกครอง พบว่าโทรทัศน์เป็นสื่อที่เด็กชอบดูกับครอบครัว โดยรายการตลกและรายการผีเป็นสิ่งที่เด็กๆ ชอบส่วนรายการละครจะดูกับคนในบ้านที่เปิดดูอยู่แล้ว ซึ่งเด็กยอมรับว่าเคยเลียนแบบตัวละคร เช่น การเตะต่อย ดึงผม ใช้อาวุธ และเห็นว่าละครหลังข่าวมีความรุนแรงมากที่สุด ส่วนผู้ปกครองเห็นว่า การจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์มีประโยชน์สำหรับผู้ปกครอง เพราะหากเป็นรายการสำหรับเด็กที่มีตัวอักษร “ด” จะให้ลูกโดยไม่ห่วง แต่มีความกังวลในเนื้อหารายการการ์ตูนที่เด็กชื่นชอบ เพราะมักนำเสนอความรุนแรงและบางเรื่องมีความล่อแหลมทางเพศ” อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้นี้กล่าว

 

          ทั้งนี้ ผลวิจัยระบุว่า รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กที่ผู้ปกครองอยากให้มีเพิ่มมากขึ้น คือ รายการให้ความรู้พื้นฐานที่ใช้ในการเรียน ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และให้คติสอนใจ หากเป็นรายการแข่งขันควรสะท้อนถึงความมีน้ำใจ และอยากให้มีรายการการ์ตูนวรรณคดีหรือวรรณกรรมพื้นบ้านของไทยเพิ่มขึ้น

 

          รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ยืนยันสภาพปัญหาของรายการโทรทัศน์ในปัจจุบัน ว่าอยู่ในภาวะไร้กลไกกำกับดูแลด้านเนื้อหา เนื่องจากกรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้มีบทบาทตรวจสอบเนื้อหาแล้ว ที่ผ่านมาจึงเป็นความรับผิดชอบของสถานีและผู้ผลิต

 

          ในขณะที่รายการสำหรับเด็ก โฆษณาในรายการเด็กจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของหลักเกณฑ์ และมีการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้น จึงหวังว่าองค์กรอิสระหรือ กสทช. ภายใต้พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จะเกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อจะได้กรรมการที่ดีมาทำหน้าที่คุ้มครองผู้ชมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

update 09-03-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code