ป้องกันโรคร้าย สู้ภัยจากน้ำท่วม-หน้าหนาว
สสส.ชวนออกกำลังกายเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านไวรัส
เวลาแห่งความสุขในช่วงเทศกาลลอยกระทง ได้จบลงอย่างสวยงาม และที่น่าสังเกตพบว่าทุกเทศกาล มักจะมีการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟกันอย่างสนุกสนานคึกครื้น ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่งผลให้ในแต่ละปี เกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
“เด็กโดนประทัดระเบิดใส่มือจนนิ้วขาด”
“ประทัดระเบิด ใส่มือ หน้า อาการสาหัส”
“เด็กชายวัย 13 นำดินปืนมาทำประทัด เกิดระเบิด อาการสาหัส”
“วัยรุ่นโยนประทัดยักษ์ใส่ชาวบ้าน แรงระเบิดฉีกนิ้วขาดกระจุย หนำซ้ำตาหวิดบอด”
บ่อยครั้งที่เราจะเห็นข่าวทางสื่อต่าง ๆ ว่ามีผู้คนได้รับบาดเจ็บจากการเล่นพลุไฟ โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้บาดเจ็บ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในสังกัด 29 แห่งทั่วประเทศ ปรากฏว่า ในรอบ 3 ปีมานี้ พบว่าแต่ละปีมีผู้บาดเจ็บจากเหตุเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เฉลี่ยปีละ 400 กว่าคน สูงที่สุดในวันลอยกระทง ซึ่งตรงกับเดือนพฤศจิกายน มีผู้บาดเจ็บวันเดียวมากถึง 1 ใน 3 ของผู้บาดเจ็บทั้งปี หรือประมาณ 130 คน
น่าสนใจ!!!…เมื่อย้อนกลับไปดูผู้บาดเจ็บในวันลอยกระทง ปี 2548 พบว่า เกือบครึ่ง มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และเป็นนักเรียน นักศึกษา และในกลุ่มผู้บาดเจ็บดังกล่าว เมาเหล้าร่วมด้วยมากถึงร้อยละ 43 อายุต่ำสุดแค่ 8 ขวบ สูงสุดอายุ 50 ปี พบสูงสุดที่จังหวัดระยอง ร้อยละ 75 รองลงมาคือ นนทบุรี ร้อยละ 50 ชี้ให้เห็นว่าการเมาเหล้า จะทำให้ขาดสติ และมีโอกาสเสี่ยงสูงได้รับบาดเจ็บในการเล่นพลุดอกไม้ไฟ หรือจุดพลุ
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการวิเคราะห์อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ ในวันลอยกระทงปี 2548 ส่วนใหญ่จะเกิดที่มือและข้อมือมากที่สุด ร้อยละ 53 ในจำนวนนี้ กระดูกนิ้วมือแตกละเอียดแพทย์ต้องตัดทิ้ง จำนวน 8 คน และยังมีผู้ถูกสะเก็ดพลุดอกไม้ไฟเข้าที่ตาและรอบๆ ดวงตา เยื่อตา และตาดำ เฉียดตาบอดอีก 43 คน
นอกจากพลุไฟในวันลอยกระทงแล้ว หลายๆ คนคงสัมผัสได้ถึงลมหนาวที่พัดมาปะทะผิวกายสัญญาณที่บ่งบอกว่า เรากำลังย่างเข้าสู่หน้าหนาวแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ว่าอากาศหนาวกำลังมาเยือนแต่สายฝนก็ยังไม่หายไปซะทีเดียว ดังนั้นนอกจากเราจะต้องระวังโรคที่กำลังจะมาพร้อมกับเจ้าอากาศหนาวที่จะมาเยือนนี้แล้ว!! โรคที่มาพร้อมกับเจ้าน้ำท่วมก็ไม่ควรจะมองข้ามเช่นกัน….
มันมากับน้ำท่วม!!! นอกจากสายน้ำจะก่อความเสียหายให้กับบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยแล้ว ยังพัดพาเอาเชื้อโรคต่างๆ มาสร้างความรำคาญไม่จบสิ้น ทั้งไข้หวัด ตาแดง โรคเครียด-วิตกกังวล-นอนไม่หลับ โรคอุจจาระร่วง แต่ที่แสบที่สุดเห็นจะเป็น “โรคน้ำกัดเท้า“ หรือ “ฮ่องกงฟุต” ที่เกิดจากการที่เท้าแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน จนทำให้ “ราร้าย” อย่างเจ้า “เชื้อรา Dermatophytes” ตัวนี้เจริญเติบโตไปตามซอกนิ้วเท้า จนทำให้ผิวหนังลอกเป็นขุย เกิดผื่นที่เท้า ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนา จุดที่พบบ่อย คือ “ซอกนิ้ว” แต่อาจลุกลามไปถึงฝ่าเท้าและเล็บได้…..
5 โรคร้ายที่กล่าวมาข้างต้น เรียกได้ว่าอยู่คู่กับน้ำเลยทีเดียว แถมอากาศก็เป็นใจให้เชื้อโรคดังกล่าวเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย ดังนั้น เราจึงต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงตลอดเวลา เพราะเราอาจหลีกเลี่ยงโรคเหล่านี้ไม่ได้ แต่เราป้องกันไม่ให้เราร่างกายอ่อนแอลงได้
อย่าวางใจไอเย็นของหน้าหนาว!!! เพราะมันอาจทำให้คุณหลงกลเจ้าโรคต่างๆ ที่คอยทำลายสุขภาพที่พัดมาพร้อมกับลมหนาว โดยเฉพาะเชื้อไข้หวัดชนิดต่าง ๆ ที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในช่วงหน้านาว แต่ไข้หวัดที่ประชาชนหวาดผวากันเป็นอย่างมากในขณะนี้ คงหนีไม่พ้น “โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza)” ที่นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ “มิสเตอร์ไข้หวัดนก” กล่าวว่า เนื่องจากสภาพอากาศเริ่มหนาวเย็น ทำให้เชื้อไวรัสที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเจริญเติบโต มีชีวิตยืนยาวขึ้น และในพื้นที่ที่เคยมีสัตว์ปีกและคนติดเชื้อไข้หวัดนกถือเป็นพื้นที่ที่เสี่ยง จึงต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดทั้งระบบการเฝ้าระวังป้องกันมากขึ้น และทำการให้ความรู้แก่ชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง
แต่ในระยะหลังพบว่ามีโรคร้ายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัดนก โรคมือเท้าปาก ทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่เกิดทั้งความตระหนกและตระหนักกับโรคร้ายเหล่านี้ จนลืมไปว่ายังมีโรคร้ายใกล้ตัวเด็กเล็ก ที่คร่าชีวิตเด็กเล็กมาแล้วมากมายอย่าง “โรคปอดบวม” ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นโรคคุ้นหูที่ได้ยินชื่อมายาวนานแล้ว พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงคิดว่าเป็นโรคธรรมดา และมองข้ามอันตรายของโรคนี้ไป
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ได้รับการเปิดเผยโดย นายสมภพ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า ช่วงนี้อากาศหนาว ร่างกายปรับตัวไม่ทัน อาจทำให้เป็นโรคหน้าหนาว ที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุให้การดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคน้อยเมื่อป่วยเป็นไข้จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป และอาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวมได้ ซึ่งโรคปอดบวมเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในกลุ่มโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ โดยโรคปอดบวมมักจะเกิดตามหลังโรคหวัด 2-3 วัน จะมีไข้สูงขึ้นทันทีทันใด และหนาวสั่น หอบเหนื่อย ในระยะแรกอาจมีอาการไอแห้ง ต่อมาจะมีเสมหะมากขึ้น เสมหะเหนียวขุ่นข้นเป็นสีเหลือง สีเขียวหรือมีเลือดปน อาจมีอาการเจ็บแปลบในหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือไอแรงๆ ปาก เล็บ มือเท้าเขียว ถ้ามีอาการเช่นนี้ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน มิฉะนั้นอาจมีโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายตามมาได้อีก
“นอกจากนี้ยังมีโรคที่ควรระมัดระวังในช่วงฤดูหนาวอีก ได้แก่ โรคหัด โรคสุกใส และอุจจาระร่วง ซึ่งล้วนเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ การไอ จาม การสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายจากผู้ป่วยทั้งสิ้น โดยขอให้ประชาชนให้ความสำคัญ และใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ล้างมือบ่อยๆ เมื่อป่วยหรือไม่สบาย ควรดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัย และควรหาผ้ามาปิดปากปิดจมูกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคสู่ผู้อื่น” ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวแนะนำด้วยความเป็นห่วง
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ฤดูหนาวที่ผ่านมา 4 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2550 จนถึงเดือน ก.พ. 2551 มีผู้ป่วยจากโรคฤดูหนาว 6 โรครวมกันทั่วประเทศ 515,580 ราย เสียชีวิต 315 ราย โดยโรคที่พบมากที่สุดคือ อุจจาระร่วงป่วย 442,187 ราย เสียชีวิต 31 ราย รองลงมาคือ ปอดบวม ป่วย 43,109 ราย เสียชีวิต 280 ราย โรคสุกใสป่วย 22,745 ราย เสียชีวิต 2 ราย ไข้หวัดใหญ่ป่วย 6,754 ราย เสียชีวิต 2 ราย โรคหัดป่วย 1,645 ราย และหัดเยอรมันป่วย 128 ราย ไม่มีเสียชีวิต
นายสมภพ แนะนำต่อว่า สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงควรใส่ใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยไม่ควรคลุกคลีกับผู้ป่วยและควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกท่านปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บตลอดหน้าหนาวนี้
ดังที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รณรงค์เรื่องการ “ออกกำลังกาย” มาอย่างสม่ำเสมอ เพราะสุขภาพที่ดี จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทำให้เราสามารถสู้กับไวรัส จากโรคต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับลมหนาวได้
เพียงออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และทำจิตใจให้สดใสอยู่เสมอ .. เท่านี้ก็ช่วยให้เราเข้าสู่หน้าหนาวได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย ไร้กังวลค่ะ…
Update : 17-11-51
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์