‘ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน’

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน' thaihealth


ช่วงที่ผ่านมาเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ไทยคือสงกรานต์ปรากฏภาพข่าวไฟไหม้ใหญ่ถูกนำเสนอผ่านหน้าหนังสือพิมพ์และข่าวโทรทัศน์ต่อเนื่องค่อนข้างถี่ทุกปีที่ผ่านมาก็มักเจอปรากฏการณ์นี้ ไม่ทราบว่ารับขวัญหน้าร้อนหน้าแล้งหรือยังไง ในบางสถานการณ์แค่สูญเสียทรัพย์สิน แต่ในบางสถานการณ์สูญเสียทั้งทรัพย์สินและชีวิตเสียขวัญและกำลังใจอะไรต่อมิอะไรตามมาอีกเยอะ


ในปี 2558 มีสถิติการเกิดเพลิงไหม้จำนวน 646 ครั้ง ปี 2559 จำนวน 681 ครั้ง ปี 2560 จำนวน 783 ครั้ง และในปี 2561 นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม มีจำนวนการเกิดเหตุทั้งหมด 137 ครั้ง และในทุกๆ ครั้งเกิดความเสียหายต่อทั้งร่างกายชีวิตและทรัพย์สินข้าวของ โดยในปี 2558 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 14 ราย ปี 2559 จำนวน 11 ราย และในปี 2560 จำนวน 23 ราย ด้วยเหตุนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงผนึกกำลังร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสื่อสังคม จัดงานแถลงข่าว "การประสานความร่วมมือในการรณรงค์ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน กทม." เพื่อสร้างเสริมทักษะการป้องกันและการเอาตัวรอดให้ปลอดภัยเมื่อยามเกิดอัคคีภัยในชุมชน


'ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน' thaihealth


"เหตุไฟไหม้ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ชุมชน บางชุมชนเสียบปลั๊กพ่วงต่อกันเป็นทอดๆ เป็นสิบยี่สิบราง ตรงนี้เป็นต้นเหตุของการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร"


นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลและว่า สาเหตุสำคัญของการเกิดไฟไหม้กว่าร้อยละ 80 เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร


"กิจกรรมนี้เราร่วมมือกับ สสส. และมูลนิธิสื่อสังคมเพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น เพราะเมื่อยามเกิดเหตุประชาชนที่ไม่รู้จักวิธีเอาตัวรอดอย่างปลอดภัยจะตกใจและรีบขนของหนี ทำให้เพลิงที่กำลังลุกไหม้อยู่ไม่ถูกดับ เมื่อความร่วมมือนี้เกิดขึ้นจึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่สื่อสารให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและตระหนักในปัญหา ผ่านการให้ความรู้ที่จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุทั้งการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มี มอก. การเช็กความพร้อมของอุปกรณ์ รวมถึงการกำหนดจุดรวมพล เป็นต้น"รองปลัด กทม.กล่าว


'ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน' thaihealth


ด้าน นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนักรับรู้ในเรื่องสาธารณภัย ไฟไหม้เป็นหนึ่งในประเด็นสาธารณภัยที่ สสส.ภายใต้แผนการจัดการความปลอดภัยและปัจจัยเสี่ยงต่อสังคมได้เห็นความสำคัญ


"สสส. สนับสนุนในการสร้างสรรค์สื่อใหม่ๆ ให้สังคมเข้าใจปัญหา สำหรับปีนี้ได้จัดทำสื่อรณรงค์ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ ภายใต้แนวคิด 'ยิ่งรู้รอด ปลอดอัคคีภัย' ในรูปแบบโปสเตอร์ 10 ข้อควรรู้เพื่อป้องกันเพลิงไหม้ และ โปสเตอร์การใช้ปลั๊กพ่วงอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและเพลิงไหม้ และ Motion Graphic โดยหวังว่าจะเพิ่มความใส่ใจในการเลือกซื้อและใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างถูกต้องหมั่นตรวจความเรียบร้อยภายในบ้านก่อนออกจากบ้านและช่วยกันดูแลความปลอดภัยภายในชุมชน" นายวิเชษฐ์ ย้ำ


'ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน' thaihealth


ส่วนการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ชาวบ้านในชุมชน พ.ต.ท.บุญเรือง แสงดาว ที่ปรึกษามูลนิธิสื่อสังคม ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. บอกว่า บทบาทในการดำเนินงานของมูลนิธิฯ คือ ให้องค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติจริงในการเข้าระงับเหตุเบื้องต้น, จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในชุมชนจากการลงพื้นที่สำรวจสิ่งแวดล้อมโดยรอบชุมชน เพื่อหาจุดแข็งในการแก้ไข และเรียนรู้ขั้นตอนวิธีการอพยพและช่วยชีวิตเมื่อเกิดเหตุที่ชาวบ้านไม่สามารถควบคุมเพลิงได้ยามคับขัน ซึ่งผลการประเมินหลังจากการให้ความรู้พบว่าชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอัคคีภัยมากขึ้น


'ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน' thaihealth


สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ผ่านเหตุการณ์ระงับเพลิงมาไม่น้อยครั้ง นายปฏิพันธ์ ศรีผา เจ้าพนักงานป้องกันฯ ปฏิบัติการสถานีดับเพลิง ภูเขาทอง เล่าว่า ส่วนใหญ่เวลาไฟไหม้ทุกคนตกใจแล้วจะหนีหมด แต่เมื่อมีการเข้าไปให้ความรู้ทำให้เขารู้ว่าบางเหตุการณ์สามารถดับไฟได้ด้วยตัวเอง เข้าไปสอนตั้งแต่วิธีการใช้ถังดับเพลิง ต้องยืนห่างกี่เมตร อยู่ในพื้นที่เหนือลมหรือใต้ลม คนที่พบเห็นไม่สามารถระงับได้ก็เพียงให้เขาตะโกน  ฯลฯ


"ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยใส่ใจเรื่องสายไฟ-ปลั๊กพ่วง อยากให้คนหันมาสนใจการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าให้มากขึ้นก็จะช่วยลดความเสี่ยงเกิดอัคคีภัยได้ อย่างสายไฟบางบ้านใช้มาเป็น 10 ปี ไม่เคยเช็กเลย บางบ้านเสียบพัดลมไม่เคยถอดปลั๊ก หรือหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่กดไม่ได้แล้วก็เอาตะเกียบยัด เมื่อข้าวสุกหม้อก็ไม่ตัดความร้อน เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรอีก" นายปฏิพันธ์ เล่า


เบอร์ดับเพลิง 199 และเบอร์สถานีดับเพลิงต้องติดไว้ในที่มองเห็นเด่นชัด

Shares:
QR Code :
QR Code