ป้องกันการฆ่าตัวตาย สร้างได้ด้วยสุขภาพจิตที่ดี
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก งานโต๊ะกลมเสวนา : พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตคนไทย เนื่องใน “วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก” (World Suicide Prevention Day)
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
หากเลือกได้ ก็คงไม่มีใครอยากจบชีวิตตัวเองด้วยการ “ฆ่าตัวตาย” และไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นดังฝันร้ายนี้กับบุคคลในครอบครัวไหนทั้งนั้น ด้วยความตระหนักถึงปัญหานี้ องค์การอนามัยโลก WHO กำหนดให้ 10 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) เพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาและการป้องกันการฆ่าตัวตาย มุ่งสร้างเสริมให้ประชากรโลกมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง รู้เท่าทันความรู้สึก รู้จักรักและเห็นคุณค่าในตัวเอง การหยุดบูลลี่ จึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากสถิติปี 2564 โดยกรมสุขภาพจิต พบว่า มีผู้ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ ร้อยละ 7.38 ต่อประชากร 1 แสนคนต่อปี และประเทศไทยยังพบผู้ป่วยภาวะซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติอย่างมาก
การสร้างเสริมสุขภาวะทางใจ เป็นภารกิจหลักที่ สสส. และภาคีเครือข่ายให้ความสำคัญและร่วมกันขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการมีสุขภาวะทางใจที่เข้มแข็ง จึงได้ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดเวทีโต๊ะกลมเสวนาออนไลน์ “พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตคนไทย” เพื่อเสริมความพร้อม สร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจ สานพลังชุมชนท้องถิ่น ขับเคลื่อนการทำงานด้านการพัฒนาสุขภาพจิตในระดับพื้นที่ ส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในสถานการณ์วิกฤตและตลอดช่วงชีวิตให้มีประสิทธิภาพ
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส. พูดว่า สสส. ตระหนักถึงปัญหาการฆ่าตัวตายและไม่นิ่งเฉยกับปัญหานี้ และทำงานการสร้างเสริมสุขภาพจิตใจให้แข็งแรง สนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะผ่าน 5 Key Words สำคัญ 1. พัฒนาทักษะส่วนบุคคลให้รู้เท่าทัน เข้าใจ และให้คุณค่ากับตนเอง 2. สร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนให้มีสุขภาวะที่ดีและสามารถพึ่งพาตนเองได้ 3. ผลักดันและพัฒนาบริการปฐมภูมิ บริการสุขภาพให้รองรับการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในระดับพื้นที่ 4. พัฒนาสิ่งแวดล้อมโดยรวมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี 5. ผลักดันให้เกิดนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตอย่างเป็นรูปธรรม
“สสส. มุ่งเน้นการทำงานลดความเสี่ยงการเป็นภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย สนับสนุนการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและ
มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ความรู้ทางวิชาการ และใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลที่จะเข้าไปหนุนเสริมให้ประชาชนสามารถจัดการและรู้เท่าทันถึงสภาพจิตใจของตนเอง รู้วิธีการที่จะรับมือและปกป้องดูแลสุขภาพใจของตนเองได้ เพื่อป้องกันและลดปัญหาการฆ่าตัวตาย เติมวัคซีนใจ สร้างภูมิคุ้มกันทางความรู้สึก ให้สามารถก้าวข้ามช่วงเวลาที่แย่ไปได้” นายชาติวุฒิกล่าว
คุณหมอแนต ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตด้วยว่า ความทุกข์ ความไม่สบายใจ เป็นช่วงเวลาที่ไม่ถาวร ผ่านมาแล้วก็จะผ่านไปเสมอ ถ้าหากเริ่มรู้สึกว่าสภาพจิตใจไม่ปกติ เริ่มไม่รู้สึกดีกับตัวเอง สิ่งแรกที่ทุกคนจะต้องมีคือ สติ การรู้เท่าทันความรู้สึกภายในของตนเอง และพยายามจัดการกับความรู้สึกของตนเองให้เร็ว โดยไม่ปล่อยให้จมอยู่กับความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้นนานเกินไป เพราะอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเป็นภาวะซึมเศร้าจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ และที่สำคัญบุคคลรอบข้างต้องไม่ตีตราแต่ต้องให้ความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ที่กำลังมีปัญหาสุขภาพจิตใจผ่านช่วงเวลาที่ไม่ดีนั้นไปได้อย่างไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
6 วิธี ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตใจ จาก คุณหมอแนต ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต
- รู้จักตัวเอง ตระหนักรู้ว่ามีความรู้สึกอย่างไร รู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง
- รักตัวเองให้มาก ให้เวลา เห็นคุณค่า และให้กำลังใจตัวเองก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเจอกับปัญหาอะไรก็ตาม
- เมื่อเกิดความเครียด ให้พยายามจัดการกับความรู้สึกของตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ปล่อยให้นานเกินไป
- รู้จักให้อภัยตัวเอง พาตัวเองออกไปพบกับความสุข ได้ทำสิ่งใหม่ ๆ ให้ความสุขกับตัวเองบ้าง
- ลดเวลาของความทุกข์ เพิ่มเวลาของความสุขให้มากขึ้น เอาความทุกข์เข้ามาในชีวิตให้น้อยลง ปล่อยวางอย่างเข้าใจ
- หากเริ่มรู้สึกว่าไม่สามารถรับมือกับความรู้สึกของตัวเองได้แล้ว ให้รีบพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาในการดูแลสุขภาพจิตต่อไป
การฆ่าตัวตายป้องกันได้ ต้องเริ่มที่รักตัวเองให้เป็น เห็นคุณค่าในตัวเองให้มากพอ ในชีวิตคนเราต่างพบเจอเรื่องราวปัญหาที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าชีวิตจะพบเจอกับปัญหาใหญ่แค่ไหน หากเรารู้เท่าทันจิตใจและความรู้สึกของตัวเอง รักและเห็นคุณค่าในตัวเอง พร้อมเชื่อมั่นเสมอว่าตัวเราจะก้าวข้ามทุกความรู้สึกหรือเหตุการณ์ที่แย่เหล่านั้นไปได้ด้วยความเข้าใจ เราจะผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปได้เสมอ
สสส. และภาคีเครือข่ายสนับสนุนให้ประชาชนมีความรอบรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพจิตของตนเอง ลดการเกิดภาวะซึมเศร้า สร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้แข็งแรง พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งเสริมให้เกิดการป้องกันและดูแลสุขภาพจิตใจในระดับพื้นที่ สานพลังชุมชนขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งสุขภาวะ เติมวัคซีนใจ เคียงข้างคนไทยพร้อมสู้ทุกวิกฤตไปด้วยกัน