ปิดเทอมใหญ่ อย่างลืมระวังภัยให้เด็กๆ
ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของเด็กเลยทีเดียว เพราะพวกเขาจะได้หยุดเรียน ทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ที่บ้าน เพราะนั่นเป็นเวลาปิดภาคเรียนหรือปิดเทอมแต่ในทางกลับกัน คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองไม่ได้มีการหยุดงานเหมือนปิดเทอม ส่งผลให้ไม่มีใครดูแลเมื่อพวกเขาอยู่บ้าน ซึ่งนั่นส่งผลให้ความสุขของเด็กกลายเป็นความวิตกกังวลของผู้ใหญ่ เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับลูกหลานในครอบครัว
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีบอกกับเราว่าในช่วงปิดเทอมนี้ถือว่าเป็นช่วงอันตรายของเด็กอย่างมาก เพราะที่ผ่านมาพบว่า ในแต่ละปี มีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เป็นสาเหตุนำการตายของเด็ก สูงถึง 3,300คน หากดูในแต่ละเดือน ช่วงเดือนเมษายนจะมีอัตราการตายสูงที่สุด รองลงมาเดือนมีนาคมและพฤษภาคม ตามมาด้วยเดือนตุลาคม จะเห็นว่าช่วงที่มีการเสียชีวิตของเด็กสูงๆ จะเป็นช่วงปิดเทอมทั้งนั้น ซึ่งจากที่พบก็มีทั้งเด็กในวัยเรียน เด็กอายุต่ำกว่า 15ปี นอกจากนี้ยังพบการเสียชีวิตของเด็กที่มีอายุต่ำว่า 6ปี ในช่วงปิดเทอมของเด็กโตอีกด้วย
“ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตนั้นก็เหมือนกับสาเหตุการตายของเด็กตลอดทั้งปี นั่นคือ การจมน้ำสูงถึง 1,400 ราย/ปี หรือประมาณเดือนละ 120 คน เดือนเมษายนเสียชีวิต 190 คน เห็นได้ว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 70 คน ในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม 150-160 คน/เดือน ก็ยังคงมากกว่าค่าเฉลี่ยดูดี” หมออดิศักดิ์
หมออดิศักดิ์บอกต่อว่า ในช่วงปิดเทอมอากาศร้อน หลายคนอาจคิดว่าเด็กอาจไปเล่นน้ำมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในช่วงปิดเทอมเด็กส่วนใหญ่ ต้องอยู่บ้าน และที่สำคัญไม่มีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด บางคนอาจมองว่าอยู่บ้านดีกว่าอยู่ที่โรงเรียน เพราะโรงเรียนก็มีจุดเสี่ยงต่างๆมากมาย แต่ในโรงเรียนมีคน มีครู อาจารย์ มีระเบียบ มีข้อจำกัดพื้นที่ ทำให้ความเสี่ยงลดน้อยลงกว่า หากเปรียบกับการอยู่บ้าน เรื่องของข้อจำกัดพื้นที่ คน การเล่น การเฝ้าดู ปรากฏว่าการอยู่บ้านเสี่ยงกว่าอยู่ที่โรงเรียน เพราะเด็กอาจเล่นนอกบ้าน
“สาเหตุการจมน้ำของเด็กนั้น มีทั้งจากการเล่นน้ำและไม่ได้เล่นน้ำ คือการไปเล่นใกล้ๆ แหล่งน้ำ ของตกลงน้ำแล้วลงไปเก็บ การเอาเท้าลงไปแช่น้ำเล่นและพลัดตก การไปเล่นบริเวณที่สะพาน ทั้งหมดนี้มาจากการขาดการดูแลจากผู้ใหญ่ รวมทั้งการขาดพื้นที่ที่เหมาะแก่การเล่นของเด็กทั้งสิ้น ยิ่งในช่วงปิดเทอมเรารู้อยู่แล้วว่าเด็กต้องอยู่บ้านและออกไปเล่นนอกบ้าน แต่ยังไม่มีการจัดการพื้นที่เล่นที่ดีให้เหมาะกับเด็กในชุมชนอยู่ดี”หมออดิศักดิ์กล่าว
นอกจากการจมน้ำแล้วนั้น อันตรายอันดับต่อมาเห็นทีจะเป็นเรื่องของ อุบัติเหตุทางจราจร ซึ่ง หมออดิศักดิ์ บอกอีกว่า อุบัติเหตุทางจราจรนั้น เกิดได้ทั้งจากการเดินทางกันเองของเด็กและเดินทางไปกับผู้ใหญ่ มักจะพบไม่ไกลจากชุมชนหรือละแวกบ้านมากนัก จากข้อมูลเฉลี่ยเด็กเสียชีวิตจากการจราจรกว่าปีละ 70 คน แต่ในช่วงปิดเทอมเดือนเมษายนพบสูงถึง 100 กว่าคน เดือนมีนาคมและพฤษภาคมถึง 70-90 คน ก็ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และในจำนวนนั้น 70 % เป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์
“นอกจากการจมน้ำ และอุบัติเหตุแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองควรระมัดระวังก็คือ ออกไปเล่นนอกบ้าน และพลัดตกจากที่สูง เรื่องของไฟฟ้าต่างๆ สัตว์ทั้งมีพิษและไม่มีพิษกัด ต่อย เครื่องเล่นล้มทับ แต่ทั้งหมดนี่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการเสียชีวิตแต่อย่างไร แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรระวังอย่างมากเช่นกัน” หมออดิศักดิ์กล่าว
คงไม่มีใครอยากให้เรื่องร้ายๆเกิดขึ้นกับคนที่คุณรักโดยเฉพาะลูกหลาน ซึ่งหมออดิศักดิ์ได้แนะแนวทางป้องกันว่าในช่วงปิดเทอม ทุกคนต้องเรียนรู้ว่าธรรมชาติของเด็กต้องเล่น พ่อแม่ ต้องจัดการให้บ้านมีพื้นที่เหมาะที่เด็กจะให้เด็กเล่น แนะนำให้เด็กรู้จักจุดเสี่ยงต่างๆ ในบ้าน ส่วนไหนแก้ไขได้ก็รีบดำเนินการแก้ เช่น ล้อมบ่อน้ำหรืออื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการตกลงไปจมน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก และที่สำคัญควรพาเด็กเดินสำรวจในบ้าน ถึงจุดเสี่ยง เพราะเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไปจะสามารถวิเคราะห์เหตุผล รู้จักว่าจุดเสี่ยง รวมถึงให้ร่วมกันวิเคราะห์ ตรงไหนเล่นไม่ได้ ให้เด็กคิดวิเคราะห์เองก่อน ไม่ใช่สั่งพียงอย่างเดียว เพื่อเขาจะได้จำได้มากขึ้น
“นอกจากนี้แล้ว ชุมชนเองก็ต้องร่วมมือกับพ่อแม่ เพราะเราไม่ได้ขังเด็กไว้ในบ้าน เด็กก็จะออกไปเที่ยวเล่นในชุมชน เราต้องช่วยทำให้เกิดพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยในชุมชน ถ้ามีสนามเด็กเล่นในชุมชนก็ต้องช่วยกันซ่อมบำรุงฐานรากที่มันทรุดโทรม ถ้ามีแหล่งน้ำก็ล้อมรั้ว ติดป้ายเตือน สนามกีฬาต่างๆ แป้นบาสเกตบอลชำรุด เสาประตูฟุตบอลก็ต้องหมั่นดูและซ่อมบำรุง รับปิดเทอม เพราะเด็กต้องมีพื้นที่เล่น แต่ทั้งหมดนี้ก็ใช่ว่าจะจัดการปัญหาได้ทั้งหมด แต่มันเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกและทำได้ง่าย”หมออดิศักดิ์กล่าว
หมออดิศักดิ์บอกทิ้งท้ายไว้ว่าปัญหาเรื่องอันตรายตอนปิดเทอมจะค่อยๆ ลดลงได้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่เราควรมี คือ ผู้ดูแลเด็ก ทางที่ดีเราควรจัดให้มีชมรมหรือสมาคมเล็กๆ ในชุมชน ที่มีหน้าที่สอดส่องดูแลเด็กในช่วงปิดเทอม เช่น รับอาสาสมัคร พี่เลี้ยงเด็ก เด็กวัยรุ่นที่ต้องการหารายได้พิเศษ มาเป็นพี่เลี้ยงในชุมชนช่วงปิดเทอม ทำกิจกรรมร่วมกันเวลาเด็กจะออกไปเล่นกันเอง ก็นัดมาเจอกันที่ชมรมที่จัดพื้นที่ไว้แล้วค่อยไปเล่นกันพร้อมพี่เลี้ยง เป็นการเพิ่มเติมให้การเล่นสนุกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถมีคนชี้แนะเลือกการเล่นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กได้อีกด้วย ทั้งหมดนี้มีความจำเป็น ซึ่งเราต้องช่วยกันรณรงค์ให้มันเกิดขึ้นจริงในทุกๆ พื้นที่เพื่อลดปัญหาเด็กเสียชีวิตในแต่ละปี
ภัยร้ายในช่วงปิดเทอม อาจยังไม่หมดแค่นี้เพราะยังมีทั้ง เรื่องของเด็กหาย เด็กติดเกม ยาเสพติด เด็กอ้วน อีกมากมายที่จะมารุมเร้าอนาคตของชาติ สิ่งเดียวที่จะช่วยได้ คือครอบครัว ต้องดูแลเอาใจใส่ให้มากขึ้น รวมถึงชุมชนเองก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ก่อนที่จะสายเกินไปนะคะ
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th