ปากน้ำปราณอยู่เย็นเป็นสุข ด้วยพลัง ‘วัยเก๋า’
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากแฟนเพจ Home 6 บ้านฉันน่าอยู่
ในวิถีชีวิตของคนต่างจังหวัด ผู้สูงอายุถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนชุมชนหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ตลอดจนคุณภาพชีวิตของทุกคน เช่นเดียวกับที่บ้านปากน้ำปราณ หมู่ 2 ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรีจ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นอีกหนึ่งชุมชนซึ่งผู้สูงอายุเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของชุมชน โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
ที่ ต.ปากน้ำปราณ มีประชากรประมาณ 10,000คน มีจำนวนผู้สูงอายุจำนวน 600 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมงและแปรรูปอาหารทะเล ซึ่งเป็นวิถีชีวิต
ดั้งเดิมของชุมชนริมชายฝั่งที่ส่วนใหญ่ล้วนทำอาชีพประมง แต่ละคนจึงไม่มีเวลาว่างเพราะต้องออกเรืออยู่ตลอดเวลา ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อนและดูแลสุขภาพร่างกายเท่าไหร่นัก
นายมนัส พริ้งตระกูล ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านปากน้ำปราณ กล่าวว่า คนและกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนได้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุปากน้ำปราณขึ้น เพื่อคอยดูแลผู้สูงอายุ โดยทำงานร่วมกันกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการออกเยี่ยม และตรวจคัดกรองสุขภาพ ส่งเสริมการดูแลสุขภาพของผู้สุงอายุ ทั้งด้านร่างกายและการรับประทานอาหาร ขณะเดียวกันทางชมรมผู้สูงอายุยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและดูแลชุมชนร่วมกับคนหนุ่มสาว ที่สำคัญได้ตั้งกองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของชาว ต.ปากน้ำปราณ ที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีสิทธิในการเป็นสมาชิก และจะได้รับสวัสดิการไปตลอดชีวิต
"กองทุนผู้สูงอายุ แม้ชื่อจะบอกว่าของผู้สูงอายุ แต่คนทุกเพศ ทุกวัย อายุไม่เกิน 75 ปี สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนนี้ได้โดยค่าธรรมเนียมแรกเข้าจะต้องจ่ายเงิน 150 บาท และเสียค่าบำรุงรักษาสถานภาพเดือนละ 50 บาท ปัจจุบันมีเงินในกองทุนรวมกว่า600,000 บาท สิทธิสมาชิกที่จะได้นั้น เช่น เสียชีวิตได้ 10,000 บาท หากเจ็บป่วยหรือนอนโรงพยาบาลเบิกได้ 1,000 บาทต่อคืนและใช้สิทธิได้ 3 ครั้งต่อปี ซึ่งเงินกองทุนในส่วนนี้ถือเป็นสวัสดิการหนึ่งที่เรามอบให้กับชุมชนช่วยแบ่งเบาภาระไปได้บางส่วนหนึ่ง" ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านปากน้ำปราณกล่าว
ขณะเดียวกันในปี 2560 ทางชมรมผู้สูงอายุ ร่วมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการจัดทำโครงการ สร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุบ้านปากน้ำปราณได้มีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิต
ด้าน นายอาทิตย์ คงสมุทร เลขาธิการชมรมผู้สูงอายุบ้านปากน้ำปราณ เล่าถึงการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า หลังจากที่เราเริ่มก่อนตั้งชมรมและทำงานมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ก็อยากทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกดูบ้าง จึงเข้าร่วมโครงการกับ สสส.เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุในชุมชน โดยเริ่มจากการตั้งคณะกรรมการทำงานจำนวน 9 คน จัดประชุมชี้แจงและความคืบหน้าโครงการทุกวันที่ 4 ของเดือน มีการออกกำลังกายด้วยการรำไม้พลองอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ส่วนด้านสุขภาพจิต ทางชมรมจัดกิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระในทุกวันพระ ขณะเดียวกันยังได้จัดทีมตรวจเยี่ยมผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ปัจจุบันมีจำนวน 4 ราย ไปพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบเขา มีข้าวของเล็กๆ น้อยๆ ติดไม้ติดมือไปเยี่ยม คนแก่และลูกหลานก็ดีใจที่ยังมีคนไปเยี่ยมเยือน เป็นการให้กำลังใจกันทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล ขณะเดียวกันทางชมรมฯ ยังทำงานร่วมกับ อสม.ในการออกเยี่ยมตรวจคัดกรองโรค และการให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพ ซึ่งโรคภัยไข้เจ็บส่วนใหญ่ที่พบ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และเส้นเลือดไขมันอุดตัน โดยจะให้ความรู้ทั้งด้านการดูแลสุขภาพร่างกายและการควบคุมการบริโภคอาหารอีกด้วย
"ในการลงไปเยี่ยมบ้านของ อสม.บางครั้งอาจจะไม่มีเวลามากพอ เพราะต้องรับผิดชอบหลายครัวเรือน แต่ถ้าเราลงไปในนามชมรม ไปกันหลายคน เรามีเวลาอยู่กับเขา มีเวลาพูดคุยเป็นเพื่อนกับเขาได้อย่างเต็มที่ เป็นลักษณะของเพื่อนเยี่ยมเพื่อนมากกว่าหมอไปเยี่ยมคนป่วย" นายอาทิตย์ กล่าว
ความเข้มแข็งของชมรมผู้สูงอายุบ้านปากน้ำปราณ ทำให้วันนี้จึงเป็นชุมชนที่ขับเคลื่อนได้ด้วยพลังของผู้สูงวัยที่ใช้ความเจนจัดของประสบการณ์ชีวิต "ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า" มาร่วมกันออกแบบชุมชนให้อยู่ในกรอบมีทิศทางที่ควรจะเป็น เพื่อให้ทุกอยู่เย็นเป็นสุข