“ปั่นได้ ปั่นดี” เพิ่มพื้นที่สุขภาวะริมเจ้าพระยา
ยงยุทธ เล็งเสนอ ครม. เพิ่มพื้นที่สุขภาวะริมเจ้าพระยา เดิน-ปั่น-พักผ่อน ย่านริมน้ำสะพานปลา สสส.ดัน “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” ชูยุทธศาสตร์ 3ส. “1สวน1เส้นทาง1สนาม” ทั่วประเทศ…
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประชุมคณะกรรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม สสส. ได้พิจารณายุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ในโครงการ “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมผลักดันนโยบาย รวมถึงสร้างกระแสตื่นตัวการเดิน การใช้จักรยาน ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยยึดหลัก “3 ส.” ในทุกจังหวัด คือ 1. สวนสาธารณะ มีการจัดการให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน เช่น ตีเส้นทางคนเดิน-วิ่ง-จักรยาน 2. เส้นทางจักรยาน เสนอให้แต่ละจังหวัดกำหนด 1 เส้นทางที่สนองตอบผู้ใช้ประจำ เลือกเส้นทางที่รถยนต์วิ่งได้ช้า ปรับผิวจราจรให้เหมาะสม และมีมาตรการดูแลการใช้รถใช้ถนน 3. สนาม ที่มีอยู่แล้วในทุกจังหวัด อาทิ สนามกีฬา หรือสนามบิน หรือสนามของหน่วยราชการ สามารถทำ CSR จัดแบ่งให้เป็นเลนปั่นจักรยานเพื่อการออกกำลังกาย ซึ่งโครงการ “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” นี้ สามารถเริ่มต้นได้ทันที ใช้งบประมาณน้อย และระดมการมีส่วนร่วมได้สูง ทุกจังหวัดมีการกำหนดมาตรการอื่นๆ ที่มีศักยภาพนอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่น่าดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการใช้จักรยานอย่างยั่งยืน อาทิ มีจุดจอดจักรยาน เส้นทางจักรยานท่องเที่ยว การให้บริการจักรยาน ให้ความรู้วินัยจราจรและการแบ่งปันถนน
“แนวทางดังกล่าว เป็นการดำเนินงานที่สืบเนื่องจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ส่วนราชการ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม วางแนวทางส่งเสริมให้เกิดเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัย เชื่อมโยงการสัญจรครอบคลุมทุกจังหวัด โดยในส่วนของ สสส. พร้อมให้การสนับสนุนในด้านการจัดทีมที่ปรึกษาด้านการออกแบบพื้นที่ และการประสานความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายจักรยานในพื้นที่ ซึ่งภายหลังจากที่คณะกรรมการกองทุน สสส. ให้ความเห็นชอบแล้วจะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป” ศ.ดร.ยงยุทธ์ กล่าว
ศ.ดร.ยงยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนั้นคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอ ครม.พิจารณาสนับสนุนโครงการนำร่องส่งเสริมสุขภาพด้วยการเดิน การใช้จักรยานและนันทนาการในพื้นที่สุขภาวะริมน้ำย่านสะพานปลา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทำกระบวนการรับฟังความเห็น การมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ไปแล้วหลายครั้ง ได้รับความร่วมมืออย่างดีและเห็นด้วยกับแผนการพัฒนาพื้นที่ โดยมีศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาฯ ทำการศึกษาและยกร่างแผน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมอนุมัติงบฯ เพื่อทำเขื่อนกั้นน้ำความยาว 1.2 กม. ตามแผนป้องกันน้ำท่วมอยู่แล้ว การออกแบบพื้นที่ริมน้ำดังกล่าวจึงเป็นการทำเพิ่มเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อน ให้รองรับการใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน การเดิน ปั่นจักรยาน และกิจกรรมนันทนาการของชุมชน สามารถรองรับผู้คนที่เดินทางสัญจรในจุดต่อรถต่อเรือและรถไฟฟ้าในย่านนี้ที่มีสูงถึงวันละ 3หมื่นกว่าคนได้ ซึ่งหากได้ดำเนินการจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สุขภาวะให้แก่คนเมือง เช่นเดียวกับที่มีในเมืองขนาดใหญ่หลายแห่ง อาทิ มารีน่าเบย์ของสิงคโปร์ พื้นที่ริมแม่น้ำฮันของเกาหลีใต้
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข