ปัญหาคลาสสิก ‘พระอ้วน’

ที่มา : เว็บไซต์ thestandard.co


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ thestandard.co


ปัญหาคลาสสิก ‘พระอ้วน’  thaihealth


‘พระอ้วน’ ปัญหาคลาสสิก ทำไมฉันน้อยมื้อแต่ยังอ้วน และพระห้ามออกกำลังกายจริงหรือ


‘พระอ้วน’ คือปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ไทย ที่มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอยู่เป็นประจำ เช่นเดียวกับปีนี้ที่ รศ. ดร. ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช อาจารย์ประจำคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน ฐานะผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรค (สสส.) เปิดเผยข้อมูลว่า มีพระสงฆ์มากกว่า 50% ในกรุงเทพฯ และเขตเมือง อ้วนเกินพิกัด จากจำนวนพระทั้งหมดของประเทศ และมีปัญหาสุขภาพ 5 โรคยอดฮิต ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ปอด หัวใจและหลอดเลือด


สาเหตุสำคัญมาจาก ‘ชุดอาหารใส่บาตร’ ที่ญาติโยมนำมาถวาย ส่วนใหญ่เป็นเมนูอาหาร ประเภทที่มีส่วนผสมของกะทิค่อนข้างมาก ของทอดไขมันสูง เน้นแป้ง โปรตีนน้อย ขาดผักและผลไม้ที่เหมาะสม ส่วนของหวาน มักเป็นขนมไทย ซึ่งมีแคลอรีสูง อีกทั้งการฉัน ‘น้ำปานะ’ ที่มีปริมาณน้ำตาลจำนวนมากโดยตกที่ 7 ช้อนชาต่อวัน แถมในยุคปัจจุบันนี้ มีจำนวนน้อยมากที่ฆราวาส จะปรุงอาหารเองเพื่อถวายพระ


ขณะที่อีกสาเหตุ คือพระออกกำลังกายน้อย เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายของพระสงฆ์อย่างการเดินรอบวัด กวาดลานวัด ยังไม่เพียงพอสำหรับการเผาผลาญพลังงานในแต่ละวัน


‘โภชเน มตฺตญฺญุตา’ ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ คือ หลักในการฉันของพระ ‘พระไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธในอาหารที่บิณฑบาต แต่พระมีสิทธิ์ในการควบคุมปริมาณในการฉันให้พอเหมาะพอดี’


ประเด็นปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ไทยน่ากังวลมาก


THE STANDARD นมัสการ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระภิกษุวัดสร้อยทอง กรุงเทพฯ มาสนทนาธรรมถึงปัญหาสุขภาพของพระ ในประเด็นที่คาใจ ซึ่งคงไม่มีใครจะสะท้อนจากอีกมุมได้ดีไปกว่าท่านที่อยู่ในวงการสงฆ์เอง


พระมหาไพรวัลย์ มองว่า ประเด็นเรื่องสุขภาพของพระสงฆ์เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก ตามรายงานของหน่วยงานด้านสาธารณะสุขพบว่า พระอาพาธและมีโรคประจำตัวเยอะมาก โดยเฉพาะพวกโรคความดันโลหิตสูง หัวใจ และเบาหวาน ซึ่งสาเหตุมาจากเรื่องการรับประทานอาหารเป็นหลัก


“พระสงฆ์ไม่มีวินัยหรือความระมัดระวังในการฉันมากพอ การถวายของหลายๆ อย่างให้พระของชาวบ้านก็เช่นกัน เพราะชาวบ้านมักจะถวายของที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับเขา ซึ่งถ้ามองมันอย่างจริงๆ เป็นอาหารที่เป็นปัญหากับสุขภาพของพระมากๆ เช่น ขนมหวาน ของมัน ของทอด และการที่พระไม่ได้มีวิธีการในการดูแลสุขภาพ ส่งผลให้พระสงฆ์มีโรคประจำตัวเยอะมากหรือกระทั่งอาพาธหนัก”


อีกคำถามที่คาใจหลายคนก็คือ มีข้อห้ามทางศาสนา ห้ามพระออกกำลังกายจริงหรือไม่ เพราะนี่คืออีกสาเหตุหนึ่งที่นำมาสู่ปัญหาสุขภาพเช่นกัน


‘ความจริงแล้วโดยทั่วไปการทานอาหารน้อยกว่า 3 มื้อ ไม่ได้หมายความว่าจะผอมกว่า เพราะมันขึ้นอยู่กับประเภทอาหารหรือสารอาหารที่ได้รับ’


ปัญหาคลาสสิก ‘พระอ้วน’  thaihealth


พระธรรมวินัยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการออกกำลังกายโดยตรง


พระมหาไพรวัลย์ ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า พระธรรมวินัยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการออกกำลังกายโดยตรง แต่กล่าวถึงเรื่องต้องห้ามในการลุ่มหลง รักสวยรักงามในสรีระร่างกายของตนเอง พระไม่มีความจำเป็นในการออกกำลังกายเหมือนกับฆราวาส ที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหรือรูปร่างที่ดี


 “ในความคิดของอาตมาพระสามารถออกกำลังกายได้ แต่ไม่ควรออกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวอย่างฆราวาส เช่น การเข้าฟิตเนสหรือเตะบอล เพราะว่าภาพลักษณ์ของพระในสังคมไทย คิดว่าญาติโยมส่วนใหญ่รับไม่ได้ และพระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็รับไม่ได้เช่นกัน”


พระมหาไพรวัลย์ บอกอีกว่า ในกิจวัตรของพระก็มีกิจกรรมการออกกำลังกายในตัวอยู่แล้ว เช่น การปัดกวาดเช็ดถู การดูแลเสนาสนะ หากพระส่วนใหญ่ติดพฤติกรรมการฉันแล้วนอน สิ่งนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะจริงๆ แล้วกิจวัตรต่างๆ ของสงฆ์เอื้อให้เกิดการออกกำลังกายได้ 


พระฉันน้อยมื้อแต่ทำไมยังอ้วน?


“พระไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธในอาหารที่บิณฑบาต แต่พระมีสิทธิ์ในการควบคุมปริมาณในการฉันให้พอเหมาะพอดี”


ยังเป็นประเด็นคาใจอีกเช่นเดียวกันว่า แล้วทำไม หลักศาสนาจึงห้ามพระเลือกฉัน และการที่พระฉันเพียงมื้อเดียวหรือ 2 มื้อ แต่ทำไมยังเสี่ยงต่อภาวะอ้วน ความเข้าใจต่อเรื่องเหล่านี้ ควรได้รับการไขข้อข้องใจให้กระจ่าง


ในประเด็นนี้ พระมหาไพรวัลย์ อธิบายว่า พระธรรมวินัยกล่าวถึงเรื่อง ‘โภชเน มตฺตญฺญุตา’ ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ คือ หลักในการฉันของพระ  และ ‘พระไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธในอาหารที่บิณฑบาต แต่พระมีสิทธิ์ในการควบคุมปริมาณในการฉันให้พอเหมาะพอดี’


 “อย่างที่ทราบว่าพระฉันเพียงแค่ 2 มื้อ ในสมัยพุทธกาลมีการฉันเพียงแค่มื้อเดียวด้วยซ้ำ สิ่งนี้คือการป้องกันทางพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชัดเจนในพระสูตร ว่าทรงเห็นผลดีของการฉันน้อยที่ทำให้สุขภาพดี ไม่อึดอัดร่างกาย สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ


 “แต่ที่สำคัญที่สุดคือพระต้องรู้จักเลือกฉันโดยพอประมาณ คือถ้าพระฉันเยอะจนอิ่มมากทั้ง 2 มื้อ แล้วมาออกกำลังกายด้วยการกวาดวัดเพียง 5-10 นาที คงไม่ได้ ที่พระในต่างจังหวัดไม่มีปัญหาสุขภาพมากนัก เพราะการเดินบิณฑบาตไกล 5-10 กิโลฯ เป็นการออกกำลังกายที่ดีทุกเช้าอยู่แล้ว


“พุทธศาสนาก็มีศีลเป็นหลักอยู่แล้วในเรื่องการไม่ฆ่าสัตว์ ชาวบ้านก็ควรถวายอาหารที่เป็นมังสวิรัติที่มีผักมากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์”


ขณะที่ประเด็นนี้ เราได้สอบถามไปยังนักโภชนาการ เพื่อให้ได้รับความกระจ่างเพิ่มขึ้นอีกโดย คุณสง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องพระฉันน้อยมื้อ แต่ทำไมยังเสี่ยงอ้วนว่า “คนชอบสงสัยหรือแปลกใจว่าทำไมพระฉันแค่ 1-2 มื้อถึงอ้วน ความจริงแล้วโดยทั่วไปการทานอาหารน้อยกว่า 3 มื้อ ไม่ได้หมายความว่าจะผอมกว่า เพราะมันขึ้นอยู่กับประเภทอาหารหรือสารอาหารที่ได้รับ การที่ญาติโยมชอบถวายของที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับญาติโยม แต่ลืมว่าอาหารเหล่านั้น นำพาทั้งแป้ง น้ำตาล ไขมัน และแคลอรีสูง ซึ่งนำมาสู่ผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของพระ”


‘อาตมาคิดว่าวิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุดแล้วในการจัดการกับปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บกับปัญหาสุขภาพ เพราะถ้าพระไม่นำหลักโภชเน มตฺตญฺญุตา ซึ่งเป็นหลักที่พระพุทธเจ้าใช้เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอยู่แล้วมาจัดการกับปัญหาก็ไม่สามารถโทษโยมได้ เพราะเป็นความผิดของพระที่ไม่รู้จักฉัน’


ปัญหาคลาสสิก ‘พระอ้วน’  thaihealth


พระสงฆ์ไทยหลีกเลี่ยง ‘ระเบิดเวลา’ เรื่องสุขภาพนี้อย่างไร?


“ถ้าพระไม่นำหลักโภชเน มตฺตญฺญุตา ซึ่งเป็นหลักที่พระพุทธเจ้าใช้เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอยู่แล้วมาจัดการกับปัญหา ก็ไม่สามารถโทษโยมได้ เพราะเป็นความผิดของพระที่ไม่รู้จักฉัน” พระมหาไพรวัลย์ กล่าว


เมื่อสนทนาธรรมเพื่อโฟกัสลงไป ในประเด็นสำคัญถึงคำถามที่ว่า ‘พระจะจัดการตัวเองอย่างไรกับเรื่องของสุขภาพ’ พระมหาไพรวัลย์ อธิบายดังนี้


“อันนี้เป็นเรื่องของพระแล้ว อย่างที่รู้กันว่าพระไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธในอาหารที่บิณฑบาต แต่พระมีสิทธิ์ในการควบคุมปริมาณในการฉันให้พอเหมาะพอดี และพระที่มีโรคประจำตัวก็สามารถเลือกที่จะไม่ฉันได้ ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับญาติโยมแล้ว แต่เป็นประเด็นของพระเอง


“ส่วนตัวอาตมาก็ใช้วิธีการนี้ อย่างเวลาที่ญาติโยมนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดที่ใด ก็จะมีการถวายภัตตาหารชุดใหญ่ แต่พระก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉันให้หมดตามปริมาณที่ได้รับการถวายมา แต่ไม่ได้หมายความว่าพระฉันตามพอใจ แต่เป็นการฉันแต่พอเหมาะพอดีเพื่อสุขภาพ การเลือกฉันอาหารที่ดีต่อร่างกายหรือสุขภาพของเราไม่ได้เลือกเพราะความพอใจไม่ผิดพระธรรมวินัย


“อาตมาคิดว่าวิธีการเหล่านี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุดแล้วในการจัดการกับปัญหาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บกับปัญหาสุขภาพ เพราะถ้าพระไม่นำหลักโภชเน มตฺตญฺญุตา ซึ่งเป็นหลักที่พระพุทธเจ้าใช้เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอยู่แล้วมาจัดการกับปัญหาก็ไม่สามารถโทษโยมได้ เพราะเป็นความผิดของพระที่ไม่รู้จักฉัน”


ขณะเดียวกัน พระมหาไพรวัลย์ มองว่าปัญหาเรื่องการถวายอาหารของญาติโยม เป็นเรื่องที่ควบคุมยาก และหากจะแก้ไขต้องมองไปที่ปัญหาเรื่อง ค่านิยมของชาวพุทธ


เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่บังคับไม่ได้ เรื่องอาหารก็เป็นเรื่องที่ควบคุมยาก อาตมามองว่าถ้าจะแก้ปัญหานี้จริงๆ คงต้องแก้ปัญหาที่ค่านิยมชาวพุทธ โดยเริ่มจากชาวบ้านและพระ พระควรแนะนำชาวบ้านว่าอาหารแบบไหนที่ชาวบ้านถวายแล้วดีต่อสุขภาพของพระ พุทธศาสนาก็มีศีลเป็นหลักอยู่แล้วในเรื่องการไม่ฆ่าสัตว์ ชาวบ้านก็ควรถวายอาหารที่เป็นมังสวิรัติที่มีผักมากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์


“ส่วนในหมู่คณะสงฆ์ก็ควรมีการสร้างค่านิยม หากพูดถึงในเรื่องโครงสร้างการปกครอง ก็ต้องให้เจ้าคณะสงฆ์หยิบประเด็นปัญหาสุขภาพเหล่านี้มาพูดในที่ประชุมมากขึ้น ทั้งเรื่องของที่เป็นอันตรายและผลเสีย”

Shares:
QR Code :
QR Code