ปักหมุดเปลี่ยนพฤติกรรมสะเทือนไต เปิดผลวิจัยที่คนไทยต้องโฟกัส
ที่มา : มติชน
ในขณะที่คนทั้งโลกโฟกัสกับโรคระบาดแห่งศตวรรษอย่าง "โควิด-19" ที่ต้องแก้ไขวิกฤตอย่างเร่งด่วน ทว่า ยังมีโรคภัยอีกมากมายที่บ่อนทำลายคุณภาพชีวิต สร้างความทุกข์ทรมานทั้งกายใจ
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตหากไม่ปรับเปลี่ยนซึ่งพฤติกรรมบางประการ หนึ่งในนั้นคือ "โรคไต"อย่างที่ทราบกันดีว่า รสเค็ม รวมถึง "รสจัด" อื่นๆ ทั้งเปรี้ยว หวาน มัน คือศัตรูตัวฉกาจ นำมาซึ่งโรคดังกล่าว
ประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับคนไทยซึ่งมีผลวิจัยล่าสุด โดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ที่ได้รัการเผยแพร่ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension โดยความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ตีแผ่พฤติกรรมคนไทยบริโภคโซเดียม หรือ "เกลือ" เฉลี่ยสูงที่สุดในภาคใต้, ภาคกลาง, ภาคเหนือ, กรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ส่งผลให้องค์การอนามัยโลกระบุว่า จากผลการศึกษานี้ทำให้ต้องตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความพยายามในการลดปริมาณการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะเด็กไทยที่บริโภคเกลือมากเกินไป
คนไทยหม่ำเกลือ 1.8 ช้อนชาต่อวัน
ด้วยข้อมูลชวนสะเทือนใจว่าการบริโภคเกลือของคนไทยเสี่ยงสะเทือนไตจนน่าห่วง รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มและนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ.2568 เพื่อลดโรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อน แต่เนื่องจากข้อมูลการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยนั้นมีจำกัด
จึงทำให้เกิดงานวิจัย ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสาธารณสุขในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยเก็บข้อมูลการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยทั่วประเทศกว่า 2,388 คน ด้วยวิธีการตรวจเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง นำมาวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นวิธีการที่น่าเชื่อถือและแม่นยำที่สุดในขณะนี้
ตัวเลขที่ได้จากห้องปฏิบัติการจะถูกคำนวณรวมกับปริมาณโซเดียมที่ขับออกทางอื่นนอกเหนือจากปัสสาวะอีกร้อยละ 10 โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครที่ได้เก็บข้อมูลได้อย่างครบถ้วนและผ่านเกณฑ์การเข้าร่วมวิจัยทั้งหมด 1,599 คน โดยมีอายุเฉลี่ย 43 ปี เป็นเพศหญิงร้อยละ 53 และมีภาวะความดันโลหิตสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 30 โดยค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา
ผลการวิจัยพบปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มิลลิกรัมต่อวัน รองลงมาคือภาคกลาง จำนวน 3,760 มิลลิกรัมต่อวัน, ภาคเหนือจำนวน 3,563 มิลลิกรัมต่อวัน, กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มิลลิกรัมต่อวัน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 3,316 มิลลิกรัมต่อวัน ตามลำดับ
"ทางทีมวิจัยยังพบว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาสูง น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ปกติ และคนที่มีความดันโลหิตสูง มีการบริโภคโซเดียมมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสรุปแล้วคนไทยบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึงเกือบ 2 เท่า กล่าวคือ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกในประเทศไทยที่ใช้วิธีสำรวจมาตรฐานอย่างเป็นระบบ จึงเป็นประโยชน์มากต่อการเปรียบเทียบข้อมูลการบริโภคโซเดียมของคนไทยในอนาคต" รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว
'โซเดียมสูงเกินมาตรฐาน'
จากแพทย์ไทยมาถึงความเห็นของ นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ซึ่งระบุว่างานวิจัยฉบับนี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลที่เป็นมาตรฐานระดับสูงสุด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนไทยบริโภคโซเดียมเกินปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันถึงเกือบ 2 เท่า ผลการศึกษานี้ทำให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเพิ่มความพยายามในการลดปริมาณการบริโภคโซเดียมในประชากรไทยให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้หลายพันคนจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต และโรคเรื้อรังต่างๆ และยังจะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย
ในขณะที่ พญ.ดร.เรณู การ์ก เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ (โรคไม่ติดต่อ) สำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือ เด็กไทยบริโภคเกลือมากเกินไป โดยเฉลี่ย เด็กไทยบริโภคโซเดียมมากถึง 3,194 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นระดับการบริโภคที่สูงเกินกว่าเกณฑ์แนะนำสำหรับกลุ่มเด็กมาก ยิ่งกว่านั้นปริมาณโซเดียมที่เด็กไทยบริโภคถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก ซึ่งทำให้เยาวชนตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจจะมีภาวะความดันโลหิตสูง และโรคไตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น เราต้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อลดการบริโภคโซเดียมทั้งในผู้ใหญ่ และเด็ก
นอกจากนี้ ยังแนะนำว่าให้บริโภคโซเดียมไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา หรือคิดเป็นปริมาณโซเดียม 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ปัจจุบันคนไทยบริโภคเกินกว่า 2 เท่า หากรัฐบาลผลักดันนโยบายเก็บภาษีผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมสูงเกินมาตรฐาน โดยเก็บภาษีผลิตภัณฑ์บรรจุหีบห่อ และผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารปรับรูปแบบอาหารบรรจุหีบห่อให้มีโซเดียมน้อยลง จะช่วยปกป้องสุขภาพของประชาชน และลดความเสี่ยง NCDs จากการบริโภคโซเดียมมากเกินความพอดีได้สำเร็จ
วินิจฉัยเร็ว รักษาไว ชะลอ'ไตเสื่อม'
จากข้อมูลล่าสุดข้างต้น มาลองย้อนพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไตที่แพทย์ไทยย้ำบ่อยครั้งว่าไม่ใช่เฉพาะ "รสเค็ม" เท่านั้นที่จะทำให้โรคดังกล่าวถามหา หากแต่เป็นรสจัดทุกประเภทซึ่งทำให้ไต "ทำงานหนัก"
พญ.ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม อาจารย์แพทย์ด้านโรคไตภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการกินอยู่ นับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังจึงถึงเวลาที่จะลองหันมาสำรวจตัวเองว่าเราได้เปิดประตูต้อนรับโรคไตเรื้อรังให้เข้ามาในชีวิตบ้างแล้วหรือยัง โดยดูจากพฤติกรรมของตัวเอง เช่น ชอบกินอาหารรสจัด อาหารฟาสต์ฟู้ด ไม่ว่าจะเป็น พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟราย เมนูปิ้งย่างและหมักดอง ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมมากเกินปกติ การดื่มน้ำน้อยเกินไปหรือดื่มน้ำมากเกินไป เพราะไตทำหน้าที่กำจัดของเสียในร่างกาย และต้องใช้น้ำเป็นตัวพาไปสู่การกรองจนกระทั่งกลายเป็นปัสสาวะ แต่หากดื่มน้ำมากไตก็จะทำงานหนักเกิน รวมไปถึงการกินไม่ยั้งจนน้ำหนักเกินและไม่ออกกำลังกายทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูงตามมา
"ถ้าหากตอบว่า ใช่ เป็นส่วนใหญ่ โอกาสที่คุณเปิดประตูต้อนรับโรคไตเรื้อรังเข้ามาในชีวิตนับว่ามี สูง หมอจึงอยากแนะนำให้หาเวลาไปพบแพทย์ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจคัดกรองโรคไต ซึ่งเป็นการตรวจพื้นฐาน ได้แก่ การตรวจค่าการทำงานของไตจากการเจาะเลือด (blood urea nitrogen และ creatinine) หรือการตรวจปัสสาวะ (urinalysis) และปริมาณโปรตีนที่รั่วในปัสสาวะ (albuminuria) เป็นต้น" พญ.ปิยวรรณกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการตื่นตัวในการวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อให้สามารถเริ่มใช้มาตรการชะลอการเสื่อมของไตได้เร็วขึ้น เพราะหลายคนเริ่มตระหนักแล้วว่าคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ ไปจนถึงวัยสูงอายุ ล้วนเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรังได้ ในทางการแพทย์มีอาการสำคัญบางอย่างที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเป็นโรคไต ได้แก่ ปัสสาวะขัดหรือลำบาก ปัสสาวะกลางคืนหรือบ่อยกว่าปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ขุ่น มีฟอง หรือมีสีน้ำล้างเนื้อ อาการบวมที่รอบตาบวม หน้าหรือหลังเท้า ปวดเอวและความดันโลหิตสูง เป็นต้น
หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบอายุรแพทย์โรคไตโดยเร็วเพื่อการวินิจฉัยโรคและรักษาโรคไตตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันแบบทุติยภูมิ (secondary prevention) สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตอยู่แล้ว ควรทราบถึงวิธีชะลอความเสื่อมของไตแบบต่างๆ อาทิเช่น การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ระมัดระวังการใช้ยาบางชนิด การควบคุมระดับน้ำตาลและกรดยูริกในเลือด การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนต่ำรวมไปถึงการควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เพื่อคงหน้าที่การทำงานของไตไว้ให้ได้นานที่สุด ซึ่งเป็นการการป้องกันระดับตติยภูมิ หากปล่อยปละละเลย การป้องกันและการชะลอความเสื่อมของไต ก็มักถึงจุดที่ทำได้ยาก
เป็นอีกสถานการณ์ด้านสุขภาพที่คนไทยต้องหันมาโฟกัสควบคู่โรคระบาดจากไวรัสตัวใหม่ในศตวรรษนี้ น้ำประปาเค็ม'อย่าต้ม' ช่วงนี้มีปรากฏการณ์น้ำประปาเค็ม ซึ่งเกิดจากน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้น้ำดิบมีความเค็มสูง แนวทางปฏิบัติที่ สำนักสุขาภิบาล อาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ คือ '2 ลดกลุ่มปกติ 2 เปลี่ยนกลุ่มเสี่ยง กล่าวคือ บุคคลทั่วไปที่ไม่มีโรคประจำตัว สามารถดื่มน้ำประปาได้ตามปกติ แต่ใช้วิธีลดสารปรุงรสในอาหารแทน รวมถึงลดบริโภคอาหารโซเดียมสูง
ส่วนกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กทารก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ให้เปลี่ยนมาดื่มน้ำบรรจุขวดปิดสนิทผ่านมาตรฐาน อย. ยกเว้นน้ำแร่ น้ำด่าง และน้ำผสมวิตามิน อีกวิธีหนึ่งคือ เปลี่ยนเป็นน้ำประปาที่ผ่านระบบกรอง RO ย้ำว่า การต้มน้ำประปา ไม่ได้ลดความเค็ม แต่ยิ่งเพิ่มความเข้มข้นโซเดียมให้มากขึ้นไปอีก