‘ปอดบวม’ ครองแชมป์สาเหตุการตายอันดับ 1

        สธ.ประกาศเป็น 1 ใน 8 โรคที่ต้องเฝ้าระวัง

 

        นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคติดต่อส่วนใหญ่ในเด็กเล็กเป็นโรคติดต่อทางด้านระบบทางเดินหายใจเป็นเส้นทางหลัก โดยเด็กๆ จะรับเชื้อโรคผ่านทางการหายใจเข้า-ออก ส่งผ่านไปตามอวัยวะสำคัญต่างๆ ของระบบหายใจ ตั้งแต่จมูก หลอดลม ลงไปที่ปอดตามลำดับ หน้าหนาวปีนี้อากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว จึงมีเด็กป่วยกันมาก โดยเฉพาะโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก ได้แก่ โรคหวัด คออักเสบ หูอักเสบ หลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ และโรคที่รุนแรงและมีปัญหามากสุดที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ “โรคปอดบวม” ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเด็กเล็กทั่วโลกเฉลี่ยปีละ 2 ล้านคน ทุกๆ นาทีจะมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ในประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนหนึ่งคนที่เสียชีวิตจากโรคปอดปวม องค์การอนามัยโลก (who) จึงได้ออกมาผลักดันให้ทั่วโลกมีการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคปอดบวมอย่างจริงจัง เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กทั่วโลกลง 2 ใน 3 ภายในปี 2558  ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ “โรคปอดบวม” เป็น 1 ใน 8 โรคที่มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษช่วงฤดูหนาวนี้
         
        นพ.มานิต กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยสถานการณ์โรคปอดบวม ยังเป็นโรคที่น่าเป็นห่วงอยู่และยังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ปี 2553 จำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยด้วยโรคปอดบวมถึง 75,626 คน และเสียชีวิตถึง 44 ราย สาเหตุของโรคปอดบวมส่วนมากเกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก ลำคอของคนเรา จึงมีโอกาสที่เชื้อชนิดนี้จะหลุดเข้าสู่ร่างกายได้  เชื้อโรคชนิดนี้จะสามารถอยู่ในอากาศได้นานกว่าปกติ เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ทุกคนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงแต่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงและน่าเป็นห่วงได้แก่ เด็กที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคปอด เบาหวาน และโรคเลือดซิกเคิลเซลล์, เด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี, เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์, เด็กที่อยู่รวมตัวกันหนาแน่น ผู้ปกครองจึงต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเด็กมีไข้ ไอหายใจถี่และหอบ หายใจลำบากหรือมีเสียงดังวี๊ดๆ หรือหายใจแรงจนซี่โครงบุ๋ม ควรที่จะรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันและรับการรักษาที่ถูกต้องทันที โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ หรือเด็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าเด็กปกติทั่วไป เพราะหากป่วยด้วยโรคปอดบวมจะมีอันตรายมากอาจเสียชีวิตได้
         
        วิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก โดยการส่งเสริมความรู้แก่ประชาชนผ่านสื่อต่างๆ การเผยแพร่ความรู้ การป้องกัน เช่น สอนให้เด็กมีสุขอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ ปิดปาก  เน้นการเลี้ยงดูลูกน้อยด้วยนมแม่ เพื่อให้มีภูมิต้านทานจากแม่ส่งผ่านไปถึงลูกเพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงต่อไป นอกจากนี้กรมควบคุมโรคได้จัดทำคำแนะนำด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคปอดบวม เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งสามารถติดต่อขอรับได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โทร.0-2590-3183 หรือ 0-2590-3185

 

        ที่มา : หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ