“ปวดหัว” โรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม
แพทย์แนะ ออกกำลังกาย ช่วยได้
ปัจจุบันอาการปวดศีรษะกลายเป็นอาการฮิตที่มักเกิดขึ้นกับหนุ่มสาววัยทำงานจนไม่อาจมองข้ามความสำคัญของอาการเจ็บป่วยดังกล่าวได้
น.พ.ชัยพร เรืองกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท โรงพยาบาลสมิติเวช ระบุในการประชุมวิชาการประจำปีสมิติเวช ครั้งที่ 9 ที่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ซอยศูนย์วิจัย ว่า อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วย มีตั้งแต่ปวดธรรมดาไปถึงอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายที่ผู้ป่วยไม่ควรมองข้าม พร้อมวินิจฉัยและจัดอาการปวดศีรษะออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทอันตรายอย่างรุนแรง และประเภทไม่ทำอันตรายมากนักแต่เกิดความรำคาญกับผู้ป่วย
สำหรับอาการปวดศีรษะประเภทแรก คือปวดศีรษะแบบอันตรายร้ายแรง ผู้ป่วยอาจลองสังเกตอาการปวดของตนได้ เช่น กรณีไม่เคยปวดศีรษะ แต่อยู่ดีๆ ก็เกิดอาการปวดตึ้บขึ้นมาอย่างรุนแรง หรือปวดศีรษะแบบมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดแล้วเป็นลม มีอาการชักร่วม หรือมีอาการอาเจียน ตาพร่า หน้าเบี้ยว ซึ่งหลายครั้งที่ตรวจแล้วพบว่ามีเนื้องอกในสมอง หรือเส้นเลือดแตกในสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เมื่อคนไข้มาพบแพทย์ แพทย์จะให้คนไข้ตรวจเช็กร่างกายที่โรงพยาบาล เช่น การเอ็กซเรย์ คอมพิวเตอร์ หรือ mri scan เจาะเลือด หรือเจาะไขสัน หลัง เพื่อดูว่ามีการติดเชื้ออย่างอื่นหรือไม่
อีกประเภท คือไม่ทำอันตรายมากนักแต่ส่งผลรบกวนชีวิตคนไข้ กลุ่มใหญ่ คือพวกที่ปวดไมเกรน และปวดหัวเรื้อรังจากความเครียด ปวดหัวเนื่องจากการใช้งานร่างกายผิดท่าผิดทาง เช่น นอนดูทีวีผิดท่า หรือนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นประจำ ส่วนพวกที่ปวดศีรษะเพราะความเครียดนั้น มักจะปวดศีรษะบริเวณต้นคอ ปวดแปลบๆ ที่ศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง แม้ลูบผมก็อาจรู้สึกเสียวๆ ถ้าตรวจละเอียดจะพบจุดกดเจ็บที่หลังหู พอซักประวัติไปจะพบว่าชอบก้มคอไปในที่ตรงข้าม หรือเผลอผงกศีรษะหลับตอนนอนดูทีวี นอนอ่านหนังสือ นั่งทำคอมพิวเตอร์นานๆ วิธีแก้ต้องปรับเปลี่ยนท่าทางในการทำงาน ลองหาน้ำอุ่นมาประคบ ทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้
“ปัจจุบันมีจำนวนคนไข้ที่ปวดศีรษะจากการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับผู้มีอาการปวดศีรษะที่น่าสงสัยว่าอาจมีอันตรายถึงชีวิต ต้องรีบไปพบแพทย์ และควรสำรวจพฤติกรรมส่วนตัวของคุณ เช่น หลายคนไว้ผมยาวปรกหน้าเวลามองต้องเอียงคอมองตาม บางคนสายตาสั้นไม่ใส่แว่น หรือ คุยโทรศัพท์เหน็บไว้ที่คอ สาวทำงานที่ชอบสะพายกระเป๋าหนัก พวกนี้จะมีปัญหาปวดที่ไหล่และต้นคอ และอาจปวดร้าวไปที่ศีรษะได้ วิธีแก้ไขง่ายๆ ควรเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผิดท่าผิดทางเสียก่อนจะช่วยได้พอสมควร ส่วนผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรน หรือจากความเครียด ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือรู้จักปรับเปลี่ยนท่าระหว่างนั่งทำงานบ้าง จะช่วยลดอาการปวดศีรษะเรื้อรังได้พอสมควร” แพทย์แนะนำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update : 11-09-51