‘ปลูกใจ’ พร้อมกับปลูกผัก
'ปลูกใจ' พร้อมกับปลูกผัก 'โอ-อรุษ นวราช' ค้นพบชีวิตจาก 'ธุรกิจสีเขียว'
"ไม่เคยคิดว่าจะเข้าสู่วิถีสีเขียว วิถีเกษตรแบบนี้ได้ เพราะเรียนจบมาทางด้านวิศวะเคมี แต่พอได้เข้ามาคลุกคลีจริง ๆ ได้สัมผัสจริง ๆ ก็มองเห็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับทุก ๆ เรื่อง ที่อยู่ รอบ ๆ ชีวิตเรา จนอยากมีส่วนช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ และจากวันนั้นถึงวันนี้ เรียกว่า…ถอนตัวไม่ขึ้นแล้ว" …ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงอย่าง "โอ-อรุษ นวราช" กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามพราน ริเวอร์ไซด์บอก "ทีมวิถีชีวิต" ถึง "จุดเปลี่ยน" ที่ทำให้ "ก้าวสู่วิถีเกษตร" … ที่วันนี้ ณ ที่นี้มีเรื่องราวชีวิตเขามานำเสนอ…
โอ-อรุษวัย 47 ปีผู้บริหารสามพราน ริเวอร์ไซด์ เล่าประวัติตนเองให้ฟังว่า… เป็นบุตรของคุณพ่อ บวร นวราช และคุณแม่ สุชาดา ยุวบูรณ์ โดยเขาเป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คน หลังจบ การศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ด้านวิศวกรรมเคมี ที่ Imperial College of Science, Technology and Medicine, London University ก็ได้เข้าไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านบริหารงานในบริษัทเอกชนหลายแห่ง จนในปี 2548 ก็ได้รับมอบหมาย จากครอบครัวยุวบูรณ์ ให้มาสืบทอดกิจการสามพราน ริเวอร์ไซด์ ปัจจุบันนอกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแล้ว ยังทำหน้าที่เลขาธิการ มูลนิธิสังคมสุขใจ ด้วย
สำหรับจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาสนใจเรื่อง "เกษตรอินทรีย์" นั้นผู้บริหารหนุ่มบอกว่า… เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วหลังจากกลับมาช่วย ธุรกิจโรงแรมของครอบครัว ซึ่งด้วยความที่ ชื่นชอบเรื่องของสุขภาพอยู่แล้ว จึงมีความคิดที่อยากจะ ปลูกผักและผลไม้ เอง และเพื่อให้ลูกค้าของโรงแรมได้รับประทาน โดยตอนนั้นมีที่ดินอยู่ประมาณ 30 ไร่ จึงทดลองปลูกด้วยตนเองซึ่งปกติโรงแรมต้องใช้ผักและผลไม้ในการให้บริการลูกค้าในแต่ละวันเป็นปริมาณมากอยู่แล้ว โดยตอนนั้นต้องรับจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ คิด ๆ แล้วเป็นมูลค่าถึงเดือนละกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่น้อย ทำให้แนวคิดปลูกผักและผลไม้เองนี้เกิดขึ้น
ทว่า แม้จะพยายามสร้างสวนผักและผลไม้เอง แม้จะปลูกขึ้น มาเอง แต่ด้วยความที่ไม่ใช่เกษตรกรมืออาชีพ ก็มาคิดว่า ถึงปลูกอย่างไรก็คงปลูกไม่ได้ทั้งหมด จึงติดต่อกับเกษตรกรในพื้นที่ ผ่านทางผู้นำชุมชน ว่ามีความสนใจจะปลูกผักผลไม้ป้อนให้ทางโรงแรมหรือไม่? ซึ่งเป็น เรื่องที่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่หลาย ๆ คน
"ผมก็เดินเข้าไปคุยเองเลย บอกเขาว่า เรื่องราคาเท่าไหร่ลองเสนอมา ถ้าสมเหตุสมผลก็ตกลงกันเลย ไม่ต้องผ่านใคร ซึ่ง ร้อยวันพันปี แม้ธุรกิจนี้จะอยู่ในพื้นที่มานาน แต่ก็ไม่เคยลงไปเชื่อมโยงกันนะ พอมีเรื่องนี้เขาจึงแปลกใจกัน เพราะเมื่อก่อนเกษตรกร จะต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งราคาที่ขายได้ น้อยกว่าเยอะ ก็ใช้เวลาอยู่สักระยะ เขาก็เริ่มไว้ใจเรามากขึ้น จากนั้นเราก็เข้าไปเกี่ยวข้องมากขึ้น จนขยายไปสู่การส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ โดยทางผมก็ได้เปิดตลาดสุขใจควบคู่ไปด้วย เพื่อที่เกษตรกรจะได้มีช่องทางในการขายผลผลิตเพิ่มขึ้น"…โอ-อรุษ ระบุ
เขายังบอกอีกว่า…นี่เป็นจุดเริ่มต้นในการชวนพี่น้องเกษตรกร เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ของโรงแรม เพราะเกษตรกรก็ขายผลผลิตได้ราคาเพิ่มขึ้น ทางโรงแรมก็สามารถนำเรื่องนี้ไปเป็นจุดขายได้ เรียกว่า วิน-วิน ทั้ง 2 ฝ่าย ต่อมาทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อยากให้โครงการนี้ ไปเป็น "ต้นแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ" จึงให้ทุนวิจัยมา ดำเนินการโดยให้ทุนนี้ติดต่อมาเป็นปีที่ 5 แล้ว ซึ่งปกติ สกว.จะให้ทุน เฉพาะมหาวิทยาลัยกับกลุ่มชุมชนเท่านั้น ไม่เคยให้ทุนกับภาคเอกชนเลย
"เราเป็นภาคเอกชน เป็นโรงแรมเจ้าแรกที่ได้ทุนจาก สกว. ส่วนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ให้ทุนเรามา 3 ปีแล้ว เพราะเห็นเป็นเรื่องที่ดีและอยากจะให้เราต่อยอดไปอีก เนื่องจากเรื่องนี้เชื่อมโยงกับสุขภาพอย่างชัดเจน เรื่องนี้ก็เป็นความ ภาคภูมิใจของพวกเรามาก" โอ-อรุษ บอกเล่าเรื่องนี้ด้วยรอยยิ้ม
พร้อมเล่าว่า… หลังจากที่ได้ทุนจาก สกว. และ สสส. จึงได้จัดตั้งทีมงานขึ้น 10 คนสำหรับทำภารกิจนี้โดยเฉพาะ โดยก่อตั้ง "มูลนิธิสังคมสุขใจ" ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนโครงการสามพรานโมเดล ซึ่งแนวคิดนั้น ไม่ใช่แค่ออกไปรับซื้อผักและผลไม้จากเกษตรกรแล้วจบ แต่ต้องเข้าไปช่วยทำให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีด้วย นี่คือจุดสำคัญ เพราะต้องยอมรับว่าระบบเกษตรปัจจุบัน เกษตรกรยังเคยชินกับการใช้สารเคมีอยู่ แต่ทั้งนี้ก็เพราะ ขาดข้อมูล และทางเลือก พอทางกลุ่มเข้าไปสนับสนุน เกษตรกรก็เริ่ม ปรับวิถี โดยขณะนี้ได้เข้าไปทำงานร่วมกับเกษตรกรทั้งหมด 9 กลุ่ม ซึ่งมี แค่กลุ่มเดียวเท่านั้นที่ทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว แต่ไม่มีช่องทางการตลาด ส่วนอีก 8 กลุ่มนั้น เดิมเป็นกลุ่มที่ยังทำเกษตรแบบใช้สารเคมี สำหรับ เรื่องนี้ เขาบอกว่า… ยากและท้าทายมากในการเข้าไปเปลี่ยนวิถี จำเป็น ต้องสร้างแรงจูงใจ และต้องหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ให้ผู้ปลูกได้ พบโดยตรงกับผู้บริโภคเลย อย่างเช่นรูปแบบที่ตลาดสุขใจทำอยู่ ซึ่ง หลังจากเปิดตลาดนี้ขึ้นมา จากวันนั้นถึงวันนี้มียอดขายรวม ๆ แล้วมากกว่า 100 ล้านบาท!!!
"ตอนนี้เดือนหนึ่งมียอดขายอยู่ที่ 2-3 ล้านบาท จากร้านค้า 60ร้านที่มี ซึ่งพอรายได้ดีขึ้น คุณภาพชีวิตและด้านสังคมก็ดีตาม เพราะเมื่อเกษตรกรเห็นผลดีที่เป็นรูปธรรม ขณะนี้ก็เริ่มมีการรวมกลุ่ม เพื่อทำเกษตรอินทรีย์เยอะขึ้น สิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น เพราะไม่มีสารเคมีเข้าไปปะปนในแหล่งน้ำและดิน สุขภาพผู้คนก็ดีขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ"
ทั้งนี้ โอ-อรุษ บอกว่า ทางโรงแรมก็ได้ประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างแรกคือ ได้ผักและผลไม้อินทรีย์นำมาให้บริการลูกค้า และยังได้จุดขายใหม่ เพราะตลาดสุขใจกลายเป็นแลนด์มาร์กของสวนสามพรานในเวลาต่อมา ที่ช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการและเที่ยวชมมากขึ้น นี่ก็รวมถึงกรุ๊ปลูกค้าต่าง ๆ ที่เลือกที่นี่เป็นสถานที่จัดประชุมสัมมนา เนื่องจากสวนสามพรานเป็น "ศูนย์การเรียนรู้ที่มีชีวิต" นั่นเอง
"ตกใจครับ หลังจากมีสื่อจำนวนมากสนใจเรื่องนี้ โดยมีทั้งที่ขอเข้ามาสัมภาษณ์ มีทั้งขอเข้ามาถ่ายทำอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนทำให้สวนสามพรานมีภาพลักษณ์ใหม่ไปเลย ที่สำคัญไม่เพียงเปลี่ยนภาพลักษณ์กิจการ แต่ยังเปลี่ยนตัวผมด้วย เมื่อก่อนผมเคยทำงานบริษัท ไม่เคยมีอุดมการณ์แบบนี้เลย แต่พอมาทำเรื่องนี้ ผมพบคำตอบในชีวิตให้ตัวเอง และได้เรียนรู้โลกใบใหม่ที่ต่างจากโลก ใบเก่า ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผม แต่เปลี่ยนมุมมองพนักงานของผมกว่า 400 ชีวิตด้วย"
สำหรับเป้าหมายในปีนี้ โอ-อรุษ บอกว่า… กำลังดำเนินการ จัดทำเว็บไซต์ sookjaiorganic เพื่อเชื่อมโยงเกษตรกรกับลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยเว็บไซต์นี้จะดำเนินงานโดยการนำเกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายมาทำการอัพโหลดข้อมูลผลผลิตที่มีใส่ไว้ในเว็บไซต์ เพื่อให้ลูกค้าที่สนใจสามารถเลือกเข้าชมและสั่งซื้อได้ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะเกิดขึ้น ในปี 2559 นี้ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมให้กับตลาดสุขใจ และเป็น ช่องทางในการกระจายสินค้าอินทรีย์อีกช่องทางหนึ่งนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า กว่าจะทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้เห็นเป้าหมายเดียวกันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยอมรับว่าตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ธุรกิจอยู่ในพื้นที่ แทบไม่เคยไปเชื่อมโยงกับเกษตรกรเลย เพิ่งจะทำงานร่วมกันเมื่อไม่นานมานี้เอง จึงเป็นธรรมดาที่เกษตรกรจะไม่ไว้ใจ ไม่เปิดใจให้ในช่วงต้น แต่หลังจากแสดงให้พวกเขาได้เห็น ถึงความตั้งใจ ความจริงใจ ที่จะช่วยเหลือและสนับสนุน เกษตรกรก็เริ่มไว้ใจ และเปิดใจรับไอเดียมากขึ้น จนกลายมาเป็นความสำเร็จ ณ วันนี้
"เรื่องเกษตรอินทรีย์ จะสำเร็จได้ คนคิดต้องลงมือทำด้วย ต้องลงไปลุยกับผู้ปฏิบัติด้วย เพื่อที่จะได้ข้อมูลและรู้ปัญหาจริง ไม่ใช่สั่งแล้วปล่อย กับธุรกิจอื่นอาจทำได้ แต่ไม่ใช่เรื่องนี้ กับเรื่องนี้ต้องใช้เหงื่อและน้ำตาแลกเท่านั้นถึงจะสำเร็จ ผมดีใจที่ได้ทำ เพราะวิถีเกษตรนี้ช่วยสอนผมหลายเรื่อง ทั้งการใช้ชีวิต แนวคิด ที่สำคัญทำให้ผมอดทนและแกร่งขึ้นมาก ตอนนี้ ถึงแม้ปัญหาจะใหญ่แค่ไหน ผมก็ไม่กลัว" …เป็นอีกมุมชีวิต-แนวคิดของผู้บริหารสวนสามพราน…
นอกจากเรื่องราวจากปากของ โอ-อรุษ แล้ว ลองมาดู "ความในใจ" ของพนักงานที่ทำงานกับ "ผู้บริหารคนเก่ง" ดูบ้าง โดย ธัญญาลักษณ์ กิจบำรุง ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท สามพราน ริเวอร์ไซด์ จำกัด เล่าว่า ตั้งแต่คุณโอวางโครงการสามพรานโมเดล และเริ่มออกไปพบเกษตรกร ขณะนี้โครงการดำเนินการมาได้ 5 ปีแล้ว ตอนแรกที่มีนโยบายนี้ออกมา พนักงานไม่เข้าใจว่าคืออะไร? จนคุณโอ บอกว่า ถ้าเช่นนั้นให้พนักงานทุกคนออกไปเองเลย โดยคุณโอพาออกไปเจอชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์ และให้พนักงานลงไปพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับข้อมูลโดยตรงด้วยตนเอง จากนั้นให้พนักงานแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อเริ่มทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่สวนสามพราน เพื่อเรียนรู้ระบบทุกอย่าง ทั้งเรื่องของสภาพดิน การปลูกผัก การแก้ปัญหาเรื่องศัตรูพืช การนำผลผลิตมาขายจนพนักงานมีความรู้ และมีแรงบันดาลใจที่อยากจะช่วยทำให้โครงการนี้สำเร็จ
"คุณโอพยายามทำให้ทุกคนได้เห็นโมเดลจริง ๆ จนตอนนี้รูปแบบนี้ถูกนำไปใช้เป็นต้นแบบให้กับโรงแรมอื่น ๆ ตลอดจนองค์กรต่าง ๆ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยการให้พนักงานลงมือทำด้วยตัวเองนั้น เพื่อที่จะให้ทุกคนสามารถมองเห็นภาพนี้ร่วมกันได้อย่างชัดเจนที่สุด เมื่อเกิดความรู้จริง ก็สามารถที่จะแนะนำหรือถ่ายทอดให้คนอื่นได้ ซึ่งหลักการบริหารแบบนี้ ก็เหมือนกับการจุดระเบิดจากข้างในนั่นเอง"…เป็นเสียงจากใจ ธัญญาลักษณ์ หนึ่งในพนักงาน
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์