ปรับหลักสูตรสร้างเสริมสุขภาพ-คิดค้นนวัตกรรมช่วยคนไข้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
สสส.สภาการพยาบาล 5 สถาบันเครื่องแบบสีขาวปรับหลักสูตรสร้างเสริมสุขภาพ คิดค้นนวัตกรรมช่วยคนไข้
โลกใบนี้ต้องเปลี่ยนเชิงรุกพยาบาล 2 แสนคนในเมืองไทย สร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง สสส.จับมือสภาการพยาบาล เครื่องแบบสีขาวจาก 5 สถาบัน กว่า 500 คน ประชุมเชิงปฏิบัติการ "พัฒนาศูนย์เรียนรู้และนวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ" เปลี่ยนหลักสูตรพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ นวัตกรรมอังกะลุงสร้างสุขป้องกันการซึมเศร้าและอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ วัย 94 ปีไม่รู้ดนตรีก็เล่นได้ กลไกคลอดธรรมชาติแบบท่าแมวลดความเจ็บปวด รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขควบโฆษกฯ โปรยยาหอม พยาบาลเป็นผู้วิเศษ คือ ตัวจริงเสียงจริงผู้ผลักดันองค์กรสาธารณสุข เร่งสร้างโครงการคลินิกหมอครอบครัว
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สภาการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ 5 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาศูนย์เรียนรู้และนวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ" ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ชั้น 4 อ.ดร.สุพินดา เรืองจิรัษเฐียร คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่ พิธีกร กลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศคือนวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ ปัญหาเห็นได้จากยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ยุทธศาสตร์ของประเทศทำให้หลายภาคส่วนมีความพยายามขับเคลื่อนงานเชิงรุก เพื่อให้เกิดการบูรณาการเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร ประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต ประชาชนมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด การรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม การไม่สวมหมวกนิรภัย ประชาชนมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ไม่สวมอุปกรณ์ หน้ากาก ป้องกันขณะทำงานหรือฉีดพ่นสารเคมี การนั่งท่าเดิมเป็นเวลานานติดจอคอมพิวเตอร์
ศ.เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ ประธานคณะกรรมการโครงการขับเคลื่อนวิชาชีพพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า พยาบาลมีมากที่สุดในระบบสุขภาพ คือ 200,000 คน ส่วนใหญ่ทำงานเฉพาะหน้าด้านการรักษาดูแลทุกคนบนโลกใบนี้ การทำงานสร้างเสริมสุขภาพมีน้อย หากปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างมหาศาล สสส. จึงทำงานร่วมกับ สภาการพยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์จาก 5 มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรพยาบาลนักสร้างเสริมสุขภาพ ทดลองใช้กับนักศึกษาพยาบาล พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเฉพาะทางในพื้นที่เครือข่ายองค์กรวิชาชีพทั้ง 5 ภาคของประเทศ ขับเคลื่อน (ภาคกลางมหาวิทยาลัยมหิดล ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา ภาคอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
มีการประเมินผลและปรับปรุงก่อนนำหลักสูตรไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ และพัฒนาแนวปฏิบัติทางการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับพยาบาลในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานสร้างเสริมสุขภาพในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งถือเป็นชุดแรกของไทย พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมการพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ พิจารณาตัดสินและประกาศผลนวัตกรรมการพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพดีเด่น
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีการออกแบบชุดความรู้ Best Practice 25 ศูนย์ กระจายทั่วประเทศ เป็นศูนย์เรียนรู้การพยาบาล ทำในพื้นที่ต้นแบบมีบุคคลต้นแบบหลายคนทำงาน ได้รับความเชื่อถือเป็นบุคคลต้นแบบ เพื่อเชิญชวนศึกษาการทำงานทางด้านวิชาการ ความมุ่งมั่น การสร้างแรงบันดาลใจที่คนรุ่นหลังพึงปฏิบัติตาม การใช้บทบาทวิชาชีพกลุ่มเด็กปฐมวัย คนวัยทำงาน อาชีวอนามัย การดูแลแม่และเด็ก นมแม่ที่มีกลูโคส เด็กเข้าถึงนมแม่มากยิ่งขึ้น ให้เกิดความสำเร็จ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายครอบคลุมทั้งหมดนับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ: นโยบายสุขภาพกับการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้รับผิดชอบงานนี้ เนื่องจาก ปลัดกระทรวงฯ ติดตาม ศ.คลินิกนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปราชการที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก "สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศยากจนแต่ไม่รวยจริงเพราะการกระจายรายได้ไม่ดี รัฐบาลอยากให้มีการพัฒนาสังคม การศึกษา สาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญ ขณะนี้รัฐบาลมีความตั้งใจจะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นที่ 1 ของโลกทั้งด้านการคมนาคม สังคมเศรษฐกิจ สาธารณสุข ศึกษาดูงานจากประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะระบบสาธารณสุขและทางการแพทย์เป็นอย่างไร เราจะต้องไปถึงยุค Thailand 4.0 พยาบาลในยุค 4.0 จะต้องเป็นคนเก่ง ทำงานได้หลายด้าน ทั้งเทคโนโลยียุคนี้ทำมืออย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องผ่านกระบวนการ บูรณาการข้ามภาคส่วน อสม.4.0.ในฐานะที่ผมเป็นประธานสาธารณสุข 4.0 ให้มีกรมสุขภาพจิต 4.0 กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 โครงการคลินิกหมอครอบครัวดูแล มีทีมงานรักษา ส่งเสริม ป้องกัน ส่งผู้ป่วยต่อไปยังระดับอำเภอ ตำบล พยาบาลเป็นผู้วิเศษ ทำงานบริหารจัดการได้ทั้งหมด เป็นผู้ผลักดันองค์กรสาธารณสุข เราต้องร่วมกันทำงานในระบบสาธารณสุข การสร้างเสริมสุขภาพด้วยการใช้ประสบการณ์ทดลอง ปฏิบัติให้ดีที่สุด"
การให้บริการสาธารณสุข 100 ล้านครั้ง/ปี แนวโน้มจะมีคนไข้สูงอายุมากขึ้น คนหนุ่มสาวไม่ค่อยเจ็บป่วยเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้าผู้สูงอายุจะมีมากขึ้น 1 ใน 5 จะเป็นผู้สูงอายุ คืออายุสูงกว่า 60 ปี "อีก 5 ปี ผมก็จะเป็นผู้สูงอายุแก่หง่อมเหมือนกัน คนแก่เข้ามาใช้ระบบสาธารณสุข Day Care Center เป็นคนป่วยติดเตียงติดบ้านเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเราอย่าพูดให้คนแก่แสลงใจ เรามีผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ที่บ้าน เราจะต้องดูแลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี ภาคภูมิใจว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ใช่ถูกทอดทิ้งอยู่ในบ้าน คนแก่เหงาแล้วรู้สึกเปล่าเปลี่ยว เด็กสมัยนี้ Gen Z เล่นไลน์ทั้งวี่ทั้งวัน ความรับผิดชอบมีน้อย ผมเกิดในยุคเบบี้บูม ต่อไปในอนาคตผมสงสารตัวเองเพราะคน Gen Z จะต้องมาดูแลผม ผมไม่ค่อยทันความคิดของเด็ก Gen Z Gen Y เราจะต้องทำให้เด็กรุ่นนี้เก่ง ดี และมีวินัยที่ดี ดูแลบ้านเมืองในอนาคต เพื่อสอดคล้องกับยุค Global ไม่มีความเป็นชาติ ทำให้ประชาชนมีความรู้เรื่องสุขภาพ ครอบครัวที่มีสังคม มีชุมชนที่ดี ขณะนี้เราอยู่ในยุค 2000 ตลอดเวลา 50 ปี เราใช้ทรัพยากรจากน้ำมัน ป่าไม้ หมดภายใน 50 ปี ทั้งๆ ที่กว่าจะเป็นน้ำมัน ป่าไม้ให้เราใช้นั้นจำเป็นต้องใช้เวลานานเป็นพันล้านปี เราต้องช่วยกันสร้างความสมดุลในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสใช้และมีสุขภาพที่ดี วันนี้ขอเปิดประชุมสัมมนาเพื่อช่วยกันสร้างเสริมสุขภาพให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี" หลังจากนั้นเปิดนิทรรศการศูนย์เรียนรู้และนวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ
พบตัวอย่างนวัตกรรมพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ อาทิ PSU Cat ท่าคลอดลดความเจ็บปวด และผ่อนคลายด้วยบทเพลงจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดนตรีสร้างสุขด้วยอังกะลุง ป้องกันโรคสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่ากว้าง จ.เชียงใหม่ ชฎารัตน์ เกื้อสุข พยาบาลวิชาชีพชาวเมืองสารภี เชียงใหม่ สะใภ้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ชาวพัทลุง เล่าว่า เป็นพยาบาลที่ชอบดนตรี เคยเล่นอังกะลุงสมัยเป็นนักเรียน จึงคิดสัญลักษณ์มือแทนตัวโน้ต 7 ตัว ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเล่นดนตรีได้ เพียงแต่ดูคอนดักเตอร์ให้จังหวะพร้อมสัญญาณแล้วเขย่าตามสัญลักษณ์ ชุดอังกะลุงนี้ผลิตจากไม้ไผ่ที่มีเสียงทุ้ม กลาง แหลม ชุดหนึ่งมี 20 ตัว เล่นครบทั้งวง 20 คน ผู้สูงอายุวัย 94 ปี ชื่อ ชุ่ม พรหมจักร นั่งรถมอเตอร์ไซค์มาเล่นอังกะลุงด้วยเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อน้อมรำลึกถึงรัชกาลที่ 9 เพลงลอยกระทง ลาวจ้อย (เพลงทางเหนือ)
ศูนย์พึ่งได้ เครือข่ายดูแลผู้ถูกกระทำความรุนแรง โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น โปรแกรมการฝึกอบรมการดูแลตนเองในผู้ป่วยฟอกไตทางหน้าท้อง โรงพยาบาลชลบุรี การสร้างเสริมสุขภาพผู้ป่วยที่มีออส โตมี่และแผล โรงพยาบาลศิริราช การป้องกันแผลกดทับบริเวณหูในผู้ป่วยที่ใส่ท่อหายใจที่ต้องผูกยึดท่อช่วยหายใจในหอผู้ป่วย ICU โดยใช้แผ่นยางธรรมชาติแปะหู การใช้กล่องเก็บนมแม่แช่แข็งช่วยรักษาอุณหภูมิของนมแม่ขณะเปิดตู้เย็น ป้องกันการปนเปื้อนเมื่อต้องใช้ถุงนมของทารกหลายคน สามารถนำนมแม่เก่ามาใช้ก่อนนมใหม่ได้ เพื่อใช้ในหอผู้ป่วยเด็กแรกเกิด โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และมีนวัตกรรมจากทุกภูมิภาคของประเทศอีกกว่า 20 นวัตกรรม
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย บรรยายเรื่องการพัฒนาศักยภาพพยาบาลเพื่อคุณภาพการสร้างเสริมสุขภาพ รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพประชาชนถือเป็นบทบาทและภารกิจสำคัญของวิชาชีพการพยาบาล จึงสนับสนุนให้พยาบาลมีสมรรถนะในการปฏิบัติบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงตายอย่างสงบ โดยร่วมมือกับ สสส.และสถาบันอุดมศึกษาสนับสนุนให้พยาบาลมีสมรรถนะในการปฏิบัติบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล และการปรับระบบบริการสุขภาพ การผลักดันให้สถาบันการศึกษาพัฒนาหลักสูตรการสร้างเสริมสุขภาพที่ตอบสนองต่อการพัฒนาสมรรถนะและบทบาทของพยาบาลในการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งนี้ต้องประสานความร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง