‘ปรับพฤติกรรมใช้ยา’ ลดเสี่ยงเชื้อดื้อยา
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลกมากกว่า 7 แสนราย หากไม่มีมาตรการจัดการที่เร่งด่วน เข้มงวดและชัดเจนคาดว่าในปี พ.ศ.2593 อาจมีผู้เสียชีวิตสูงกว่า 10 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวน ผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เบาหวาน และอุบัติเหตุ
เมื่อไม่นานมานี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.)จัดงาน "สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรียประจำปี 2559" เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักถึงสถานการณ์เชื้อดื้อยาอย่างต่อเนื่อง
นพ.ดร.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ซึ่งมากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุการขนส่ง ทั้งยังส่งผลให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อดื้อยาต้องอยู่ในโรงพยาบาลโดยรวมนานขึ้น 3.24 ล้านวัน หรือเฉลี่ยคนละ 24-46 วัน สาเหตุที่ทำให้คนไทยมีผู้ป่วยเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นมาจากพฤติกรรมการใช้ยา ปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุสมผล
รองผู้จัดการ สสส.ยังกล่าวอีกว่า เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาระดับโลกการจะสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องการใช้ยาให้แก่ประชาชนเป็นเรื่องที่มีความท้าทาย สสส.จึงสนับสนุนให้จัดตั้ง ศูนย์วิชาการเฝ้าระวัง และพัฒนาระบบยาหรือกพย.เพื่อสร้างระบบเฝ้าระวังการดำเนินงานตามนโยบายแห่งชาติด้านยาและยุทธศาสตร์พัฒนาระบบยาแห่งชาติ ด้วยการผนึกกำลังภาคีเครือข่ายทำหน้าที่เป็นกลไกเฝ้าระวังระบบยาแบบครบวงจรสะท้อนสภาพปัญหาจากพื้นที่พร้อมทั้งจัดการความรู้อย่างต่อเนื่องให้แก่ประชาชน
"สำหรับการจัดงานสัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรียเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานอย่างต่อเนื่องของ กพย.และภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างความรู้ เผยแพร่ข้อเท็จจริงของอันตรายในการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นนำไปสู่เชื้อดื้อยาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้ประชาชนตลอดจนบุคลากรด้านสุขภาพตระหนัก รับรู้ และร่วมกันหยุดใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น" นพ.ดร.บัณฑิต กล่าว
รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลเด็ก เล่าถึงประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อดื้อยาว่า ผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นเด็ก ชายอายุ 7 ปี ถูกส่งมาที่โรงพยาบาลเด็กด้วยอาการไข้ไม่สูงหายใจเร็ว มาประมาณ 11 วัน ไม่มีโรคประจำตัว แต่เมื่อซักประวัติพบว่าเด็กได้รับยาปฏิชีวนะ 38 ครั้งมาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ทำให้ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล เกือบ1 ล้านบาท การได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น เมื่อเด็กป่วยอีกครั้ง ทำให้ไม่สามารถใช้ยาแบบเดิมในการรักษาได้อีกเนื่องจากร่างกายมีเชื้อดื้อยา ในการรักษาจึงต้องเปลี่ยนตัวยาใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อร่างกาย และหากไม่มียาใดต้านแบคทีเรียได้ก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต
"ตัวอย่างดังกล่าว เป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนให้เห็นอันตรายของเชื้อดื้อยาได้ชัดเจน เราสามารถป้องกันความเสี่ยงในการเป็นเชื้อดื้อยาได้จากการปรับพฤติกรรมหยุดใช้ยาเกินความจำเป็นรวมถึง การควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลในกลุ่ม วิชาชีพแพทย์อีกด้วย" รศ.พญ.วารุณี กล่าว
มาที่ ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ประธานคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) อธิบายว่า การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียนั้นเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียมากจนเกินไป ทำให้เชื้อแบคทีเรียมีการปรับตัวและพัฒนาตัวเองขึ้นจนกลายเป็น ซูเปอร์บัค(Super Bug) ที่ดื้อต่อยาและหายารักษาได้ยาก จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในที่สุดปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังคงสั่งยาต้านแบคทีเรียให้กับ 3 โรคที่รักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะได้แก่ 1. โรคหวัด ไอ เจ็บคอจากไวรัส 2. ท้องร่วงและอาหารเป็นพิษและ 3. บาดแผลทั่วไปทำให้ประชาชนมีความเชื่อที่ผิดว่าโรคเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาแก้อักเสบ
"ทั้งนี้ โรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียการรักษาที่ดีที่สุดคือ การพักผ่อนให้เพียงพอ จะทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วด้านโรคท้องเสีย ร้อยละ 99 เกิดจากไวรัสหรืออาหารเป็นพิษหากมีไข้หรืออุจจาระปนเลือดควรไปพบแพทย์ดีที่สุด สำหรับบาดแผลเลือดออก การใช้ยาปฏิชีวนะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และไม่ได้ทำให้แผลหายเร็วขึ้น ยกเว้นแผลที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก หรือแผลในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควรพบแพทย์เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง"ผศ.นพ.พิสนธิ์ ทิ้งท้าย