ประชาคมชุมชนปลอดภัย วาระชุมชนจัดการตนเอง
องค์การบริหารส่วนตำบลปรือจับมือเทศบาลนิคมปราสาท จังหวัดสุรินทร์ จับมือร่วมกันจัดเวทีประชาคมเตรียมรับสถานการณ์เพื่อความปลอดภัยของชาวชุมชนของตน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตอบสนองยุทธศาสตร์ 3 ลด ลดเหล้า ลดอุบัติเหตุ ลดความรุนแรง ที่จังหวัดสุรินทร์ประกาศเป็นวาระจังหวัดไปแล้ว
นายศักดา เชื้ออินทร์ ประธานประชาสังคมสุรินทร์สร้างสุข กล่าวหลังร่วมประชุมที่ห้องประชุมเทศบาลนิคมปราสาท อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ว่า สืบเนื่องมาจากช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ประชาสังคมสุรินทร์สร้างสุขมุ่งเป้าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สุรินทร์ 3 ลด ลดเหล้า ลดอุบัติเหตุ และ ลดความรุนแรง ไปที่การลดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน โดยยึดพื้นที่ตามแนวถนนสาย 24 ช่วงที่ผ่านจังหวัดสุรินทร์ เป็นหลัก ซึ่งครอบคลุมชุมชนที่อยู่ในเส้นทาง 13 ตำบล/เทศบาล และดำเนินการบนพื้นฐานความเชื่อว่า ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนจัดการตนเอง จะสามารถจัดการความปลอดภัยในชุมชนได้
ทั้งนี้ หลังสรุปบทเรียนช่วงปีใหม่ไปแล้ว ก็มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ควรพัฒนารูปแบบและดำเนินการต่อเนื่องถึงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ โดยแต่ละตำบล/เทศบาล จะจัดเวทีประชาคมเพื่อหาฉันทามติ ข้อตกลง และกติกาชุมชน แล้วพัฒนาออกมาเป็นแผนชุมชนปลอดภัยไปบูรณาการกับแผนพัฒนาขององค์กรปกครองท้องถิ่นต่อไป
องค์การบริหารส่วนตำบลปรือ อำเภอปราสาท และ เทศบาลนิคมปราสาท เป็นกลุ่มแรกที่เดินตามแนวทางนี้ ได้ระดมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาปรึกษาหารือกัน ประกอบด้วย คณะเทศมนตรีเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาล ประธานกรรมการชุมชน โรงเรียน วิทยาลัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชมรม สมาคม ผู้ประกอบการ ตำรวจประเด็นที่เรียนรู้ร่วมกันได้แก่ การทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมาและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงการพิจารณาหาฉันทามติเรื่องสำคัญร่วมกัน เช่น ประเด็นการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน ประเด็นถนนแคบ ประเด็นบทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล ฯลฯ ซึ่งจะได้นำไปจัดทำแผนชุมชนเพื่อจัดการความปลอดภัยของชุมชน และประสานนโยบายกับส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
นางวิภาวรรณ ธีระวงศ์ไพศาล นายกเทศมนตรีเทศบาลนิคมปราสาท กล่าวว่า ปัญหารถบรรทุกอ้อย เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดแก้ไข การจัดประชาคมเป็นโอกาสดีที่ได้หยิบประเด็นปัญหามาคุยกันกับผู้ประการโรงงาน เช่น เรื่องการบรรจุล้นกระบะบรรทุก เรื่องอ้อยตกหล่น เรื่องรถอ้อยจอดรอ เรื่องรถติดตรงทางแยกเข้าโรงงาน ฯลฯ คงจะได้นำไปสู่การแก้ไขเพื่อความปลอดภัยของสังคมส่วนรวมต่อไป
ทางด้าน นายบำรุง เป็นสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าอีสานล่าง เสนอว่า ในแนวทางการจัดการความปลอดภัยโดยชุมชนอย่างยั่งยืนซึ่งนำมาใช้ในการรณรงค์ลดเหล้า ลดอุบัติเหตุ ลดความรุนแรง ของประชาคมถนนสาย 24 นั้น ควรประกอบด้วย การศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น วามเสี่ยงต่างๆ ทั้งเรื่องของคน รถ ถนน การพิจารณาจุดอ่อนจุดแข็งของการดำเนินการในเรื่องการบังคับใช้กฏหมาย การศึกษาและประชาสัมพันธ์ การวิศวกรรมจราจร ฯลฯ
“หัวใจสำคัญที่จะเกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนให้ลุกขึ้นมาจัดการกับเรื่องของตัวเองและชุมชนของตัว ก็คือ การจัดเวทีประชาคมที่นำไปสู่การจัดทำแผนชุมชนปลอดภัย และร่วมกันขับเคลื่อนโดยใช้ แผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการเป็นเครื่องมือ รวมถึงการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสร้างสุขที่ดีงามในชุมชน ในโอกาสวันปีใหม่ไทย วันครอบครัว วันผู้สูงอายุ ฯลฯ ก็จะช่วยตรึงผู้คนไว้ไม่ให้ออกไปเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ซึ่งหากปฏิบัติการและเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ก็จะเห็นวิธีการจัดการความปลอดภัยของชุมชนที่เกิดจากความคิดร่วมของชาวชุมชน ซึ่งจะยกระดับขึ้นไปเป็นลำดับ” นายบำรุง กล่าว
ที่มา: สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภาคอีสานตอนล่าง