ประกาศใช้แล้ว ‘สิทธิการตาย’ ผู้ป่วยเลือกได้!

นับเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจไม่น้อยภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเห็นชอบประกาศสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2553  โดยประกาศดังกล่าวเป็นกฎกระทรวงเพิ่มเติมจาก มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นสิทธิความเป็นมนุษย์ในการปฏิเสธการรักษาที่ทุกคนสามารถร้องขอได้ เพียงแต่ไม่ได้เป็นการบังคับ เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่20 พ.ค. 54 ที่ผ่านมา

หลังจากสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวเรื่องนี้ออกไปแล้วเมื่อนำข้อมูลของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 มาตรวจดูในเบื้องต้นจะพบว่า เป็นการใช้สิทธิของผู้ป่วย ที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต สามารถแสดงความประสงค์ที่จะไม่รับบริการทางการแพทย์ เช่น การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นไปเพื่อยืดความเจ็บป่วยทรมานโดยไม่จำเป็น  นอกจากนี้บุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยที่มีสติสัมปชัญญะดี สามารถทำหนังสือแสดงเจตนาตามมาตรา 12 ได้ด้วยตนเอง แต่ต้องปรึกษาหารือกับแพทย์ พยาบาลที่มีความเข้าใจเรื่องนี้ ในกรณีผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า18 ปีนั้น ต้องให้พ่อ แม่ ผู้ปกครองหรือญาติที่ให้การดูแลมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือกับแพทย์

สำหรับผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาต้องแจ้งให้คนในครอบครัว ญาติมิตร คนใกล้ชิดรับทราบเรื่องการทำหนังสือดังกล่าว โดยแพทย์ พยาบาลต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคหรือสภาพของผู้ป่วยแก่ผู้ป่วยหรือญาติตามความเป็นจริง ไม่ควรปิดบังข้อมูลใด ๆ ให้คำนึงถึงช่วงเวลาและจังหวะที่เหมาะสม

ขณะเดียวกันสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลควรจัดทำแบบฟอร์มหนังสือแสดงเจตนา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการทำหนังสือแสดงเจตนา ทั้งนี้แพทย์ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย เพราะทำด้วยเจตนาดี ตามความประสงค์ของผู้ป่วย และกฎหมายสุขภาพแห่งชาติให้ความคุ้มครองไว้

ส่วนความเป็นมาและความสำคัญของหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาตินั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยที่ทำหนังสือแสดงเจตนาสามารถปฏิเสธการรักษาที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต เช่น ผู้ป่วยที่มีสภาพฟื้นไม่ได้ตายไม่ลง มีชีวิตอยู่ด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์, รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องทุกข์ทรมานจากโรคบางโรคในระยะยาวโดยไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้, ผู้ป่วยมีอาการทรุดหนักลงเรื่อยๆ การรักษาบางวิธีการอาจเป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วย อีกทั้งยังกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากโดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ นอกจากนั้น ยังเป็นภาระต่อระบบบริการสาธารณสุขของประเทศโดยรวม

อย่างไรก็ดี แพทย์ พยาบาลหรือผู้เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนานี้ มิได้ละทิ้งผู้ป่วยแต่อย่างใด ยังให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อระงับความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน หรือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย

ขณะเดียวกัน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวเสริมถึงเรื่องนี้ว่า การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขนี้เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ. 2553 โดยประกาศดังกล่าวเป็นกฎกระทรวงเพิ่มเติมจากมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ  ซึ่งเป็นสิทธิความเป็นมนุษย์ในการปฏิเสธการรักษาที่ทุกคนสามารถร้องขอได้ เพียงแต่ไม่ได้เป็นการบังคับ

“ประกาศดังกล่าว เป็นเพียงแนวทาง หรือวิธีการในการขอใช้สิทธิที่ถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านความเห็นชอบจาก คสช. ได้ดำเนินการในขั้นตอนการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลให้ผู้ป่วยหรือบุคคลทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ สามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 54 ทั้งหมดเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่สามารถบังคับได้” นพ.อำพล กล่าว

กรณีของการแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ไม่ได้จำกัดแค่การเขียนหนังสือ หรือยึดตามแบบฟอร์ม  2 แบบที่ สช. ทำตัวอย่างมาให้ดู แต่บางคนอาจจะอัดวิดีโอ หรืออาจแสดงเจตนาโดยวาจาก็ได้ เช่น กรณีของนักร้องลูกทุ่งชื่อดังเมืองไทยที่แสดงเจตนาว่าจะไม่ขอรับการรักษาไว้ล่วงหน้ากับญาติ ซึ่งแพทย์ และพยาบาลก็เคารพและปฏิบัติตามเจตนาดังกล่าว แต่หากบันทึกเป็นหนังสือไว้ก็จะทำให้มีหลักฐานยืนยันชัดเจน แพทย์ พยาบาลก็จะสบายใจ เพราะเจ้าของชีวิตได้เขียนเอาไว้ด้วยตัวเองแล้ว

นพ.อำพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ เอกชน และโรงเรียนแพทย์ให้เข้าใจถึงการปฏิบัติตามแนวทางที่ประกาศใช้แล้ว โดยมีการผลิตคู่มือผู้ให้บริการ กฎหมาย และแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การจัดอบรมและประชุมทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีเรื่องนี้ออกมาปรากฏว่ามีผู้ใหญ่หลายท่าน ให้ความสนใจ บางท่านก็เขียนหนังสือแสดงเจตนาไปแล้ว รวมทั้งตัวผมด้วย.

สิทธิในวาระสุดท้าย

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หมวดที่ 1 สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพมาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนา ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง

ทั้งนี้หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ http://www.nationalhealth.or.th หรือเว็บไซต์ http://www.thailivingwill.in.th

หมายเหตุ หนังสือแสดงเจตนาฯ นี้เป็นเพียงตัวอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสงค์จะทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขฯ ทั้งนี้ผู้แสดงเจตนาฯสามารถนำไปปรับปรุงให้ตรงกับเจตนาของตนได้

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code