ปภ. แนะวิธีการขับรถในช่วงฤดูฝน

ระวัง! แอ่งน้ำบนผิวถนน

ปภ. แนะวิธีการขับรถในช่วงฤดูฝน 

กระทรวงมหาดไทย  โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  แนะวิธีขับรถผ่านเส้นทางโคลน โดยผู้ขับขี่  ควรหยุดประเมินสภาพเส้นทาง และเลือกวิ่งในเส้นทางที่ตื้น เคลื่อนตัวโดยรักษาความเร็วให้สม่ำเสมอ บังคับพวงมาลัยให้อยู่บนเส้นทางเดิม  ไม่ควรเปิดเส้นทางใหม่โดยไม่จำเป็น กรณีขับแล้วรู้สึกหนืด ให้ขยับพวงมาลัยไปมาอย่างช้าๆ  เพื่อให้ล้อเกาะพื้นดินใหม่ จะช่วยให้รถเคลื่อนที่ได้  แต่ห้ามหมุนล้อเร็วเกินไป  เพราะทำให้ระบบบังคับเลี้ยวพัง 

 

นายอนุชา  โมกขะเวส  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  เปิดเผยว่า การขับรถในช่วงฤดูฝน ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากในช่วงที่ฝนตกใหม่ๆ น้ำฝนจะผสมกับขี้ฝุ่น กลายสภาพเป็นดินโคลนบางๆ ฉาบผิวหน้าถนน  ทำให้ถนนลื่นกว่าปกติ  โดยเฉพาะถนนที่เป็นลูกรังหรือทางดิน หากฝนตกหนัก จะเปลี่ยนสภาพเป็นบ่อโคลน  ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น

 

 เพื่อความปลอดภัย ผู้ขับขี่ควรปฏิบัติ  ดังนี้  การเตรียมพร้อมก่อนเดินทาง  ศึกษาสภาพเส้นทาง  เตรียมรถให้พร้อมใช้งานทั้งระบบสัญญาณไฟ อุปกรณ์ปัดน้ำฝน  ระบบเบรก สภาพยางรถยนต์ต้องเหมาะสมกับสภาพถนน  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่  การขับรถบนทางโคลน ควรเลือกใช้ยางแบบดอกใหญ่  เพื่อให้ยางสะบัดโคลนออกจากล้อได้ง่าย  และควรหยุดรถประเมินสภาพเส้นทาง และเลือกวิ่งในเส้นทางที่ตื้น เคลื่อนตัวโดยรักษาความเร็วให้สม่ำเสมอ  บังคับพวงมาลัยให้อยู่บนเส้นทางเดิม  ไม่ควรเปิดเส้นทางใหม่โดยไม่จำเป็น เนื่องจากสภาพพื้นดินในเส้นทางเดิมจะถูกบีบอัดจนแน่น ทำให้การขับขี่เป็นไปอย่างสะดวก  กรณีขับแล้วรู้สึกหนืด  ให้ขยับพวงมาลัยไปมาอย่างช้าๆ  เพื่อให้ล้อเกาะพื้นดินใหม่ จะช่วยให้รถเคลื่อนที่ได้  แต่ห้ามหมุนล้อเร็วเกินไป  เพราะทำให้ระบบบังคับเลี้ยวพัง  กรณีรถเคลื่อนตัวไม่ได้ ให้ใช้เกียร์ ๑ พร้อมเหยียบคันเร่งเป็นจังหวะ จะช่วยให้ล้อไม่ปั่นฟรี และควบคุมรถได้ง่ายขึ้น  หากรถไม่เคลื่อนที่ ให้เหยียบคันเร่งเบาๆ หรือเร่งเป็นจังหวะ แต่ถ้าเป็นโคลนเละมากๆ ให้ใช้เกียร์ ๒ จะทำให้ความเร็วของล้อเพิ่มมากขึ้น ห้ามขับลงบ่อโคลนหรือบ่อน้ำอย่างแรง  เพราะโคลนอาจเข้าไปอุดตันในเครื่องยนต์ รังผึ้งหม้อน้ำ  ทำให้ไม่สามารถระบายความร้อนของเครื่องยนต์ได้  เมื่อขับผ่านถนนที่เป็นโคลนแล้ว ให้ทำความสะอาด ผ้าเบรก และวงกระทะล้อ ซึ่งอาจทำให้ล้อหมุนไม่สมดุล หรือเกิดอาการสั่นในขณะวิ่งได้  กรณีรถจมโคลนหรือติดหล่ม  ไม่ควรเร่งเครื่องยนต์ เพราะจะทำให้ล้อจมลึกมากขึ้น ให้ใช้ก้อนอิฐหรือเศษไม้มาวางด้านหน้ายางรถยนต์  โดยเฉพาะล้อหลัง  จะช่วยให้ยางยึดเกาะพื้นถนนจนเคลื่อนออกจากหลุมได้ หรือใช้รถที่มีกำลังสูงกว่ามาลากจูง

 

 การขับรถบนเนินเขาชัน ควรเลือกใช้รถให้เหมาะสมกับสภาพถนน โดยเฉพาะเส้นทางที่มีความลาดชันและลื่นมาก  ควรขับเป็นแนวตรง  ไม่ควรขับเป็นแนวทแยง  เพราะเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำสูง  อีกทั้งควรใช้เกียร์ต่ำ เพื่อช่วยลดกำลังเครื่องยนต์ในการขับลงจากเขา  การขับรถข้ามสิ่งกีดขวาง  ผู้ขับขี่ควรจับพวงมาลัยให้มั่นและบังคับไปในทิศทางเป็นมุมเฉียงกับสิ่งกีดขวาง  และข้ามทีละล้ออย่างช้าๆ  โดยเลือกข้ามในมุมหรือขอบของสิ่งกีดขวาง  ใช้เกียร์ต่ำในการขับเคลื่อน  พร้อมกับพยายามเร่งเครื่องและเบรกเป็นจังหวะ เพื่อลดแรงกระแทกระหว่างล้อกับพื้นถนน พร้อมทั้งจับพวงมาลัยให้มั่น เพื่อป้องกันพวงมาลัยสะบัด ที่สำคัญ ไม่ควรขับข้ามสิ่งกีดขวางไปตรงๆ ตามแนวยาวของตัวรถ เพราะอาจทำให้ช่วงล่างเสียหาย

 

ปภ. เตือนระวัง!!!แอ่งน้ำบนผิวถนน

 

การขับรถผ่านสภาพถนนที่มีน้ำท่วมขัง  เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รถเกิดอาการเหินน้ำ (hydroplaning) ในลักษณะที่ล้อรถวิ่งอยู่ผิวน้ำแทนที่จะเกาะอยู่บนพื้นผิวถนน  จนรถเกิดอาการล้อฟรี  ไม่สามารถควบคุมทิศทางรถได้  จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ขอแนะวิธีป้องกันรถเหินน้ำ  ดังนี้

 

ก่อนขับขี่  ควรตรวจสอบสภาพยางอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนควรเติมลมยางให้มีค่ามากกว่าปกติประมาณ ๒ ๓ ปอนด์  เพื่อให้หน้ายางแข็งและมีกำลังในการรีดน้ำดีขึ้น  กรณีดอกยางสึก  ควรเปลี่ยนยางใหม่โดยเลือกใช้ยางที่มีดอกยางละเอียด  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนนและการหยุดรถ  รวมถึงหมั่นตรวจสอบระบบเบรก  หรือหากเบรกแล้วรถมีอาการปัด  ควรจัดการเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ทันที

 

ขณะขับขี่  หากต้องขับผ่านเส้นทางที่มีน้ำท่วมขังริมถนน  ผู้ขับขี่ควรเพิ่มความระมัดระวัง  ไม่ขับรถด้วยความเร็วสูง เพราะจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้รถเกิดอาการเหินน้ำมากขึ้น

 

กรณีรถเกิดอาการเหินน้ำ  ควรแก้ไขสถานการณ์โดยพยายามควบคุมพวงมาลัยให้มั่นคง ลดความเร็ว  โดยผ่อนคันเร่ง และใช้เกียร์ต่ำรอจนกว่ารถจะทรงตัวได้ จึงค่อยเหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ  ที่สำคัญ  ห้ามเหยียบเบรกในทันทีที่รถเกิดอาการเหินน้ำ  เพราะจะทำให้ล้อล๊อคจนรถพลิกคว่ำได้ 

 

กรณีขับผ่านแอ่งน้ำหรือหลุมบ่อที่มีความลึกกว่าปกติ  ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ จับพวงมาลัยให้มั่น  ลดความเร็วรถลงและควบคุมรถไปในทิศทางใดทางหนึ่ง  เพื่อลดแรงกระแทกของแอ่งน้ำบนถนนกับล้อรถ  ควรแตะเบรกก่อนถึงแอ่งน้ำ  เพื่อชะลอความเร็วรถ  ซึ่งหากเบรกบริเวณแอ่งน้ำพอดีรถจะเกิดอาการหมุนหรือปัด  ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

 

การขับรถผ่านเส้นทางที่มีน้ำท่วมขังหรือแอ่งน้ำมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากรถเหินน้ำ  การเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหากรณีเกิดรถเหินน้ำจะช่วยลดอันตรายและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้

 

 

 

 

 

 

ที่มา: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย   กระทรวงมหาดไทย

 

 

 

update: 24-09-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: อัญณิกา กฤษสมัย

 

Shares:
QR Code :
QR Code