ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ความรู้สำหรับครอบครัว
กระแสวิ่งกำลังมาแรงตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น คนทำงาน และผู้สูงอายุ ก็นิยมกันมากขึ้น แต่บางคนอาจยังไม่รู้ว่าการเตรียมตัวที่ดี โดยเฉพาะการวอร์มอัพร่างกาย เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตัวเราออกกำลังกายได้ดีขึ้น และลดอาการบาดเจ็บ หรืออุบัติเหตุในขณะออกกำลังกายได้ ในทางกลับกัน หากใครไม่สามารถหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว หรือพบเห็นบุคคลที่ได้รับอุบัติเหตุ ก็ควรจะรู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่จะช่วยลดความรุนแรงจากอาการบาดเจ็บเหล่านั้น ก่อนส่งต่อให้แพทย์ช่วยเหลือและรักษาได้ง่ายขึ้น
ในโอกาสที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และภาคีเครือข่ายสุขภาพ กำลังจะจัดงาน “เดิน-วิ่งสู่ชีวิตใหม่ ไทย เฮลธ์ เดย์ รัน 2014” ครั้งที่ 3 (Thai health Day run 2014) ในวันอาทิตย์ที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5 ได้จัดการบรรยายประกอบการสาธิต เรื่อง “แนวทางการกู้ชีพฉุกเฉิน” ขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน
นายนารอน แสนทวีผล นักพยาบาลวิชาชีพ จากศูนย์บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. (ศูนย์เอราวัณ) บอกเล่าประสบการณ์ว่า ในชีวิตประจำวันเมื่อเราเจอผู้ประสบเหตุโดยที่ไม่คาดคิด ทุกคนมักตกใจ แม้แต่ตนเองซึ่งทำงานช่วยเหลือสังคมมา 20 ปี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีอาการตื่นเต้นอยู่เช่นกัน ซึ่งเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ ในอดีตที่ผ่านมามักจะเน้นการนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด แต่บางครั้งการช่วยเหลือที่ไม่ถูกต้องก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บาดเจ็บได้เช่นกัน
นักพยาบาลวิชาชีพจาก กทม.อธิบายต่อว่า เมื่อประสบเหตุฉุกเฉิน เบื้องต้นต้องปฏิบัติดังนี้ ประการแรกคือ ต้องควบคุมสติให้ได้ อย่าตื่นกลัวจนทำอะไรไม่ถูก ข้อสองต้องเน้นตัวผู้ที่ช่วยเหลือต้องปลอดภัยก่อน เช่น กรณีช่วยคนถูกไฟชอร์ต ซึ่งต้องระวังอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำซ้อนได้ และข้อสาม กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินต้องนึกถึงเบอร์สายด่วน 191 หรือ 1646 ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ ให้แจ้งที่ 1669 ซึ่งจะเป็นเบอร์กลางที่จะประสานไปยังหน่วยงานช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องได้
ส่วนกรณีการเกิดเหตุระหว่างการวิ่งทั่วไปหรือวิ่งมาราธอนนั้น นายนารอนบอกว่า พบไม่บ่อยนัก เพราะส่วนใหญ่นักวิ่งมักจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี และเตรียมร่างกายมาก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เช่น ผู้สูงอายุวิ่งไปแล้วเกิดอาการแน่นหน้าอกหรือหมดสติ ผู้ที่ประสบเหตุจะต้องมีสติ ไม่ตกใจจนเกินไป จากนั้นให้สอบถามดูอาการว่าผู้ป่วยยังมีสติอยู่หรือไม่ หากหมดสติให้รีบโทร.ไปที่เบอร์สายด่วนเพื่อเรียกรถพยาบาล
จากนั้นให้ทำตามคำแนะนำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ทางโทรศัพท์ เช่น การปั๊มหัวใจโดยให้วางมือที่กระดูกหน้าอกคนไข้ กดลึกประมาณ 2 นิ้ว และปล่อยให้สุด ปั๊มเป็นจังหวะต่อเนื่องกันอย่างน้อย 100 ครั้งใน 1 นาที ทำไปเรื่อยๆ อย่าหยุด จนกว่าคนไข้จะได้สติกลับคืนมา หรือจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง
ด้านเวทีเสวนาเรื่อง “จัดงานวิ่งอย่างไรให้ได้มาตรฐานและสร้างความสุขแก่นักวิ่ง” โดย พ.ต.ท.ประชา เนียมสุวรรณ รอง ผกก.จร.สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง บอกเล่าภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้อยู่เบื้องหลังความปลอดภัยของนักวิ่งมาราธอน ว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่หากมีการจัดงานวิ่งในเมือง มักจะมีปัญหากับผู้ที่ใช้รถใช้ถนนบ้าง แต่ถ้าเราวางแผนประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนจัดงาน โดยบอกให้เขารู้ว่าจะเลี่ยงไปใช้เส้นทางใดได้บ้าง เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะลดลงไปได้
ขณะที่ผู้ที่จะมาร่วมกิจกรรมไม่ควรนำของมีค่าต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องประดับติดตัวมาด้วย ที่สำคัญไม่ควรเก็บเอาไว้ในรถ เพราะกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอที่จะไปดูแลรถทุกคันได้ นอกจากนี้ระหว่างการวิ่งควรสังเกตการให้สัญญาณจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อความปลอดภัย เช่น การหยุดให้รถได้ผ่านไปก่อน เป็นต้น
ด้านนายกำธร นทีธนสาร นักวิ่งมาราธอน ในฐานะผู้จัดทำเว็บไซต์เรื่องวิ่งเรื่องกล้วย บอกว่า การจัดงานวิ่งมาราธอนให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขนั้น จากการประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมงานวิ่งมาราธอนในต่างประเทศพบว่า แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนการแข่งขัน เริ่มจากระบบการรับสมัครเข้าใจง่าย สถานที่รับของสะดวกรวดเร็ว
ขณะที่ช่วงระหว่างการแข่งขันจะต้องปิดการจราจรได้จริง มีบริการน้ำเย็นหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ตามจุดต่างๆ การจำกัดจำนวนนักวิ่งเท่าที่จัดการได้ การทำป้ายบอกระยะทางที่ถูกต้องชัดเจน รวมถึงต้องมีห้องน้ำเพียงพอ ส่วนช่วงหลังการแข่งขันจะต้องมีอาหารไว้สำหรับคนที่เข้าเส้นชัย และต้องไม่ใช้โฟมใส่อาหาร เป็นต้น เพราะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และหากปล่อยทิ้งไว้จะทำลายภาพของนักวิ่งที่ทำกิจกรรมแบบอนุรักษ์ธรรมชาติ
หากทุกคนรับทราบหลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ ก็เชื่อว่าจะช่วยชีวิตและอาการบาดเจ็บของผู้คนในสังคมได้มากขึ้น.
เดินเปลี่ยนชีวิต
เทคนิคการดูแลสุขภาพง่ายๆ ที่ทำได้ทุกเวลา เพื่อให้สุขภาพร่ายกายดีขึ้น เริ่มต้นได้ด้วยการ “เดิน” และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระหว่างวันเพียงเล็กน้อยในแต่ละวัน ก็เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิตแน่นอน
เริ่มต้นหลังตื่นนอน ควรยืดเส้นยืดสายบนที่นอน ไม่ว่าจะก้มแตะปลายเท้าหรือบิดขี้เกียจ เพื่อยืดเส้นยืดสายกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น หรือถ้าใครพอมีเวลาสัก 15 นาที ให้ออกไปเดินเบาๆ เรียกเหงื่อ หรือวิ่งเลยก็ได้ เพิ่มความสดชื่นก่อนอาบน้ำไปทำงาน
ที่สำคัญต้องไม่ลืมมื้อเช้าดีๆ ที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ที่จะช่วยเติมพลังให้มีแรงทำงานตลอดวัน ระหว่างทำงานอย่าลืมจัดท่านั่งให้เหมาะสมสำหรับการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ โดยสามารถหาหมอนรองหลังขณะนั่ง ให้หลังรู้สึกตรงตลอดเวลา
และพยายามหาเวลาลุกขึ้นเดินทุกๆ ครึ่งชั่วโมง เปลี่ยนอิริยาบถ เดินขึ้น-ลงอาคารแทนการใช้ลิฟต์โดยสาร หรือเดินไปถ่ายเอกสาร เดินไปเข้าห้องน้ำ หรือถ้าอยากเพิ่มความปลอดโปร่งให้สมองแล่น อาจสละเวลาสัก 5-10 นาที ออกไปเดินเร็วๆ สัก 10-20 รอบ หรือหากหิวอาจเติมพลังด้วยอาหารที่มีประโยชน์ แต่แคลอรีน้อย อาทิ ผลไม้ หรือของกินเล่นตระกูลถั่ว เพื่อสร้างความกระฉับกระเฉงและมีแรงในการประกอบอาชีพ
เย็นเลิกงาน หากขึ้นรถไฟฟ้าให้หลีกเลี่ยงบันไดเลื่อน หันมาเดินขึ้นบันไดให้หัวใจเต้นเลือดสูบฉีดแทนดีกว่า หรือหารองเท้าที่สามารถใส่ออกกำลังกายได้ แล้วตั้งใจเดินจากที่ทำงานไปรถไฟฟ้า หรือหากนั่งรถเมล์กลับบ้านก็ให้กดลงก่อนถึงเป้าหมายสัก 1-2 ป้าย หรือเดินเข้าบ้านแทนการนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ เช่นนี้ สุขภาพค่อยๆ ดีขึ้นแน่นอน.
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์