ปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ

 

ปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ

 

จมน้ำทำให้เด็กไทยเสียชีวิตกว่าปีละ 1,400 คนต่อปีการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีจะช่วยเหลือเด็กจมน้ำได้เด็กจมน้ำจะขาดอากาศหายใจและหมดสติน้ำที่สำลักเข้าไปในปอดแล้วจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วินาที ความพยายามที่จะเอาน้ำออก เช่น การอุ้มพาดบ่าเพื่อกระทุ้งเอาน้ำออก หรือการวางคว่ำบนกระทะใบบัวแล้วรีดน้ำออก ไม่มีความจำเป็นและอาจก่อให้เกิดผลเสียได้น้ำที่ไหลออกมาจากการกระทุ้งหรือรีดท้องนั้นเป็นน้ำจากกระเพาะอาหาร ไม่ใช่น้ำจากปอด ดังนั้น หลักการปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำที่สำคัญที่สุด คือการช่วยให้เด็กหายใจได้ให้เร็วที่สุด

การปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำที่รู้สึกตัว

หากเด็กรู้สึกตัวหายใจได้เองการปฐมพยาบาลคือการเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้าแห้งให้แก่เด็ก และนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบอาการแม้เด็กจะหายใจได้ดีในระยะแรกแต่อาจมีอาการหายใจลำบากได้ในภายหลังสาเหตุจากถุงลมในปอดถูกทำลายจากการสำลักน้ำ

 การปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำที่ไม่หายใจและ/หรือ หัวใจไม่เต้น

1. เรียกผู้อยู่ข้างเคียงให้มาช่วยเหลือ และให้ผู้ช่วยโทรขอความช่วยเหลือหน่วยฉุกเฉินที่ 1669

2. เปิดทางเดินหายใจ โดยให้เด็กนอนราบกดหน้าผากลงและเชยคางขึ้นเบา ๆ

3. ตรวจการหายใจในเวลา 3-5 วินาที โดย

– มองหน้าอกหรือท้องว่ามีการเคลื่อนไหวหรือไม่

– ฟังดูว่ามีเสียงหายใจหรือไม่

 – สัมผัส โดยแนบใบหน้าไปใกล้จมูกและปากของเด็กเพื่อสัมผัสลมหายใจ

4. ช่วยการหายใจ เมื่อพบว่าเด็กไม่หายใจ ให้ประกบปากของผู้ช่วยเหลือครอบจมูกและปากเด็กและเป่าลมหายใจออก

2 ครั้งโดยให้แต่ละครั้งยาว 1-2 วินาทีและสังเกตว่าหน้าอกของเด็กขยายตามการเป่าลมหรือไม่

 

ในกรณีอายุน้อยกว่า 1 ปี

5. คลำชีพจร บริเวณต้นแขนด้านในครึ่งทางระหว่างข้อศอกและหัวไหล่

–  ถ้าเด็กไม่หายใจแต่มีชีพจร ให้ทำการเป่าปากต่อเพียงอย่างเดียว โดยทำ 20 ครั้งต่อนาที หรือ เป่าปาก 1

ครั้งต่อ 3 วินาที

–  ถ้าเด็กไม่หายใจและไม่มีชีพจร ให้ทำการกระตุ้นการเต้นของหัวใจ

6. กระตุ้นการเต้นของหัวใจ

–  หาตำแหน่งของการกดหน้าอกเพื่อกระตุ้นหัวใจได้โดยลากเส้นสมมติระหว่างหัวนมทั้งสองข้าง

–  ตำแหน่งที่จะกดคือ บนกระดูกหน้าอก ใต้ต่อเส้นสมมติที่ลากระหว่างหัวนมทั้งสองข้างลงมา 1 ความกว้างของนิ้วมือจริง

–   กดโดยใช้นิ้วสองนิ้ว กดลึกให้กระดูกหน้าอกยุบลงประมาณ 1-1.5  นิ้ว ความถี่ของการกดคือกดหน้าอก 5 ครั้งสลับกับการให้ผู้ช่วยระบบหายใจเป่าปาก 1 ครั้ง

ในกรณีที่อายุมากกว่า 1 ปี

7.   คลำชีพจร บริเวณต้นคอ

–  ถ้าเด็กไม่หายใจแต่มีชีพจร ให้ทำการเป่าปากต่อเพียงอย่างเดียว โดยทำ 20 ครั้งต่อนาที หรือ เป่าปาก 1 ครั้งต่อ 3 วินาที

–  ถ้าเด็กไม่หายใจและไม่มีชีพจร ให้ทำการกระตุ้นการเต้นของหัวใจ

8. กระตุ้นการเต้นของหัวใจ

–  หาตำแหน่งของการกดหน้าอกเพื่อกระตุ้นหัวใจได้โดยลากนิ้วตามขอบชายโครงช้างใดข้างหนึ่งจนถึงกึ่งกลางซึ่งชายโครงทั้งสองข้างมาชนกันเรียกว่าจุดปลายล่างกระดูกหน้าอก

–  ตำแหน่งที่จะกดคือ บนกระดูกหน้าอก เหนือต่อจุดปลายล่างกระดูกหน้าอก 1 ความกว้างของนิ้วมือจริง

–  กดโดยใช้ส้นมือ กดลึกให้กระดูกหน้าอกยุบลงประมาณ 1-1.5  นิ้ว ความถี่ของการกดคือ

– กดหน้าอก 5 ครั้งสลับกับการให้ผู้ช่วยระบบหายใจเป่าปาก 1 ครั้ง

– ให้การกระตุ้นการเต้นของหัวใจสลับกับการเป่าปากในอัตราส่วน 5:1 จนกว่าหน่วยฉุกเฉินจะมาถึง หรือกระทำในระหว่างการนำส่งจนถึงโรงพยาบาล

9.ตรวจการหายใจและชีพจรซ้ำ ทุกนาที

 

 

ที่มา : ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก             

Shares:
QR Code :
QR Code