ปฏิรูป ‘อาหารกลางวันเด็ก’ ต้องมีคุณภาพ

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ปฏิรูป 'อาหารกลางวันเด็ก' ต้องมีคุณภาพ thaihealth


ปฏิรูป 'อาหารกลางวันเด็ก' ไม่แค่อิ่มท้อง..แต่ต้องมีคุณภาพ


"เด็กคืออนาคตของชาติ" ยิ่งระยะหลังๆ ประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อย ลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละปี ดังนั้นเด็กทุกคนที่เกิดมาต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดเพื่อให้เติบโตมีพัฒนาการสมวัย เป็นกำลังของประเทศสืบไป "ข่าวการทุจริตโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเด็กๆ จึงไม่อาจเป็นเรื่องยอมรับได้และต้องจัดการให้สิ้น" เช่นที่ปรากฏไปไม่นานนี้กับกรณี "ขนมจีนกับน้ำปลา" ณ โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สุราษฎร์ธานี ที่เด็กๆ ต้องทนรับประทานเป็นอาหารกลางวันมายาวนาน จนนำไปสู่การสืบสวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง


ทว่าการดูแลอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ คงไม่เฉพาะการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตงบประมาณเท่านั้น แต่ต้องใส่ใจคุณภาพด้วย ดังตัวอย่าง เทศบาลเมืองน่าน จ.น่าน นำร่องจ้างนักโภชนาการท้องถิ่น ควบคุมการจัดอาหารกลางวันในโรงเรียนอย่างมีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยทุกด้าน หวังสร้างพฤติกรรมให้เด็กรับประทานอาหารที่มีคุณค่า ไม่ติดกับความเคยชินในวัฒนธรรมการกินอย่างไร้คุณภาพ ซึ่ง "แม้จะมีเสียงต่อต้านแต่ก็ต้องทำให้เกิดการปรับเปลี่ยน" ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับครูและแม่ครัว


รดา เพ็ชรขัน ผู้อำนวยการ กองการศึกษา เทศบาลเมืองน่าน เล่าว่า ที่ผ่านมามักพบปัญหาโรงเรียนทำอาหารกลางวันไม่ตรงกับเมนูที่ส่งมาเบิกเงินอุดหนุน เมื่อนักโภชนาการท้องถิ่นเข้ามากำกับดูแลในจุดนี้ ก็ได้ให้ทุกโรงเรียน ในสังกัดช่วยกันวางแผนและใช้เมนูเดียวกัน เช่นเดียวกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง ก็จัดเมนูเหมือนกัน เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ


ปฏิรูป 'อาหารกลางวันเด็ก' ต้องมีคุณภาพ thaihealth


"ช่วงแรกมีปัญหา ครูบางโรงเรียนถึงกับร้องเรียนว่าทำไม่ได้ เมื่อตรวจสอบลึกลงไปก็พบว่าเดิมครูเป็นผู้จัดซื้อวัตถุดิบในการทำอาหารกลางวันเอง ทางนายกเทศมนตรีจึงได้ยกตัวอย่างการซื้อวัตถุดิบผิดสเปกจากโรงเรียนในจังหวัดอื่น จนถูกออกจากราชการถึง 5 คน ซึ่งนั่นเป็นเพียงการซื้อของผิดสเปก ไม่ใช่การทุจริต ทำให้เสียงร้องเรียนเงียบหายไป เริ่มให้ความร่วมมือมากขึ้น เช่น เมื่อพบว่าหมูบดติดมันมากเกินไป ขอให้เปลี่ยนเป็นเนื้อที่ติดมันน้อยลง ครูกับแม่ครัวก็คุยกับผู้จัดหาวัตถุดิบ ยอมจัดหาวัตถุดิบตามที่ต้องการให้" รดา กล่าว


ขณะที่ นันท์ลินี สายสุริยะรัชกร นักโภชนาการท้องถิ่น เทศบาลเมืองน่าน เล่าว่า แม้จะทำความเข้าใจ ให้ความรู้กับครูและแม่ครัวทั้งเรื่องการจัดเมนู การเลือกวัตถุดิบ กระบวนการผลิตเพื่อไม่ให้สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ สัดส่วนของอาหาร ปริมาณการตัก การดูแลสุขาภิบาลโรงอาหาร สถานที่ประกอบอาหาร อุปกรณ์ อาคารสถานที่ ตลอดจนการแต่งกายของแม่ครัวต้องสะอาด รัดกุม มีผ้ากันเปื้อน ผ้าคลุมผม ตัดเล็บสะอาด แต่ในกระบวนการทำงานจริงมักจะมีปัญหาจุกจิกเสมอ


เช่น "เมนูก๋วยเตี๋ยว" บางโรงเรียนเด็กชอบกินเส้นหมี่ บางโรงเรียนเด็กชอบเส้นใหญ่ เมื่อดูแล้วสามารถใช้ทดแทนกันได้ ก็ให้ใช้ตามความชอบของเด็กๆ หรือปัญหาประเภท "ความเคยชินของแม่ครัว" อาทิ ทำอาหารรสชาติเค็ม ตักอาหารให้เด็กที่มาก่อนในปริมาณมาก จนไม่เพียงพอกับเด็กที่มาทีหลัง หั่นผัก ชิ้นโต ไม่สวยงาม ทำให้เด็กเขี่ยผักออกและ มีอาหารเหลือทิ้งแต่ละวันในปริมาณมาก


"เมื่อเข้าไปแนะนำให้ปรับพฤติกรรมก็ต้องใช้เวลา และปรับทีละน้อย มิฉะนั้นแม่ครัวจะรู้สึกเครียด เป็นภาระหนัก การปรับพฤติกรรมเด็กให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็ไม่สามารถทำได้ภายในวันเดียว อย่างการเปลี่ยนข้าวขาวเป็นข้าวกล้อง เมื่อเปิดเทอมต้องเริ่มจากการผสม ข้าวกล้องลงในข้าวขาวเพียง 1 ใน 3 ก่อนเพิ่มปริมาณข้าวกล้องมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่ผ่านไป มิฉะนั้นเด็กจะรู้สึกว่าข้าวแข็ง สีไม่สวย จึงไม่กิน"นันท์ลินี ระบุ


ปฏิรูป 'อาหารกลางวันเด็ก' ต้องมีคุณภาพ thaihealth


ด้าน สุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข่าวเด็กวัย 2-3 ขวบ ไปจนถึงเด็กประถม ซึ่งยังเป็นวัยที่จัดหาอาหาร รับประทานเองไม่ได้ แต่กลับได้รับอาหารกลางวันที่ด้อยคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ขนมจีนคลุกน้ำปลา ทำให้มองเห็นความจำเป็นที่ต้องสร้างพฤติกรรมให้ รับประทานอาหารที่มีคุณค่า ไม่ให้ติดกับความเคยชินในวัฒนธรรมการกินอย่างไร้คุณภาพ


และเชื่อว่า "การมีนักโภชนาการ อยู่ในสังกัด คอยช่วยสอดส่อง ดูแลให้เด็กได้รับอาหารปลอดภัยจากสารเคมี มีคุณค่าครบ 5 หมู่อย่างแท้จริง จะเป็น ประโยชน์ทั้งต่อตัวเด็ก ครอบครัว ชุมชน สังคม" โดยประสานความร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ทำให้บุคลากรได้รับความรู้ที่ถูกต้องมากขึ้น สามารถนำมาปฏิบัติในการจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนในพื้นที่ได้


ประกอบด้วยศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 2 แห่ง โรงเรียนในสังกัดเทศบาล 3 แห่ง รวมเด็กกว่า 2,000 คน ได้อย่างมีคุณภาพ มีโปรแกรม Thai School Lunch ช่วยคำนวณคุณค่าทางโภชนาการ ภายใต้การดูแลเฝ้าระวังของนักโภชนาการท้องถิ่น ให้มีแหล่งวัตถุดิบที่ได้คุณภาพ สะอาด ปลอดภัย จากในชุมชนที่อยู่รอบๆ ศูนย์หรือโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์


ปฏิรูป 'อาหารกลางวันเด็ก' ต้องมีคุณภาพ thaihealth


จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้จัดการโครงการเด็กไทยแก้มใสเพื่อเจ้าฟ้านักโภชนาการ สสส. เปิดเผยว่า จากการทำงานตามโครงการเด็กไทยแก้มใส พบว่าการจัดการอาหารกลางวันมีปัญหาหลายประการ เช่น เมื่อโรงเรียนมีนักเรียนน้อย งบอาหารกลางวันจะไม่เพียงพอต่อค่าวัตถุดิบและค่าจ้าง แม่ครัว ผู้บริหารโรงเรียนบางแห่งไม่ให้ความสำคัญกับด้านโภชนาการ ขาดการบูรณาการร่วมกัน บุคลากรที่รับผิดชอบ ขาดความรู้ และ "ส่วนใหญ่ไม่มี นักโภชนาการประจำ" ในการดูแลด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก


"จะทำอย่างไรให้เด็กกว่า 5 ล้านคน ในโรงเรียนสังกัด อปท. ทั่วประเทศ 13,000 โรงเรียน และ ศพด. กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. อีกกว่า 30,000 โรงเรียน จึงจะได้อาหารทั้งสะอาดปลอดภัยและมีคุณค่าสารอาหารตามที่เด็กควรได้รับ แต่ขณะนี้ ก็มีเครื่องมือ เช่น โปรแกรม Thai School Lunch จะช่วยคุณครูที่ไม่ค่อยมีเวลามาศึกษาอาหารและโภชนาการ ก็จะกำหนดให้เสร็จว่าใน 5 วัน เด็กควรได้กินอะไรบ้าง" จงกลนี กล่าวนอกจากคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ผู้จัดการโครงการเด็กไทยแก้มใสเพื่อเจ้าฟ้านักโภชนาการ สสส. ยังเป็นห่วงเรื่อง "ความปลอดภัย" เพราะที่ จ.น่าน เคยมีผลการศึกษาพบเลือดในนักเรียนมีสารพิษตกค้างสูงถึงร้อยละ 64 จึงเป็นที่มาของโครงการ "น่านโมเดลเด็กไทยแก้มใส" เพื่อสร้างให้เด็กได้รับ อาหารปลอดภัย เติบโตสมวัยอย่าง ทั่วถึง อีกทั้งต้องเชื่อมโยงกับชุมชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก พร้อมย้ำว่า "นอกจากนักโภชนาการกับแม่ครัวแล้ว ครูก็ต้องช่วยสร้างพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมให้กับเด็ก" เพื่อให้เด็กเข้าใจและเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่


ถึงเวลาแล้ว "โภชนาการเด็ก" ต้องเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ทุกภาคส่วน "ใส่ใจจริงจัง" กันเสียที

Shares:
QR Code :
QR Code