‘บ้านดงจงอาง’ พลังโจ๋ เปลี่ยนชุมชน
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟนเพจบ้านดงจงอาง
หมดสมัยแล้วกับสำนวน "คบเด็กสร้างบ้าน" เพราะพลังเด็กรุ่นใหม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าที่คิด ยืนยันได้จากความสำเร็จของ "บ้านดงจงอาง" หมู่บ้านชนบทใน ต.บึงแก อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร
จากหมู่บ้านซึ่งครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยปัญหาเด็กและเยาวชน แต่เมื่อผู้ใหญ่เปลี่ยนความเชื่อจากขนบเดิมๆ เปิดพื้นที่ให้เด็กได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยคิด ช่วยทำ หาทางออกร่วมกัน โดยใช้กลไกสภาผู้นำเยาวชนทำงานคู่ขนานกับสภาผู้นำชุมชน จึงนำมาสู่ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย
เส็ง นิลกิจ ผู้ใหญ่บ้าน "บ้านดงจงอาง" หมู่ 5 เล่าว่า ก่อนปี 2557 บ้านดงจงอาง เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่เคยขึ้นชื่อว่ามีปัญหา เด็กและเยาวชนเยอะที่สุด ตั้งแต่วัยรุ่น ยกพวกตีกัน ปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการตั้งท้องก่อนวัยอันควร ซึ่งเคยครองสถิติ อันดับหนึ่งของจังหวัดมาแล้ว ปัญหาวัยรุ่นจึงเป็นโจทย์ในใจร่วมกันของคนบ้านดงจงอาง ซึ่งหยิบยกประเด็นนี้เพื่อหาทางออก ผ่านการเข้าร่วม "โครงการร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่" โดยการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.)
"จะฟังทำไมกับแค่คำพูดประสา เด็กน้อย" รัฐพงษ์ ศรแก้ว หรืออารม์ ตัวแทนพลังคนรุ่นใหม่ กรรมการสภาผู้นำชุมชน เล่าถึงคำว่า "ประสาเด็กน้อย" ของคนอีสานซึ่งสะท้อนถึงทัศนคติความเชื่อ จากรุ่นสู่รุ่นว่าเป็นแค่เด็กจะไปทำอะไรได้
ที่ผ่านมา งานชุมชนของบ้านดงจงอางจึงเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่หน้าที่ของเด็ก การเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านคงไม่เกิดขึ้น หากไม่มีผู้นำที่คิดต่างอย่าง "ผู้ใหญ่เส็ง" ผู้ใหญ่บ้านสูงวัยใกล้เกษียณ ที่อยาก เปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม พัฒนาบ้านเกิด
"เพราะผมเคยผ่านจุดนี้มาก่อน เลยไม่อยากมองแบบคนรุ่นเก่า สมัยเป็นผู้ใหญ่บ้านครั้งแรกปี 2544 หลายคนไม่เชื่อว่า ผมอายุ 43 จะทำงานได้ เขามองว่าคนเป็นผู้ใหญ่บ้านต้องอายุ 50-60" ผู้ใหญ่เส็ง เล่าถึงความเชื่อเดิมในชุมชนซึ่งถึงเวลา ต้องคิดใหม่ เพราะยุคนี้ถ้าอยากแก้ปัญหา วัยรุ่น ก็ต้องเข้าใจวัยรุ่น วิธีการที่ผู้ใหญ่เส็งใช้ จึงใช้การดึงคนรุ่นเดียวกันมาเป็นตัวขับเคลื่อน เริ่มจากคนใกล้ตัวที่สุดอย่างกลุ่มลูกหลาน วัยหนุ่มสาวให้เข้ามาทำงาน เชื่อมความสัมพันธ์ในหมู่วัยรุ่น นำแนวคิดที่ได้จากการไปดูงานสภาเยาวชนที่ "บ้านกันตวง" จ.สุรินทร์ มาริเริ่มในหมู่บ้าน โดยมี กรวิท นิลกิจ ประธานสภาเยาวชน และผู้นำคนรุ่นใหม่อย่าง อาร์ม-รัฐพงษ์ คอยเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมการทำงาน ลดช่องว่างระหว่างเด็ก กับผู้ใหญ่
"บ้านกันตวงใช้วิธีดึงหัวโจกมาเป็น สภาเยาวชนเพื่อแก้ปัญหา แต่ของบ้านเราเริ่มจากเด็กที่คุยง่ายก่อน เริ่มจากคนที่ พร้อมจะทำงานกับเราก่อน"
อาร์ม และ กรวิท เล่าถึงวิธีการดึงวัยรุ่นในหมู่บ้านมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยยึดหลักว่าถ้าอยากคุยกับเด็กให้รู้เรื่อง ต้องเริ่มจากการดึงใจเด็กให้ได้ก่อน พื้นที่การคุยงาน และไอเดียดีๆ ของ สภาเยาวชนจึงไม่ได้มาจากการนั่งโต๊ะ ในห้องประชุม แต่ได้มาจากวงกินข้าว วงหมูกระทะ ใช้ความเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง ชวนคิดชวนคุย หาไอเดียสร้างสรรค์กิจกรรม
"ก่อนหน้านี้ เราเคยใช้การอบรม การประชุม เอาผู้ใหญ่กับเด็กมานั่งคุยกัน แต่การทำอะไรที่ทางการเกินไป เด็กจะไม่ชอบ แม้จะคุยปัญหาเดียวกัน แต่มุมมองในการแก้ปัญหาของเด็กกับผู้ใหญ่ก็จะคิดไม่เหมือนกัน" อาร์มเล่าถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา
การตั้งสภาเยาวชนอีกหนึ่งสภา เพื่อเป็นสภาคู่ขนานในการกิจกรรม ร่วมกับสภาผู้นำชุมชน จึงเป็นแนวทางที่ ช่วยเปิดพื้นที่การทำงาน ทำให้เด็กๆ ได้มีโอกาสแสดงความคิด ได้ทำงาน อย่างมีอิสระ
"บทบาทผู้ใหญ่อย่างเราทำหน้าที่อยู่ข้างนอก คอยติดตามรับฟัง ปล่อยให้เด็กๆ ได้ลองทำกันเองก่อน อย่าไปก้าวก่ายเขามาก เมื่อก่อนการประชุมในหมู่บ้านจะมีแต่ผู้ใหญ่ แต่พอมีสภาผู้นำชุมชนเราเปิดโอกาสให้เด็กๆ จากสภาเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมได้รับรู้ปัญหาทุกเรื่องของชุมชนด้วย" ผู้ใหญ่เส็ง บอกเช่นนั้น
ด้วยวิธีคิดแบบไม่ปิดกั้น จึงทำให้ ผู้ใหญ่เส็งสามารถได้ใจเด็กๆ กลายเป็น "พี่ใหญ่" ของวัยรุ่น โดยมีบ้านของผู้ใหญ่ฯ เป็นแหล่งนัดพบรวมตัวทำกิจกรรมร่วมกันของเยาวชนในหมู่บ้าน เริ่มจากการฟื้น กลองยาว ซึ่งเคยเป็นทุนวัฒนธรรมดั้งเดิมของหมู่บ้าน จนนำมาสู่การแก้ปัญหาวัยรุ่นยกพวกตีกันในงานหมอลำ
"แรกๆ เราไม่เคยคิดมาก่อนว่า การตีกลองยาวจะเข้ามาแก้ปัญหาได้ เดิมวงกลองยาวคณะบ้านดงจงอางเคยมีชื่อเสียง ประกวดได้รางวัล แต่พอวิถีชีวิตเปลี่ยนไป วงก็ยุบไปสิบกว่าปี น้องคนหนึ่งที่เคยตีกลองกับผู้ปกครอง เลยเสนอว่าอยากให้รื้อฟื้นกลับมาใหม่" อาร์ม เล่าถึงจังหวะความสุขและสนุกสนานของเสียงกลองยาวที่ดึงดูดผู้คนให้มารวมตัวกัน จนปัจจุบัน มีสมาชิกในวงเพิ่มขึ้นเป็น 40 คน
อาร์ม บอกว่า วัยรุ่นเป็นสังคมแบบ "พวกมากลากไป" เฮไหนเฮนั่นตามเพื่อน การจุดกระแสกลองยาวในหมู่บ้านจึง กลายเป็น "สื่อกลาง" ของการสร้างความสัมพันธ์ ลดความขัดแย้ง ช่วยดึงเยาวชนออกมาจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่สร้างสรรค์ จากที่เคยชวนกันไปเล่นเกม ติดยา เพราะไม่มีอะไรสนุกๆ ให้ทำ ปัจจุบัน การเล่น กลองยาวยังสามารถสร้างรายได้เสริม จากการออกไปรับเล่นตามงานบวช งานแต่ง งานบุญสังสรรค์ ทั้งในและ นอกหมู่บ้านอีกด้วย
ประธานสภาเยาวชนอย่างกรวิท มองว่า การแก้ปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงวัยรุ่น ไม่สามารถทำได้ด้วยการไปบอกไปสอนตรงๆ เพราะเด็กวัยนี้ไม่คุยกับพ่อแม่ แต่จะคุยกันเอง ดังนั้น จึงต้องใช้การสร้าง ความสนิทเพื่อสร้างความสัมพันธ์ เพราะคนเราเมื่อรู้จักเปิดใจได้กันแล้วก็จะสามารถ พูดคุยแลกเปลี่ยนตักเตือนกันฉันเพื่อนกิจกรรมกลองยาวจึงเข้ามาตอบโจทย์ในส่วนของวัยรุ่นชาย เช่นเดียวกับกลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงซึ่งใช้กิจกรรมสานตะกร้ามาเป็นสื่อกลาง แก้ปัญหาท้องในวัยเรียน
ฟังเผินๆ หลายคนคงคิดไม่ออกว่า งานฝีมืออย่างสานตะกร้าจะสามารถเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นได้อย่างไร? ธันยพร ศรีจันทร์ นักเรียนหญิง ชั้น ม.5 หนึ่งในกรรมการสภาเยาวชน เล่าถึง ที่มาแนวคิดนี้ว่า เกิดจากวัยรุ่นในชุมชนอยากหากิจกรรมสร้างรายได้เสริม เลยเข้าไปหัดเรียนสานตะกร้า โดยมีคุณหมอ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ช่วยฝึกสอนให้
"ใครอยากมีรายได้เสริม มีเพื่อน ชวนเพื่อน มารวมกลุ่มกันหัดสานตะกร้า พอได้คุยกันรู้จักกัน เรื่องที่เด็กผู้หญิงมักคุยเวลาอยู่ด้วยกันก็มักจะมีเรื่องความรัก ปรึกษาเรื่องแฟน หลายเรื่องวัยรุ่นมักไม่กล้าพูดคุยกับผู้ใหญ่ ก็ต้องให้วัยรุ่นด้วยกันเป็นสื่อกลาง นำความรู้จากหมอที่รพ.สต. มาช่วยบอกช่วยสอน อะไรที่เรายังตอบ ไม่ได้ ก็จะเก็บคำถามไปถามหมออีกที หลายคนอายไม่กล้าถามหมอ ไม่กล้าขอ ถุงยาง ขอยาคุม เราก็ต้องเป็นสื่อกลางให้ แต่จะพูดคุยสอบถามก่อน ถ้ารั้งไว้ไม่ได้จริงๆ อย่างน้อยก็ยังดีที่เขามีความรู้สามารถป้องกันตัวเองก่อนมีเพศสัมพันธ์" แกนนำเยาวชนหญิงเล่า
เมื่อเริ่มเห็นผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงว่า ปัญหาทะเลาะวิวาท ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร เริ่มหมดไปจากชุมชน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของเด็กและเยาวชน ในสายตาของบรรดาผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจึงเริ่มเปลี่ยนไป จากที่ถูกเคยมองว่าเป็นตัวปัญหา เปลี่ยนมาเป็นพลังขับเคลื่อนหมู่บ้าน
กรวิท เล่าว่า เมื่อผู้ใหญ่เปลี่ยนความคิด จึงเริ่มให้โอกาสเราได้ทำงานช่วยเหลือชุมชนมากขึ้น จากสมัยก่อนงานบุญ งานประเพณีต่างๆ ในชุมชนซึ่งแทบไม่เคยมีพื้นที่ให้เด็กๆ เลย เดี๋ยวนี้ก็เปิดโอกาสให้ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากที่เคยดูถูกว่า เยาวชนเอาแต่เที่ยวเล่นไปวันๆ แต่เรามีกิจกรรมสานตะกร้า ได้ทำประโยชน์มีรายได้เสริมให้กับครอบครัว ผู้ใหญ่ก็มาช่วยส่งเสริม กลายเป็นว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองก็มาช่วยทำด้วยกัน นอกจากนี้
ยังต่อยอดไปสู่การริเริ่ม "โครงการหมอวัยรุ่น" เป็นสร้างตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็น สื่อกลางในการให้ความรู้เรื่องเพศ และ แก้ปัญหาท้องในวัยเรียน
รัฐพงษ์ เสริมว่า เดี๋ยวนี้ผู้ใหญ่ให้การยอมรับเรามากขึ้น เล็งเห็นถึงความสำคัญของสภาเยาวชน เช่น ทุกปีทางอีสานเราจะมีคณะผ้าป่าจากผู้ใหญ่ที่ไปทำงานในกรุงเทพฯ จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งมาให้สภาเยาวชนบริหารงาน มีการเปิดโอกาสให้เยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาผู้นำชุมชน ในขณะที่พ่อแม่บางคนเป็นห่วงลูก ก็จะตามมาเข้าร่วมประชุมด้วย ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชนขยายวงมากขึ้น
ความสำเร็จของบ้านดงจงอาง จึงเป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่ทำให้เห็นว่า เมื่อผู้ใหญ่ในหมู่บ้านใจกว้างเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมทำงานกับสภาผู้นำชุมชน
จากหมู่บ้านที่ครั้งหนึ่งเคยขึ้นชื่อว่า มีปัญหาเด็กและเยาวชนเยอะที่สุด วันนี้ไม่เพียงแต่ปัญหาจะหมดไปจาก บ้านดงจงอาง แต่ยังเกิดพลังคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมจะเติบโตทำงานเพื่อพัฒนา ชุมชนบ้านเกิด เปลี่ยนจากหมู่บ้านติดลบมาเป็นต้นแบบชุมชนอีสานน่าอยู่ ได้อย่างวันนี้