‘บ้านควนลังงา’ หมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง

'บ้านควนลังงา' หมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง thaihealth


"ควนลังงา หมู่บ้านพอเพียงกลางกลิ่นควันปืน" ดำเนินการตามแนวทางพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง บนหลักการทุนธรรมชาติ ทุนวัฒนธรรม ทุนชุมชน และทุนความหลากหลายทางชีวภาพ 


สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงนี้ ยังคงคุกรุ่นด้วยการวางระเบิด การก่อการร้ายทำลายเจ้าหน้าที่ ครู แม้กระทั่งพระสงฆ์ที่ออกเดินบิณฑบาต และขยายรุนแรงไปถึงขั้นใช้คาร์บอมบ์ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์คาร์บอมบ์ที่พัฒนาขึ้นในภาคใต้ ทำให้ขยายผลปัญหาบาดเจ็บและเสียชีวิตประชาชนคราวละมากๆ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ และยกระดับปัญหาสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐต้องต้องรีบเข้าไปแก้ไข ทั้งยังต้องศึกษาอย่างจริงจังว่าสาเหตุนั้นเกิดจากอะไร?


นายพิทยา ว่องกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิถีทรรศน์ มูลนิธิวิถีทรรศน์ เล่าว่า เมื่อ 3 เดือนก่อน ผมมีโอกาสได้คุยกับนักศึกษาปริญญาโทหลายคนจาก 3 จังหวัดชายแดน ในช่วงเวลานอกชั่วโมงบรรยายที่ศูนย์หาดใหญ่ นักศึกษาชายที่เป็นข้าราชการท้องถิ่นและบางคนเป็นเจ้าหน้าที่ อบต.ในปัตตานี ชวนผมไปเที่ยวที่นั่น ว่าไปได้ทั้งกลางคืนกลางวัน โดยบอกว่ารับรองความปลอดภัยทั้งหมด แต่ผมยอมรับว่าไม่กล้าเสี่ยง แม้ว่าพวกเขาจะรู้จักพื้นที่และวิธีหลบหลีกปัญหาถูกลอบทำร้ายได้ก็ตาม เขาบอกผมว่า


"…ไปไหนอย่าไปกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ไม่ปลอดภัย และถ้าไปแล้วหากเกิดเหตุการณ์ยิงกัน วางระเบิดอะไรขึ้น คนในท้องถิ่นรู้ได้ว่าเป็นฝีมือฝ่ายใด ข่าวที่ไปออกอากาศ ลงหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ แตกต่างจากข้อเท็จจริงในท้องถิ่น ชาวบ้านรู้ว่าเป็นฝีมือของใคร เช่น ผู้ก่อการร้ายกลุ่มไหน พ่อค้ายาเสพติด และการสร้างสถานการณ์ของคนมีสีบางกลุ่มเพื่อผลประโยชน์…ข่าวสื่อมวลชนเชื่อไม่ได้ทุกครั้ง ต้องถามคนท้องถิ่นดู"


ผู้อำนวยการสถาบันวิถีทรรศน์ กล่าวต่อว่า ผมได้รู้ความจริงในบางมุม ทำให้เข้าใจอะไรดีขึ้นพอควร และที่สำคัญก็คือ ประชาชนในท้องถิ่นรู้ดีว่า แต่ละครั้งที่เกิดปัญหาความรุนแรงใครเป็นคนก่อขึ้น ในยุคสมัยใหม่ที่เครื่องมือการสื่อสารทันสมัย ข่าวจะกระจายไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่มีผลประโยชน์ในท้องถิ่น ควรจะตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา อันกระทบต่อความเดือดแค้นหรือการแบ่งแยกดินแดนที่แตกร้าวรุนแรงยิ่งขึ้น


"เนื่องจากวิชาที่ผมบรรยายเป็นเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงกำหนดให้นักศึกษาจับเป็นกลุ่ม ทำรายงานเรื่อง วิสาหกิจชุมชน การพัฒนากลุ่มออมทรัพย์ อาหารอิสลามกับโลกาภิวัตน์ ภูมิปัญญาในวัฒนธรรมภาคใต้ เศรษฐกิจพอเพียง'บ้านควนลังงา' หมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง thaihealthใน 3 จังหวัด ฯลฯ มีรายงานของกลุ่มหนึ่งเกี่ยวกับการ ดำเนินการตามแนวทางพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงในจังหวัดปัตตานี โดยยกกรณีศึกษา "ควนลังงา หมู่บ้านพอเพียงกลางกลิ่นควันปืน" ที่น่าสนใจ" ผู้อำนวยการสถาบันวิถีทรรศน์ กล่าว 


นายวิทยา อธิบายว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการสร้างฐานความมั่นคงของชีวิตตามทฤษฎีใหม่ บนหลักการทุนธรรมชาติ ทุนวัฒนธรรม ทุนชุมชน และทุนความหลากหลายทางชีวภาพ และเน้นว่า การแก้ไขปัญหาก่อการร้าย 3 จังหวัด หากไม่มีการกดขี่สร้างความรู้สึกเกลียดชังกันแล้ว เราสามารถพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมาได้ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางธรรมชาติ เศรษฐกิจดี ชาวมุสลิมมีการศึกษา การแบ่งแยกดินแดนหรือทำร้ายกันย่อมไม่เกิดขึ้น หรือแก้ไขปัญหาได้จริง


จากรายงานนักศึกษาเรื่อง "ควนลังงา หมู่บ้านพอเพียง กลางกลิ่นควันปืน" เกริ่นนำด้วยความอุดมสมบูรณด้วยทรัพยากร ธรรมชาติ (ทุนธรรมชาติ) ของจังหวัดปัตตานี ซึ่งเห็นได้จากคำขวัญที่ว่า บูดูสะอาด หาดทรายสวย รวยน้ำตก นกเขาดี ลูกหยีอร่อย หอยแครงสด บ่งบอกถึงจำนวนทรัพยากรที่มีมากในทะเล รายได้ของชาวปัตตานีมีแหล่งที่มาสำคัญ ได้แก่ ประมง และสวนยางพารา


ปัจจุบันชาวบ้านหลายหมู่บ้านหันมาอนุรักษ์ป่าชายเลน ทำปะการังเทียมทิ้งทะเล งดจับสัตว์น้ำฤดูวางไข่ ทำให้สินในน้ำกลับคืนมาและเป็นฐานเลี้ยงชีวิตได้ จนหมู่บ้านที่หนุ่มสาวออกไปหางานทำในจังหวัดอื่นหรือมาเลเซียในอดีต ต่างพากันกลับคืนบ้านเกิดมาทำประมงใหม่ หมู่บ้านบางแห่งกลับคืนเป็นหมู่บ้านผลิตกะปิ และหลายแห่งผลิตน้ำบูดูจากทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น บวกกับภูมิปัญญาเดิมในการผลิต ทำให้น้ำบูดูปัตตานีได้ชื่อว่ามีคุณภาพดีและอร่อยที่สุดของประเทศ ยังคงเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย


และในช่วงที่ยางพาราราคาดี เศรษฐกิจ 2 ส่วนนี้ เป็นฐานให้กับชาวปัตตานีดำรงชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น ในกรณีที่ยังมีทุนธรรมชาติอยู่มาก การพัฒนาเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนจึงเป็นไปได้สูง และไม่ใช่เหตุจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน


จากฐานเศรษฐกิจ ผู้นำชุมชนสามารถพัฒนาหมู่บ้านยกระดับขึ้นจากเดิม โดยคิดโครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง ณ บ้านควนลังงา หมู่ที่ 4 ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ แม้ว่าที่ตำบลทรายขาว จะมีอัตราส่วนของประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือนับถือศาสนาพุทธ


ดังนั้น การกำหนดกิจกรรมทุกอย่าง ผู้นำชุมชนจึงคำนึงถึงความต้องการของชาวบ้าน และไม่ขัดต่อการดำรงอยู่ร่วมกันของคนสองศาสนิก เพื่อให้เกิดเป้าหมายทางด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ ชุมชนจึงดึงผู้บริหารท้องถิ่นจากองค์การบริหารส่วนตำบลเข้าร่วมเป็นแรงขับเคลื่อน ด้วยการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่ท้องถิ่นทั้งระบบ


นอกจากนี้ ความต่างกัน ความแบ่งแยก เป็นเหล่าเป็นพวกจะลดน้อยลง หากใช้วิธีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างสำนึกการมีส่วนร่วมกันขึ้น โดยมองที่ผลประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ได้แก่ ปัญหาสุขภาพ และปัญหามลภาวะจากขยะ ชาวบ้านจึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนบ้านควนลังงาขึ้น มี ชุติมา เศียรอินทร์ เป็นประธาน และดำเนินโครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยการทำ กิจกรรมหลัก 3 'บ้านควนลังงา' หมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง thaihealthประการ คือ การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง การผลิตปุ๋ยเพื่อใช้ในครัวเรือน และอบรมให้ความรู้โดยเจ้าหน้าที่รัฐในการลดอัตราเสี่ยงจากการตกเป็นเหยื่อเหตุการณ์ ความไม่สงบ


กิจกรรมหลักทั้งสาม ที่ใช้เป็นตัวขับเคลื่อนความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนนั้น มีที่มาที่ไปจากการกระตุ้นให้ชาวบ้าน 100 ครัวเรือน หรือกว่า 400 คน ในชุมชนบ้านควรลังงา รู้จักการรักษาความสะอาด และลดแหล่งแพร่เชื้อโรคด้วยการแยกประเภทขยะ สิ่งปฏิกูลจากบ้านเรือนไม่ถูกทิ้งอย่างสะเปะสะปะ จนส่งผลต่อบรรยากาศและกระทบต่อสุขภาพในท้องถิ่นอย่างมาก ดังนั้น การให้ความรู้และส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องนี้ สามารถเปลี่ยนสภาพแวดล้อม และสุขภาวะของคนในหมู่ 4 แห่งนี้ได้ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา


ส่วนการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่รู้จักผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เนื่องจากอาชีพหลักของชาวบ้านกว่าร้อยละ 90 ส่วนใหญ่จะยึดการทำสวนผลไม้ และยางพารา ดังนั้นการนำผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรมาถ่าย ทอดความรู้ และกรรมวิธีผลิตปุ๋ยเพื่อใช้เอง จึงช่วยให้เกิดการพึ่งตนเอง และลดการใช้ปุ๋ยเคมี ที่เป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรแต่ละคนอีกด้วย


กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในชุมชน ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกผักปลอดสารพิษไว้รับประทานเอง รู้จักการบริโภคสิ่งที่เป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกาย รวมถึงเกิดการรวมกลุ่มออกกำลังกายในหมู่บ้าน โดยเฉพาะการปั่นจักรยานรอบชุมชน จนก่อตั้งชมรมจักรยานเสือภูเขาเป็นครั้งแรก และขยายไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ได้หันเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้เป็นจำนวนมาก


มีการสร้างเครือข่ายเยาวชนรักสุขภาพ ด้วยการนำนักเรียนจาก 6 หมู่บ้าน มาเข้าค่ายร่วมกันเพื่ออบรมและเรียนรู้ในกิจกรรมด้านสุขภาพ อาทิ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น เพื่อสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกัน โดยให้คนรุ่นใหม่เป็นพลังกระตุ้นให้ชาวบ้านและญาติพี่น้องในพื้นที่ของตัวเอง เกิดความเปลี่ยนแปลงความคิด และเกิดการปฏิบัติในทิศทางที่ดี โดยแต่ละเดือนจะมีการเปิดโอกาสให้เยาวชนเหล่านี้ นำข้อมูลของหมู่บ้านตัวเองมาประมวลผลร่วมกัน


เวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น โครงการหมู่บ้านสร้างเสริมสุขภาพตามแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง ยังก่อให้เกิดการรวมพลังของคนในชุมชน เพื่อสร้างอาชีพเสริม บนหลักการ ร่วมคิด ร่วมทำ สร้างผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ประเภทเครื่องอุปโภคบริโภค ยาสมุนไพร ซึ่งวัตถุดิบสามารถหาได้ในท้องถิ่น เพื่อช่วยเพิ่มรายรับให้กับครัวเรือน และเสริมรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชน


ความสำเร็จจากศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนบ้านควนลังงา ของหมู่บ้านควนลังงา ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ที่สามารถพลิกให้ภาวะสุขภาพของคนในชุมชนหมู่ 4 จำนวน 400 คน จาก 100 ครัวเรือน มีสุขภาพแข็งแรง มีกลุ่มออกกำลังกาย เช่น การปั่นจักรยานเสือภูเขา การเต้นแอโรบิก และอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมน่าอยู่ อีกทั้งมีแบบแผนการป้องกันและลดอัตราเสี่ยงจากภัยความไม่สงบอีกด้วย จึงเป็นทิศทางชี้นำการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ควรนำไปปรับใช้และขยายผลในหมู่บ้านอื่น


โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพที่ดีขึ้นของในชุมชนควนลังงา ทำให้ในปี 2553 ทาง สสส.ได้ขยายกิจกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดกับอีก 6 หมู่บ้าน หรือครอบคลุมทั้งตำบลทรายขาว ซึ่งมีประชากรกว่า 4,000 คน ด้วยแนวทางการสร้าง "บ้านน่าอยู่" เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่แห่งนี้มีสุขภาพดีถ้วนหน้า เฉกเช่นเดียวกับชาวบ้านหมู่ 4 บ้านควนลังงา


การแก้ไขปัญหาก่อการร้าย 3 จังหวัด หากไม่มีการกดขี่สร้างความรู้สึกเกลียดชังกันแล้ว เราสามารถพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นมาได้ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางธรรมชาติ เศรษฐกิจดี ชาวมุสลิมมีการศึกษาการแบ่งแยกดินแดนหรือทำร้ายกันย่อมไม่เกิดขึ้น หรือแก้ไขปัญหาได้จริง

เรื่องโดย: พิทยา ว่องกุล







ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 

Shares:
QR Code :
QR Code