‘บี 4 ที’เดินหน้าลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
เว็บไซต์องค์การอนามัยโลก(WHO)เผยรายงานล่าสุดสถานการณ์การตั้งครรภ์ของผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ทั่วโลกในปี 2556 โดยประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 74 คนต่อ 1,000 คนเท่ากับประเทศมาเลเซียและอยู่อันดับที่ 2 รองจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
แฟ้มภาพ
ปัญหาดังกล่าวทำให้ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่ทำงานด้านสุขภาพ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นิ่งนอนใจไม่ได้ จึงร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน จัดงานเปิดตัวโครงการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Bangkok for Teen:B4T) ณ โรงพยาบาลตากสิน กรุงเทพมหานคร
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นอุปสรรคในการศึกษาของเด็ก เนื่องจากสังคมไทยเรายังไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้ขาดโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง และจะกระทบต่อตัวเด็กและลูกในครรภ์ ปัญหานี้กระทบต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลทุกประเทศจึงให้ความสำคัญ
ผอ.สำนักควบคุมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจาก กทม.เป็นเมืองใหญ่มีจำนวนวัยรุ่นเกือบล้านคน แล้วก็ถือว่าวัยรุ่นที่นี่เป็นต้นแบบให้กับวัยรุ่นทั้งประเทศด้วย ถ้าเราทำเรื่องป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้สำเร็จในกทม. ก็น่าจะเป็นตัวอย่างให้วัยรุ่นอื่นๆ ได้เช่น ทีมนักศึกษาจาก ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จากสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ ทำโครงการ 'ปิ๊งไม่ป่อง' ที่รณรงค์ให้เยาวชนมีความรับผิดชอบและเห็นค่าในตัวเองตระหนักและรู้เท่าทันเรื่องเพศ โดยเติมความรู้และความรับผิดชอบลงไปในตัวเยาวชน โรงเรียนต้องสอนเรื่องเพศศึกษา ครอบครัว และคนใกล้ชิดก็ต้องเข้าใจ พูดคุยกับลูกได้ สนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง
"สสส.ชวนนักวิชาการและหลายๆ ฝ่าย มาสกัดความรู้ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมเป็นภารกิจ 9 ด้าน เช่น เด็กต้องได้เรียนรู้เพศศึกษา พ่อแม่ต้องเข้าใจและคุยกับลูกได้ บริการสุขภาพที่เป็นมิตรท้องถิ่นสนับสนุนให้เด็กมีกิจกรรมสร้างสรรค์ ให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นต้น กทม.เป็นหนึ่งใน 20 จังหวัด ที่ สสส.สนับสนุนให้ริเริ่มแนวคิดนี้เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทางสภานิติฯ มาสนับสนุนด้านกฎหมาย ถ้าเรานำไปขยายผลเรื่องลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้กว้างขึ้น ประเทศเราจะก้าวข้ามปัญหานี้และนำมาสู่การพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ามาก" ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ กล่าว
ขณะที่ คุณภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการมูลนิธิแพธทูเฮลท กล่าวว่า โครงการ Bangkok for Teen เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนด้านสุขภาวะเยาวชน ที่มีแนวทางการทำงานร่วมกันเรื่องลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของประเทศคือภายใน 10 ปี จะลดการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นลงครึ่งหนึ่ง
"สำหรับแนวทางที่เราทำคือ 1.รวบรวมเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชนเข้ามาทำงานร่วมกัน 2.ผลักดันเรื่องการแก้ปัญหาทั้งในมิติของโรงเรียนคือ ทำอย่างไรให้โรงเรียนสอนเรื่องเพศศึกษา ให้ผู้ปกครองสื่อสารกับลูกหลานในเรื่องเพศมากขึ้นและทำให้รู้สึกว่าเรื่องเพศคุยกันได้ปรึกษากันได้ 3.ทำอย่างไรให้หน่วยบริการสามารถให้บริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่นมากขึ้น 4.ทำอย่างไรให้ขั้นตอนไม่เยอะ ให้เด็กรู้สึกไม่อายหากปรึกษาเรื่องเพศ 5.ทำอย่างไรให้สถานบริการสุขภาพเป็นสิทธิของเด็กเป็นที่ที่ตัวเองเข้าไปใช้บริการได้โดยไม่ถูกตำหนิ เป็นต้นค่ะ"
ด้าน น.ส.วิริยา วงศ์นอก ตัวแทนสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร บอกข้อเสนอต่อภาคีทุกภาคส่วนว่า ขอให้มีการทำงานที่เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้ 1. ด้านเด็กและเยาวชน ทั้ง 50 เขตขับเคลื่อนโดยมีแกนนำเพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2.จัดตั้งแกนนำในโรงเรียน 3. ด้านการศึกษา ขอให้ทุกโรงเรียนมีช่องทางให้นักเรียนปรึกษาเรื่องเพศได้โดยตรง 4. ด้านสาธารณสุข ให้สถานบริการสุขภาพสังกัด กทม. ดำเนินการเชิงรุกในโรงเรียนและชุมชนเพื่อรณรงค์และป้องกันแก่เด็กในโรงเรียนทั่ว กทม.
ช่องทางที่สามารถให้วัยรุ่นปรึกษาเรื่องเพศได้ มีทั้งทีมบริการของเยาวชนที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพทางเพศในโรงเรียน และให้บริการทางคลินิกออนไลน์ เช่น www.lovecarestation.com www.teenpath.net หรือสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ