บริโภคอาหารถูกต้อง ลดปัญหาด้านสุขภาพคนไทย
ปัจจุบันสถานการณ์แนวโน้มสุขภาพของประชาชนมีความเสี่ยงมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงของประชากรและสิ่งแวดล้อมส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็กไม่ถูกต้อง ทำให้เด็กขาดสารอาหารและมีภาวะโภชนาการเกิน การเจริญเติบโตช้าเจ็บป่วยบ่อย ความสามารถในการเรียนรู้ด้อย ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนต่ำ และสมรรถภาพในการทำกิจกรรมและการเล่นกีฬาต่ำ
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขานรับนโยบายอย่างเคร่งครัด และเร่งดำเนินการพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคเด็กไทย โดยกล่าวว่า ปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม จากข้อมูลรายงานการสำรวจสุขภาพเด็กไทย พบว่า เด็กไทยที่มีภาวะโภชนาการเกินและเป็นโรคอ้วนรุนแรง โดยเด็กทุกกลุ่มอายุมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงกว่าภาวะผอม โดยเด็กอายุ 12-14 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนรวมกันสูงสุด ร้อยละ 11.9 รองลงมาเป็นเด็กอายุ 6-11 ปีร้อยละ 8.7 และ 1-5 ปี ร้อยละ 8.5 ตามลำดับ ทำให้พบปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนแต่บั่นทอนคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ภายในประเทศอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในฐานะองค์กรหลักที่ให้การคุ้มครองผู้บริโภคทุกกลุ่มวัย จึงมีแนวทางในการส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมการบริโภคที่พึงประสงค์ โดยมุ่งปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพพื้นฐานด้านการบริโภคให้ถูกต้องและยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ ควบคู่กับการสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพต่างๆอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการจัดกิจกรรมเรียนรู้เรื่องการบริโภคและโภชนาการของสถานศึกษาทั้งกิจกรรมการเรียนรู้ในหลักสูตร สอนเนื้อหาสุขบัญญัติ 10 ประการ ในการเรียนการสอนปกติและสอดแทรกในวิชาต่างๆที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการเรียนการสอนในชั่วโมงเรียนพิเศษ หรือชั่วโมงกิจกรรมของโรงเรียน ฝึกให้นักเรียนดูแลสุขภาพเป็นประจำกินอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม ออกกำลังกาย ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากสัมผัสสิ่งสกปรก
ขณะเดียวกันได้มีการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพนักเรียนเพื่อให้ทราบสภาวะสุขภาพของนักเรียนในการแก้ไขปัญหาสุขภาพเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ หรือการปฏิบัติของนักเรียนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และการกระทำที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเพื่อให้ทราบว่านักเรียนมีการปฏิบัติตัวถูกต้องในเรื่องใดและหาแผนส่งเสริมดูแลนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างแกนนำสุขบัญญัติ หรือชมรมสุขบัญญัติในโรงเรียนเพื่อเป็นผู้ดำเนินงานพัฒนาสุขภาพร่วมกัน เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพ และการจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ดังนั้นโรงเรียนจึงควรจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติให้แก่นักเรียน เช่น ส่งเสริมให้มีแปลงปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษ ฯลฯ
รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวต่อถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องว่ามาจากหลายสาเหตุที่ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของเด็กเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ค่านิยมความโก้เก๋ สภาพแวดล้อม เช่น แหล่งอาหารในชุมชนไม่เอื้ออำนวย ความเร่งรีบทำให้เลือกรับประทานอาหารสำเร็จรูปต่างๆ เช่น บะหมี่สำเร็จรูป แซนด์วิช ขนมกรุบกรอบรวมถึงการขาดความรู้ที่ถูกต้องของเด็กและครอบครัวในการเลี้ยงดูและจัดอาหาร โดยเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกหรือสินค้าลดราคาซึ่งเกิดจากการจูงใจด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยสินค้าอาจด้อยคุณภาพและไม่มีความจำเป็นในการบริโภค ทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ทั้งยังได้รับปริมาณของโซเดียมเกินความจำเป็น ซึ่งอาจส่งผลเสียในระยะยาวจนนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ ได้
จากปัญหาดังกล่าว กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงได้วางโครงสร้างสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปี 2557 ไว้อย่างชัดเจนโดยวางกลุ่มเป้าหมายไว้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 7-18 ปีที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมตามสุขบัญญัติแห่งชาติโดยให้สถานบริการสุขภาพภาครัฐทุกแห่ง ทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ ดำเนินงานสุขศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ขณะที่หมู่บ้านมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในพื้นที่ตำบลจัดการสุขภาพอย่างน้อย 4 แห่งต่อจังหวัด เพื่อพัฒนาเป็นหมู่บ้านต้นแบบในเรื่องการกินผักผลไม้สดทุกวันอย่างน้อยวันละครึ่งกิโลกรัม ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมีโรงเรียนส่งเสริมสุขบัญญัติแห่งชาติ ในพื้นที่ตำบลจัดการสุขภาพอย่างน้อย 4 แห่งต่อจังหวัดเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบ โดยดำเนินงานส่งเสริม สนับสนุนควบคุมกำกับ สถานบริการสุขภาพให้มีการดำเนินงานตามมาตรฐานงานสุขศึกษา สร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ และพฤติกรรมสุขภาพให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ประเมินสถานการณ์ และกำหนดมาตรการทางสังคมในการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพในสถานบริการสถานพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะมีการดำเนินการให้กำหนดพื้นที่ดำเนินการ โดยเป็นพื้นที่รพ.สต.ที่อยู่ภายใต้ตำบลจัดการสุขภาพปี 2556 ซึ่งมีโรงเรียนและหมู่บ้านอยู่ในความรับผิดชอบ มีการจัดทำ ถ่ายทอดแผนพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพระดับจังหวัดที่ครอบคลุมผลผลิตและเป้าหมายของการดำเนินงานสุขศึกษา สนับสนุนวิชาการและทรัพยากรให้กับพื้นที่เป้าหมายเพื่อการดำเนินงานนิเทศ ติดตาม กำกับการดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมาย ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของพื้นที่เป้าหมายแบบบูรณาการ ประเมินผลการดำเนินงานทั้งระดับผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ เป็นต้น ในส่วนของสถานบริการสุขภาพ จะมีการสร้างทีมสุขศึกษาและพฤติกรรมสุขภาพของสถานบริการสุขภาพ มีการวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงของพื้นที่ พร้อมจัดทำแผนพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ครอบคลุมการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพและปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพในสถานบริการสุขภาพ ชุมชน และโรงเรียน
การพัฒนาและดูแลพฤติกรรมการบริโภคในเด็ก นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้วยังเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อมทั้งด้านร่างกายจิตใจ และความสามารถ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในอนาคต
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ