เติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็กกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง สู่การสร้างรากฐานที่แข็งแรงของสังคมไทย

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การจัดการร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็กให้พัฒนาได้ตามศักยภาพ”

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    การจัดการร่วมของทุกภาคส่วน เติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็กกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ให้พัฒนาได้ตามศักยภาพ จะช่วยลดช่องว่าง ลดเวลาการสูญเสีย และเพิ่มโอกาสให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กที่เกิดใหม่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ประเทศจะได้คนไทยมีคุณภาพที่ดีในอนาคต

                    คำนิยามของ “ครัวเรือนเปราะบาง” หมายถึง  ครัวเรือนที่มีบุคคลเปราะบาง ซึ่งเป็นบุคคลในภาวะพึ่งพิงที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ และดูแลจากครอบครัว เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น และ/หรือเป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย

                    จากงานวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ชัดว่า ครอบครัวเปราะบางนำไปสู่ ปัญหาเชิงพฤติกรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของเด็กและเยาวชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางเพศที่น่าเป็นห่วง  

                    “เพราะสังคมที่มีอนาคต คือ สังคมที่ไม่ทอดทิ้งเด็ก”  จึงเป็นงานที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) , มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) และ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมสานพลังภาคีเครือข่ายเปิดตัว แพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” ที่จะเป็นการเชื่อมระบบสารสนเทศกับข้อมูลเด็กของภาคีในหลายมิติ เพื่อคุ้มครองเด็กจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในอนาคต

                    โดยมี ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรม (Innovation Sandbox)” ต้นแบบแพลตฟอร์มเติมเต็ม ทำการเชื่อมต่อระบบข้อมูลเด็กของภาคีฯ ที่สามารถแสดงผลเชิงประจักษ์ในการคุ้มครองป้องกันเด็กตั้งแต่ต้นน้ำ  ที่เชื่อมโยงนโยบายขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน

                    ส่องไปที่งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การจัดการร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็กให้พัฒนาได้ตามศักยภาพ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. อธิบายถึงระบบเติมเต็มว่า…    

                    “แพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยพลิกโฉมบริการเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง และเป็นงานสำคัญที่ สสส. สานพลัง กทม. สพร. สวน.และ พม. ร่วมสานพลังสร้างขึ้นมาเพื่อรับมือกับสังคมที่ผันผวนอย่างรุนแรง (VUCA) เพื่อลดช่องว่างการสูญเสียโอกาสต่าง ๆ และการให้โอกาสคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวเปราะบาง เนื่องจากงานวิจัยและการลงพื้นที่ พบว่า ภาวะเปราะบางของครอบครัวเพิ่มมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง อีกทั้งยังขาดมาตรการ วิธีการ เครื่องมือในการจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                    เพื่อลดช่องว่างการสูญเสียต่าง ๆ และให้โอกาสคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวเปราะบางจะต้องไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างไร้รอยต่อ โดยใช้มาตรการเชิงรุกที่จะป้องกันและคุ้มครองเด็กก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ ซึ่งมีการทดสอบระบบเติมเต็มในพื้นที่ทดลอง หรือ Innovation Sandbox เชื่อมโยงผู้ให้บริการด้านสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการสังคม เข้ามาจัดให้เกิดบริการร่วม (Shared Service)

                    “สสส. ใช้ยุทธศาสตร์ไตรพลังขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ที่มีทั้งพลังความรู้ พลังสังคม และพลังนโยบาย นำร่องใน กทม. เมืองหลวงที่ขึ้นชื่อเรื่องการกระจุกตัวของทั้งโอกาสและปัญหา ก่อนที่จะถอดบทเรียนขยายผลสู่พื้นที่อื่น จึงนับเป็นก้าวสำคัญของการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นต้นทางของการพัฒนาสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิต (Lifelong Health) ตามพันธกิจของ สสส.” ดร.ประกาศิต กล่าวย้ำ

                    นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “การพัฒนาแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า เติมเต็ม” ทำให้ได้รู้ว่า ณ ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร มีเด็กที่เกิดใหม่สูงถึงปีละประมาณ 70,000 คน ในจำนวนเหล่านี้จะมีเด็กที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาสอย่างน้อยปีละ 20,000 คน จึงนำมาซึ่งโจทย์ว่า จะทำอย่างไรเพื่อเข้าถึงเด็กกลุ่มนี้และช่วยให้พวกเขาสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่เหมาะสม  เพื่อไม่ให้เด็กเหล่านี้ถูกลืมหรือละเลย”

                    “ ตัวอย่างของแพลตฟอร์มที่ทำสำเร็จและเปลี่ยนวิธีการทำงานของระบบราชการ คือ Traffy Fondue ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนกว่า 300,000 เรื่อง ทุกเรื่องสามารถเห็นได้โดยไม่ตกหล่น และติดตามได้ว่ามีความคืบหน้าในการแก้ไขอย่างไร ฉะนั้น แพลตฟอร์มเติมเต็มนี้ อนาคตจะไม่ใช่แค่เรื่องเด็กและเยาวชน แต่สามารถขยายผลไปยังเรื่องอื่น ๆ เช่น คนพิการ คนไร้บ้าน และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ต่อไป เพื่อให้ประชาชนทุกคนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน”

                    แพลตฟอร์ม “เติมเต็ม”กรุงเทพมหานคร ที่ว่านี้ได้ร่วมภาคีเครือข่ายฯมาตลอดโดยมีชุมชนเข้ามาเรียนรู้จัดการความรู้ที่ในศูนย์รังสรรค์นวัตกรรมฯ ที่นำไปทดสอบในพื้นที่ชุมชนฟื้นที่นครร่มเกล้า ระยะ 4 โซน 10 เขตลาดกระบังมาแล้ว และจะทดสอบขยายผลให้ครอบคลุม 6 เขตใน 6 โซน ที่มีความพร้อมของกทม.ในอีก 3 ปีข้างหน้า “…หลังจากนั้น จะนำไปใช้ให้ครอบคลุม 50 เขต 69 ศูนย์บริการสาธารณสุข 292 ศูนย์เด็กเล็ก 437 โรงเรียนสังกัด กทม. ในอีก 5 ปี …” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

                    นพ.วิพุธ พูลเจริญ ผู้อำนวยการมูลนิธิ สวน. กล่าวถึงเป้าหมายของแพลตฟอร์มเติมเต็มว่า”…การค้นพบทำให้เราตระหนักในสถานการณ์ภัยคุกคามก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อเด็ก และสามารถร่วมวางเป้าหมาย กำหนดแผนขั้นตอนเปลี่ยนวิถีชีวิตให้พัฒนาไปได้เต็มตามศักยภาพที่ควรจะเป็นของเด็ก ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสังคมและเศรษฐกิจ พร้อมกับสร้างความเข้มแข็งให้ข่ายงานทางสังคมระดับชุมชน โดยทำงานผ่านเครื่องมือ ดอกไม้ 4 มิติ เพื่อสื่อความเข้าใจร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ปกครองกับศูนย์บริการสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ ครูศูนย์เด็กเล็ก ครูโรงเรียน ให้เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

                    นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ สพร. กล่าวว่า.. “การมีประเทศที่ดี หมายความว่า ประชาชนทุกคนมีสมาร์ทไลฟ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประเทศมีความทันสมัย หรือ สมาร์ทเนชั่น ดังนั้น แนวคิดของการออกแบบ แพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” คือ การแบ่งปันข้อมูลให้เกิดการเชื่อมต่อบริการต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้จัดบริการทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนข่าวสารกับผู้รับบริการ เพื่อร่วมวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในทุกมิติร่วมกัน”

                    สสส. มุ่งเน้นในการสานพลังสร้างสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาชน เพื่อให้อนาคตของชาติเหล่านี้ได้เติบโตอย่างดีที่สุด และเพื่อลดความเหลือมล้ำทางสังคม และลดจำนวนเด็กและเยาวชนจากกลุ่มเปราะบางต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code