น้ำท่วม-เครียดกินเหล้าหวั่นกระทำรุนแรงพุ่ง
เอ็นจีโอคาดปัญหาความรุนแรงเด็ก-สตรีมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น เหตุเครียดเพราะพิษน้ำท่วม ซ้ำร้ายหมดตัว ตกงาน ผู้นำครอบครัวหาทางออกผิดๆ ด้วยการพึ่งแอลกอฮอล์ จี้ภาครัฐเร่งเยียวยาจิตใจกลุ่มเสี่ยง ออกมาตรการฟื้นฟูครอบครัวผู้ประสบภัยตามสภาพความเป็นจริง
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กำหนดให้เป็นวันยุติความรุนแรงสตรีสากล ซึ่งเมื่อย้อนดูสถิติความรุนแรงยังถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะจากข้อมูลของแผนงานลด ละ เลิกเหล้า เพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2553 พบว่า มีผู้ขอรับคำปรึกษารวม 942 ราย ในจำนวนนี้เป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว 914 ราย หรือ 97% ทั้งนี้ ผู้รับคำปรึกษา 1 รายอาจประสบปัญหามากกว่า 1 กรณีปัญหา รวมเป็น 1,756 กรณี ส่วนปัญหาที่พบยังเป็นสามีนอกใจ การทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ นอกจากนี้ยังพบว่ามีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมากถึง 46%
“คาดว่าสถานการณ์การใช้ความรุนแรงในเด็กและสตรีของปีนี้มีแนวโน้มน่าเป็นห่วงกว่าทุกปี เนื่องจากวิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเกือบทั่วทุกภูมิภาค และกินเวลาต่อเนื่องยาวนาน ส่งผลกระทบอย่างมหาศาล ทั้งด้านเศรษฐกิจและภาวะด้านจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ประสบภัย ที่ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองจนหมดตัวและตกงาน ส่งผลให้เกิดความเครียด หาทางออกผิดวิธีด้วยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น และซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้รายได้ที่มีน้อยอยู่แล้วเสียไปกับสิ่งที่ให้โทษ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ครอบครัวผู้ที่แตกแยก ติดยาเสพติด ติดเหล้า ติดการพนัน ขณะที่การเยียวยาจากภาครัฐเน้นปัจจัยภายนอก คือการจ่ายเงินชดเชยเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่าสถิติความรุนแรงในปี 2554 จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าในปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน” นายจะเด็จกล่าว
เขาเปิดเผยด้วยว่า จากการทำงานของมูลนิธิฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในศูนย์อพยพ และในพื้นที่น้ำท่วมหลายแห่ง พบว่า ในภาวะวิกฤติน้ำท่วมถือว่ามีโอกาสเพิ่มการทะเลาะเบาะแว้ง การมีปากเสียง อารมณ์ฉุนเฉียวจากภาวะเครียด ไม่มีทางออก นำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น เพื่อให้เกิดมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาความรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติน้ำท่วม ทางมูลนิธิฯ จึงขอเรียกร้องไปยังภาครัฐและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง นำข้อเสนอของคณะทำงานไปพิจารณา
ข้อเสนอดังกล่าวประกอบด้วย 1.มีแผนงานเยียวยาด้านจิตใจให้กับผู้ประสบเหตุ ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว 2.เพิ่มมิติครอบครัวในการพิจารณาการเยียวยาช่วยเหลือในเชิงกายภาพของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมลฑลที่มีพื้นที่จำกัด โดยต้องพิจารณาให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง เพื่อไม่เกิดปัญหาการตกหล่นของผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยา เพราะจากการเก็บข้อมูลผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ศูนย์อพยพของศูนย์ราชการที่สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าใน 1 หลังคาเรือนนั้นมีครอบครัวที่มีสมาชิกสูงสุดถึง 11 คน และ 3.กรณีการพักในศูนย์ผู้ประสบภัยควรมีกิจกรรมเพื่อให้ครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ได้ทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อคลายเครียด และเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ยิ่งถ้ามีกิจกรรมเพื่อให้พึ่งตัวเอง พึ่งกันเองได้ด้วยจะดี เช่น ร่วมกันทำครัวกลาง จัดการปัญหาในพื้นที่ร่วมกัน เป็นต้น รวมถึงมีพื้นที่ให้ผู้ประสบภัยได้ระบายความเครียด เช่น การบริการให้คำปรึกษา นิมนต์พระมาทำกิจกรรมสวดมนต์ หรือสนทนาธรรม เป็นต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์