นี่สิ! ห้องเรียน4.0
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
หมดยุคการเรียนการสอน หน้ากระดาน เขียนให้เด็กอ่าน ท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง กันแล้ว อย่าลืมว่า สมัยนี้เรามีตัวช่วยชั้นดีในนามของเทคโนโลยีที่จะทำให้อะไรๆ ก็ง่ายและสนุกมากขึ้น โดยเฉพาะ อินเทอร์เน็ตที่เด็กๆ คนไหนก็ต้องรู้จัก ที่สำคัญ คือ ติดงอมแงม แต่ในทาง กลับกัน เราก็สามารถนำเจ้าสิ่งนี้มาใช้ ให้เกิดประโยชน์ได้ด้วยเช่นกัน
เช่นโครงการพัฒนาศักยภาพครู ศึกษานิเทศก์ แกนนำเด็กและเยาวชน ในการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาความเป็นพลเมือง "อ่านสื่อรู้ ดูสื่อเป็น เห็นสื่อต่าง สร้างสื่อได้" หรือเรียกสั้นๆ ว่า โครงการ TT TeacherTraining for Digital and Literacy โดย มูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัวสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็คือตัวอย่างชั้นดีถึงการฉลาดใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ในฐานะผู้จัดการโครงการพัฒนาศักยภาพ ครูฯ เล่าถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังกล่าวว่า เนื่องจากสื่อออนไลน์และ สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยและสังคมโลกมากขึ้น การสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันสื่อเพื่อให้สามารถใช้สื่อต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงเป็นเรื่องจำเป็น โครงการ TT จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพครูเพื่อให้สามารถใช้ข่าวสาร สื่อ และแหล่งเรียนรู้รอบตัว โดยเฉพาะสื่อดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนได้
แต่โครงการจะสำเร็จได้มี "ครู" เป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด จึงเป็นเหตุผลให้การ รับสมัครครูเข้าร่วมโครงการจำต้องมี เงื่อนไขว่า ผู้บริหารโรงเรียนต้องมีหนังสือ อนุญาตให้ครูเข้าร่วมกิจกรรมตามเงื่อนไข ที่กำหนดครบทุกครั้งตามหลักสูตร เพื่อให้ได้ครูจากโรงเรียนที่สามารถขยายผลและเป็นแกนนำให้ครูอื่นๆ ได้จริง
"เรากำหนดเงื่อนไขว่า ครูแกนนำ จะต้องพัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชน เพื่อขยายผลไปสู่กลุ่มเพื่อนหรือรุ่นพี่ รุ่นน้องในโรงเรียน ขณะเดียวกันครูแกนนำก็ต้องขยายผลไปสู่ครูโรงเรียนอื่นๆ ด้วย ซึ่งนอกจากการรู้เท่าทันสื่อ และ ใช้สื่อได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์แล้ว เรายังมุ่งหวังให้ครูสามารถใช้สื่อดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนได้ด้วย และเป็นที่น่าดีใจว่า นอกจากเครื่องมือที่ทางโครงการ TT นำเสนอให้ ครูที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังค้นหาเครื่องมือใหม่ๆ และนำมาแบ่งปันในกลุ่มเพื่อนครูด้วยกันเอง" ดร.ศรีดา กล่าว
ทางฝั่งผู้เข้าร่วมโครงการอย่าง "ครูนุ้ย-ชไมพร สุธรรม" โรงเรียนดงเจนวิทยาคม จังหวัดพะเยา เล่าบรรยากาศการทำงานและการเรียนการสอนในโรงเรียนดงเจนวิทยาคมให้ฟังว่า หลังจากที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้นำ ความรู้ไปขยายผลต่อในโรงเรียนให้กับครูและนักเรียน ซึ่งในระยะแรกมีเพียงกลุ่มครูที่อายุยังน้อยเข้าร่วมโครงการ แต่กลุ่มครูอาวุโสไม่สนใจ จึงใช้วิธีโพสต์กิจกรรมหรือการใช้เครื่องมือต่างๆ ลงในกลุ่มไลน์ของครูในโรงเรียน ทำให้ครูท่านอื่นๆ ให้ความสนใจ
"เราได้นำผลการใช้สื่อหรือ เครื่องมือต่างๆ โพสต์ลงในไลน์กลุ่มครูของโรงเรียน เช่น แอพลิเคชั่น Zip grade ซึ่งใช้ในการตรวจข้อสอบ จากเดิมเคยต้องใช้เวลาตรวจข้อสอบเด็กนักเรียนหนึ่งห้อง 2 ชั่วโมง พอมีเครื่องมือเราใช้เวลาเพียง 10 นาที และสามารถตรวจแบบเรียลไทม์ต่อจอโปรเจคเตอร์แสดงผลให้เด็กๆ ได้ลุ้นผลคะแนนของตนเองในห้องเรียน ทำให้เกิดการตื่นตัวในการเรียนมากขึ้น
พอเราโพสต์ลงไลน์กลุ่มครูของโรงเรียน ก็เริ่มมีครูที่เคยปฏิเสธการเข้าอบรมหรือคิดว่าเทคโนโลยีต่างๆ เป็นเรื่องยาก เข้ามาสอบถามว่า โปรแกรม ดังกล่าวใช้อย่างไร และขอให้สอนใช้เครื่องมือ เราจึงใช้วิธีการจับคู่ครูวัยรุ่นกับครูสูงวัย เพื่อเป็นพี่เลี้ยงแบ่งปันความรู้กันและกัน ซึ่งนอกจากจะเลือกสื่อดิจิทัลมาสอนเด็กๆ แล้ว ครูในโรงเรียนยังใช้เทคโนโลยี มาช่วยในการทำงานของครู เช่น แอพพลิเคชั่น Auto Survey ที่นำมาช่วยในงานวัดผลประเมินผล งานประกันคุณภาพการศึกษา ทำให้ใช้เวลากับภาระงานน้อยลง และมีเวลาใส่ใจกับการเรียนการสอนเด็กมากขึ้น"
ครูนุ้ย บอกอีกว่า หลายๆ โรงเรียนมักพบปัญหา ครูสูงวัยต่อต้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ดังนั้น ผู้บริหารจึงต้องให้การสนับสนุนและมีนโยบายอย่างจริงจัง และครูที่สามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ได้ต้องไม่ตำหนิครูที่ยังใช้ไม่เป็น แต่ต้องให้กำลังใจและถ่ายทอดความรู้ให้ด้วยความเต็มใจ ปัจจุบันโรงเรียนดงเจนวิทยาฯ นำ เครื่องมือออนไลน์ต่างๆ มาใช้ทั้งระหว่างครูกับนักเรียน และครูด้วยกันเอง ในการประสานงาน สั่งงาน หรือการแจ้งหนังสือหรือคำสั่งจากผู้อำนวยการก็ทำผ่านระบบออนไลน์
"ในส่วนของครูกับเด็ก ช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนลดน้อยลง เพราะเด็กๆ รู้สึกว่าครูก็ใช้เทคโนโลยี เช่นเดียวกับเขา ซึ่งในอดีตครูมักจะห้ามไม่ให้เด็กใช้มือถือ ไม่ให้เล่นคอมพิวเตอร์ เราเปลี่ยนจากห้ามมาเป็นสนับสนุน ให้เขาใช้ แต่แนะนำการใช้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์แทน
รวมถึงควรใช้เป็นเวลา อย่างการนำ Google Classroom มาใช้ เราพบว่า เด็กๆ ชอบทำการบ้านและส่งงานครบ มากขึ้น ซึ่งจากที่ครูแกนนำในโรงเรียน ดงเจนวิทยาฯ เป็นครูที่เข้าไปค้นหา เครื่องมือเพื่อนำมาใช้ วันนี้เราคุยกันว่า ในอนาคตเราอยากพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยการทำงานของครู และนำไปไว้ ใน Google Play เพื่อให้ครูคนอื่นๆ ได้โหลดนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไปด้วย" ครูนุ้ยกล่าว
ขณะที่ทางฝั่งผู้เรียนอย่าง สิทธินันท์ จันทมล นักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเลยอนุกูลวิทยา กล่าวว่า การนำสื่อดิจิทัลมาใช้ในการเรียนการสอนทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนสนุกขึ้น จากแต่ก่อนที่ครูจะใช้หนังสือ เขียนกระดานดำหรือใช้สไลด์ แต่ปัจจุบันครูมีเครื่องมือ ในการเรียนการสอนมากขึ้น ทำให้ห้องเรียนไม่น่าเบื่อ และทำให้นักเรียน กับครูใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย เพราะบางครั้งครูก็มาสอบถามถึงวิธีใช้ แอพพลิเคชั่นต่างๆ จากนักเรียน
นี่จึงสมชื่อของ "ห้องเรียน" ที่ทุกคนต่างได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างแท้จริงแอพฯดี เป็นศรีแก่ห้องเรียน
Google Classroom สร้างและเก็บข้อมูลการเรียนโดยใช้ Google Docs, Drive และ Gmail โดยครูสามารถตรวจข้อมูลการเรียนได้ตลอดเวลาพร้อมให้คำแนะนำแก่นักเรียนได้ตลอดเวลา
Zipgrade ใช้ตรวจและประมวลผลกระดาษข้อสอบแบบปรนัย สามารถบอกค่าเฉลี่ย ค่าต่ำสุดและสูงสุดของคะแนนสอบ ระดับความยาก ง่ายของข้อสอบชุดนั้น
AutoSurvey (รองรับเฉพาะ iOS) ตรวจคะแนนและแบบสอบถามด้วยการถ่ายรูป เก็บหลักฐานแบบสอบถามผ่านรูปถ่ายเพื่อดูย้อนหลังได้ จัดประเภทหมวดหมู่คำถาม และประเมินคะแนนในหมวด แสดงผลสถิติในรูปแบบกราฟแท่ง