‘นิทาน’ ปลดล็อกวิกฤติดื้อยา

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'นิทาน' ปลดล็อกวิกฤติดื้อยา thaihealth


'นิทาน'…ปลดล็อกวิกฤติดื้อยาปลูกฝังหยุดพฤติกรรมใช้ยาพร่ำเพรื่อ


"หมอคะเลยค่ะ จะได้หายเร็วๆ"  ขอยาแรงที่สุดให้ลูก ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างพฤติกรรมพ่อแม่ที่มีส่วนทำให้ลูกมีเชื้อดื้อยา พร้อมขยายความว่า เมื่อประกอบกับการใช้ยาโดยไม่จำเป็น ใช้ยาไม่ครบขนาด และใช้ยาแรงเกิน ส่งผลให้เกิดการดื้อยาในกลุ่มเด็ก ซึ่งรายงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในปี 2554 พบว่า ในรอบ 10 ปี มีปัญหาเชื้อแบคทีเรีย 4 ชนิดที่พบบ่อยและการดื้อยาปฏิชีวนะสูงขึ้น บางชนิดพบเพิ่มขึ้นกว่า 30 เท่าตัว


ขณะที่ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย หรือยาปฏิชีวนะ เป็นปัญหาร้ายแรงทั่วโลก ในประเทศไทยทุกๆ 15 นาที มีคนเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ที่เกิดจากเชื้อดื้อยา 1 คน เฉลี่ยวันละ 100 คน สูงกว่าทั่วโลก คนไทยจึงเสียชีวิตจากสาเหตุนี้อย่างน้อยปีละ 20,000-38,000 คน ที่ผ่านมา กพย.พยายามรณรงค์ส่งเสริมให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยามาตลอด 8-10 ปี รวมถึงแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ใน โรงพยาบาลต่างๆ ช่วยให้ความรู้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ประชาชนก็ยัง "ไม่จำไม่เข้าใจ และไม่ปฏิบัติ" จึงมองว่า "ไม้แก่" อาจจะดัดยาก ทำให้มุ่งเป้าปลูกฝังไปที่เด็กปฐมวัย


กพย.ร่วมมือกับแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลิตสื่อที่เหมาะสม คือ "นิทานภาพ" จำนวน 2 เรื่อง "กุ๊กไก่เป็นหวัด"และ "กระจิบท้องเสีย"ผ่านการนำเนื้อหาทางวิชาการมาแต่งเป็นนิทานภาพ ใช้คำที่เหมาะสม มีจังหวะจะโคน มีเสียงสูงเสียงต่ำ ทำให้เด็กๆ สนุกกับการอ่าน และจดจำเรื่องราวในนิทานได้ โดยการประพันธ์ของ อ.เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป หรือตุ๊บปอง ภาพโดย na-ru ซึ่งจะเกิดผลลดการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ สองต่อ ทั้งตัวเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นคนเล่านิทานให้เด็กฟัง เนื่องจากเนื้อหาในนิทานจะสอดแทรกเรื่องอาการท้องเสียและเป็นหวัด ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ


'นิทาน' ปลดล็อกวิกฤติดื้อยา thaihealth


อ.เรืองศักดิ์ บอกว่า นิทานทั้ง 2 เรื่องการแต่งคำเป็นแบบกลอนโบราณ 6 และ 8 ใช้จังหวะลำตัดและกลอนเพลงโบราณ ซึ่งการที่จะทำให้หนังสือนิทานแต่ละเล่มเข้าถึงเด็กได้ จากประสบการณ์ทำงานกับเด็กมา 30 กว่าปี พบว่าหนังสือแต่ละเล่มจะต้องสอดแทรกและสอนเด็กเพียงเรื่องเดียว ไม่ซับซ้อน การใช้กลอนจะทำให้เด็กจดจำเรื่องราวได้ และการใช้คำที่มีวรรณยุกต์ เด็กจะตื่นเต้น โดยเฉพาะคำที่มีวรรณยุกต์ แต่ไม่มีความหมายที่เป็นเอกลักษณ์ของ ตุ๊บปอง เด็กฟังแล้วจะสนุกและมีความสุข ก่อนที่จะตามด้วยคำที่มีความหมายที่เป็นเนื้อหาที่ต้องการสอน เด็กก็จะจดจำเรื่องที่ต้องการสอนนั้นได้


"อยากให้เด็กเป็นแบบไหน มีคุณธรรมอย่างไร ลดละเลิกพฤติกรรมอะไรให้หาหนังสือแบบนั้นมาเล่าให้เด็กฟัง เพราะหนังสือจะมีความเสถียรของเนื้อหาที่หยิบมาอ่านอีกครั้งก็เหมือนเดิม เด็กก็จะเกิดภาพจำที่เสถียร หากมุ่งเน้นปลูกฝังจากคำสอนหรือพฤติกรรมของพ่อแม่เพียงอย่างเดียว จะไม่มีความเสถียร เพราะเรื่องเดียวกันบางครั้งพ่อแม่ก็โอเค แต่บางครั้งก็ไม่โอเคกับเรื่องนั้นๆ ที่สำคัญหนังสือเป็นอาหารว่างที่เด็กต้องกินทุกวัน เพราะเป็นอาหารสมองและอาหารใจ" ตุ๊บปอง กล่าวอย่างเชื่อมั่น


'นิทาน' ปลดล็อกวิกฤติดื้อยา thaihealth


หลังมีการนำนิทานภาพทั้ง 2 เรื่องไปใช้จริงในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ จำนวน 1,049 แห่ง เกิดผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. เปิดเผยรายงานผลการศึกษาการใช้หนังสือนิทานภาพนี้ว่า ได้รับแบบประเมินผลกลับมาจากศูนย์เด็กเล็กจำนวน 723 แห่ง คิดเป็น 69% ระหว่าง 1 ธันวาคม 2559-31 มีนาคม 2560 ในด้านปฏิกิริยาและพฤติกรรมที่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในเด็ก พบว่า ร้อยละ 72 เด็กจดจ่อตั้งใจฟัง ร้อยละ 69 หยิบหนังสือมาเปิดดูเองและจากคุณครูอ่านให้ฟัง เด็กหัวเราะชอบใจ ร้อยละ 58 เด็กจดจำคำและประโยคจากหนังสือ มีทักษะในการใช้ภาษาดีขึ้น เช่น เด็กสามารถพูดโต้ตอบนิทานและเหตุการณ์ชีวิตประจำวันบอกเล่าให้เพื่อนฟังได้ เด็กจดจำพฤติกรรมและนำมาปฏิบัติตามในชีวิตประจำวัน เช่น สังเกตตนเองว่าเป็นหวัดหรือไม่ ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ ล้างมือก่อนรับประทานอาหารเพราะกลัวท้องเสียเหมือนกระจิบ เด็กๆ บอกผู้ปกครองว่า คุณป้าหมอหมีบอกว่าไม่ต้องทานยา นอนพักผ่อน 2-3 วันก็หาย และเด็กๆ เข้าใจการดูแลตัวเองเมื่อเป็นหวัด และเมื่อท้องเสียก็บอกว่าให้ดื่มเกลือแร่ น้ำเกลือ เป็นต้น


"การใช้หนังสือทำให้เด็กจดจำประโยคจากหนังสือ มีความสุขเมื่อได้ฟังครูและเพื่อนอ่านหนังสือให้ฟัง ที่สำคัญคือ เด็กๆ จดจำพฤติกรรมและนำไปใช้ในการปฏิบัติของตนเอง เพี่อป้องกันและดูแลตนเองยามเจ็บป่วย ยกตัวอย่างเรื่องเล่าที่เด็กมาบอก เช่น บอกผู้ปกครองว่าเวลาไม่สบายอย่าซื้อยาตามร้านให้หนูกินนะ จะนอนพักผ่อน 3 วันก็หาย หรือน้องภูเบสไม่ชอบล้างมือ หลังฟังนิทานก็ล้างมือทุกครั้งเพราะกลัวท้องเสียเหมือนกระจิบ เป็นต้น" นางสุดใจ กล่าวปิดท้าย


ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดนิทานทั้ง 2 เรื่อง ได้ที่ www.thaidrugwatch.org และ www.happyreading.in.th

Shares:
QR Code :
QR Code