นำร่อง ‘ขอนแก่น’ คืนสิทธิคนไร้บ้าน

          คาดทั่วประเทศมีคนไร้บ้านกว่า 3,000 คน ไม่มีบัตร 10-15% ส่งผลเข้าไม่ถึงสิทธิ “การศึกษา-ทำงาน-รักษาพยาบาล” บางรายนอนป่วยตายในที่สาธารณะ “สสส.-มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย” ผนึกท้องถิ่นแก้ปัญหา นำร่อง จ.ขอนแก่น หวังหน่วยงานรัฐลดขั้นตอนออกบัตร คืนสิทธิคนไร้บ้าน


นำร่อง ‘ขอนแก่น’ คืนสิทธิคนไร้บ้าน  thaihealth


          เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ศาลหลักเมือง จ.ขอนแก่น ในเวทีสื่อสาธารณะ "การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไร้บ้าน เรื่องบัตรประชาชน" ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีเป้าเพื่อลดความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพประชากรกลุ่มเฉพาะ หรือกลุ่มชายขอบหลายกลุ่ม อาทิ คนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล กลุ่มชาติพันธุ์ สำหรับคนไร้บ้าน เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนชายขอบ เข้าไม่ถึงโอกาสทางสังคมหลายอย่างที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าถึงได้ เช่น รถไฟฟรี เบี้ยคนพิการ เบี้ยผู้สูงอายุ การมีที่อยู่อาศัย ฯลฯ สสส. จึงมุ่งเพื่อให้คนไร้บ้านมีศักยภาพดูแลช่วยเหลือตนเอง สามารถเข้าถึงสิทธิ และสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ และคนไทยพึงมี นำร่องดำเนินงานใน 2 พื้นที่ คือ กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เน้นทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานรัฐส่วนกลาง แต่จากการวิเคราะห์ช่องว่างการดำเนินงาน และเล็งเห็นศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น สสส. จึงปรับทิศทางเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรในพื้นที่มากขึ้น


 นำร่อง ‘ขอนแก่น’ คืนสิทธิคนไร้บ้าน  thaihealth


         “สสส. ร่วมกับหน่วยงาน องค์กร และเครือข่ายภาคประชาสังคมใน จ.ขอนแก่น ทั้งเทศบาลนครขอนแก่น โรงพยาบาลขอนแก่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด และเครือข่ายประชาสร้างสรรค์ พัฒนากลไกระดับพื้นที่เพื่อการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในพื้นที่เขตเทศบาลนครขอนแก่น และร่วมกันพัฒนารูปแบบการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อให้ขอนแก่น เป็นพื้นที่ต้นแบบการแก้ปัญหาคนไร้บ้านอย่างยั่งยืน” ดร.ประกาศิต กล่าว


          นายสมพร หารพรม ผู้ประสานงานเครือข่ายการแก้ปัญหากลุ่มคนไร้บ้าน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า จากการที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย(มพศ.) และเครือข่ายคนไร้บ้านได้สำรวจจำนวนคนไร้บ้านด้วยวิธีการเดินนับตามแหล่งต่างๆ ในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2553 พบว่า มีคนไร้บ้านประมาณ 1,092 คน และ จ.เชียงใหม่ราว 1,601 คน คาดการณ์ว่าทั่วประเทศมีคนไร้บ้าน 3,000 คน ในจำนวนนี้ไม่มีบัตรประชาชน 10-15% เฉพาะพื้นที่ จ.ขอนแก่น มีคนไร้บ้านประมาณ 120-160 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนราว  30-50 คน


 นำร่อง ‘ขอนแก่น’ คืนสิทธิคนไร้บ้าน  thaihealth


         "การจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ สืบเนื่องจากการเห็นความสำคัญเรื่องที่คนไร้บ้านไม่มีบัตรประชาชน ส่งผลให้เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะคนไทยคนหนึ่ง จึงหวังว่าหลังจากเสร็จสิ้นการเสวนาจะทำให้ได้รูปแบบกระบวนการออกบัตรประชาชนให้คนไร้บ้าน นำไปสู่การลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่จะออกบัตรประชาชนใหม่ให้คนไร้บ้านที่ไม่มีบัตร โดยไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก เพื่อแก้ปัญหานี้ได้จริงแต่ไม่หละหลวมด้านกฎหมาย โดยหวังให้เป็นแรงบันดาลใจให้พื้นที่อื่นๆ เช่น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และเชียงใหม่" นายสมพร กล่าว


 นำร่อง ‘ขอนแก่น’ คืนสิทธิคนไร้บ้าน  thaihealth


         นายธเนศ จรโณทัย ผู้แทนเครือข่ายคนไร้บ้าน กล่าวว่า คนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนไร้บ้านที่ไม่เคยมีบัตรประชาชน เพราะออกจากบ้านมาตั้งแต่เด็ก โดยที่ยังไม่มีบัตรประชาชน และ2.กลุ่มที่เคยมีบัตร แต่ออกจากบ้านมาใช้ชีวิตแบบคนไร้บ้านเป็นเวลานาน ทำให้บัตรหาย หรือบัตรหมดอายุแล้วไม่ได้ไปทำบัตรใหม่ หรือขาดการติดต่อกับหน่วยงานราชการเป็นเวลานานแล้วถูกคัดชื่อออก ซึ่งการที่คนไม่มีบัตรประชาชนไม่สามารถมีบัตรใหม่ได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการออกบัตรมีขั้นตอนที่ซับซ้อน อาทิ ต้องตรวจสอบไปยังญาติพี่น้อง หรือต้องมีคนมารับรอง ขณะที่คนเหล่านี้ออกจากบ้านมานานจนบ้านเดิมอาจเปลี่ยนไปแล้ว หรือบางกรณีต้องพิสูจน์ดีเอ็นเอ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง คนเหล่านี้อาจไม่มีเงินเพียงพอที่จะดำเนินการ 


         น.ส.นพพรรณ พรหมศรี มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า เมื่อคนไร้บ้านไม่มีบัตรประชาชนทำให้คนไร้บ้านเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐจัดให้แก่ประชาชน ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล พบว่า คนไร้บ้านจำนวนไม่น้อยที่นอนป่วยจนเสียชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะแล้วหน่วยงานการกุศลมารับศพไปจัดการ และสิทธิในการได้รับเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ นอกจากนี้ ยังกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย ไม่สามารถสมัครเข้าทำงานในที่ต่างๆ ได้ หรือต้องหลบซ่อน ไม่กล้าเปิดเผยตัวเพราะจะถูกตรวจค้นจับกุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะไม่มีบัตรประชาชน ทั้งที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง จึงอยากให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาขั้นตอนในการที่จะช่วยให้คนไร้บ้านมีบัตรประชาชน


 


 


          ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code