นักวิทย์มะกันเจ๋งคิดยาแก้ขี้อายสำเร็จ
เปรียบเป็นเหมือนยาปลุกเซ็กส์สำหรับการเข้าสังคม
หนังสือพิมพ์เดอะเดลี่เทเลกราฟฉบับออนไลน์ของอังกฤษรายงานว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาทีมหนึ่งค้นพบว่าพวกเขามีทางที่จะผลิตยารักษาอาการขี้อายหรือความรู้สึกประหม่าอึดอัดใจเมื่อต้องเข้าสังคมกับคนอื่นด้วยการใช้ฮอร์โมนที่มักพบในคนที่เป็นคุณแม่ใหม่ ๆ
ทีมนักวิจัยตั้งฉายาให้ยาที่ค้นพบใหม่นี้ว่าเปรียบเสมือน “ยาไวอากร้าเพื่อการเข้าสังคม” โดยเฉพาะซึ่งในที่นี้หมายถึงเป็นยาที่กระตุ้นให้คนขี้อายที่กินยานี้แล้วมีความกล้าและมั่นใจมากขึ้นในการที่จะเข้าสังคม
ทั้งนี้ทีมนักวิจัยได้ค้นพบว่า ออกไซโตซิน (oxytocin) เป็นฮอร์โมนธรรมชาติที่ช่วยในการคลอดบุตรและทำให้แม่และทารกแรกเกิดพัฒนาสายสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ช่วยลดความวิตกกังวล และช่วยลดความกลัวสิ่งต่าง ๆ อีกทั้งทีมนักวิจัยยังพบด้วยว่ามีความเป็นไปได้ที่ฮอร์โมนชนิดนี้จะสามารถช่วยให้คนที่เป็นออทิสซึ่มมีอาการดีขึ้น
ทีมนักวิจัยซึ่งตอนนี้ทำงานอยู่ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และเอเซีย กำลังเร่งทำการตลาดยาที่สกัดจากฮอร์โมนตัวนี้เป็นหลัก โดยศาสตราจารย์ พอล แซ็ก ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยบัณฑิตวิทยาแคลร์มอนท์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าทีมนักวิจัยได้ทดสอบฮอร์โมนกับคนไข้จำนวนหลายร้อยคน และผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ออกไซโตซินมีผลทำให้ลดระดับความประหม่าวิตกกังวลใจของคนไข้ลงได้จริง
ศาสตราจารย์แซ็กอธิบายว่านอกจากที่ฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยทำให้คนสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งกันและกันได้ดีขึ้นแล้วยังพบว่าการใช้ฮอร์โมนนี้มีความปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียงอันตรายใดๆ และก็ไม่ทำให้เกิดการเสพติดด้วย ทั้งนี้การทำการวิจัยในประเทศอื่น ๆ นอกอเมริกาก็ได้ผลเช่นเดียวกัน
ทีมนักวิจัยที่ทำการทดลองที่มหาวิทยาลัย ซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์พบว่าพวกเขาสามารถช่วยลดอาการของคนไข้ที่ขี้อายมาก ๆ จำนวน 120 คนได้สำเร็จด้วยการทดลองรักษาด้วยฮอร์โมนออกไซโตซิน ก่อนการทดลองรักษา 1 ชั่วโมงคนไข้เหล่านี้ยังตกอยู่ในภาวะประหม่าอึดอัดไม่สบายใจอยู่เลย
นอกจากที่ซูริคแล้วทีมนักวิจัยอีกทีมก็ประสบความสำเร็จในการทดสอบสเปรย์ที่ผลิตจากฮอร์โมนออกไซโตซินซึ่งทำขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งนิวเซาต์เวลส์ในประเทศออสเตรเลียด้วยเช่นกัน
สำหรับสถานการณ์เกี่ยวกับคนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอาการขี้อายในประเทศอังกฤษนั้นพบว่า 1 ใน 10 คน ระบุว่าชีวิตประจำวันของตัวเองได้รับผลกระทบจากอาการขี้อายของตัวเอง บางคนก็หาทางออกด้วยการหันไปพึ่งการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติดเพื่อช่วยแก้อาการเขินอายของตัวเอง
ส่วนฮอร์โมนออกไซโตซินนั้นนอกจากจะพบว่าเป็นฮอร์โมนที่ถูกขับออกมาโดยแม่ที่เพิ่งให้กำเนิดบุตรแล้วยังเชื่อว่าเป็นฮอร์โมนที่ทำให้คนมีความใจดีมากกว่าปกติ โดยผลการวิจัยพบว่ายิ่งร่างกายคนเรามีระดับของฮอร์โมนธรรมชาติตัวนี้ในสมองมากเท่าไหร่ คน ๆ นั้นยิ่งมีแนวโน้มที่จะใจดีมากเท่านั้นโดยเป็นการทดลองที่วัดจากความใจดีในการให้เงินบริจาค
ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 24-06-51