นักวิชาการแนะวิชาชีพเสริมกลไกกำกับ”สื่อใหม่”

ใช้โครงสร้างกฏฎหมายดูแล

นักวิชาการแนะวิชาชีพเสริมกลไกกำกับ”สื่อใหม่”

 

          นักวิชาการชี้ กระแสออนไลน์ – โซเชียล มีเดีย ส่งผลภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน ระบุแนวทางปฏิรูปสื่อรอบใหม่โฟกัสเนื้อหา แนะจัดตั้ง สภาวิชาชีพสื่อสารมวลชนกำกับดูแลทุกสื่อ ใช้โครงสร้างอำนาจรัฐผ่านทางกฎหมาย ดูแลกันเอง พร้อมกำหนดบทลงโทษ

 

          มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา และโครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการเรียนรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (มีเดีย มอนิเตอร์) จัดเสวนา เรื่อง “ปรับแนวคิด เปลี่ยนโฟกัส : “สื่อ” กับการขับเคลื่อนสังคมไทย”

 

          รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม (สสส.) กล่าวว่า กระบวนการปฏิรูปสื่อที่ผ่านมา มุ่งเน้นการปฏิรูปองค์กรสื่อในสื่อกระแสหลัก แต่การปฏิรูปสื่อ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสังคม จำเป็นต้องมีการพัฒนาผู้บริโภค เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมการบริโภคสื่ออย่างสมดุล รู้เท่าทันและรับข้อมูลอย่างรอบด้าน เพราะภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะยุคออนไลน์ และโซเชียล มีเดีย ที่ทุกคนสามารถเป็นสื่อบุคคล และรับข่าวได้รวดเร็ว

 

          ดังนั้นการปฏิรูปสื่อจำเป็นต้องเสริมระบบและกลไก ด้านการตรวจสอบและเฝ้าระวังสื่อ ผ่านองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ต้องกำหนดไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ หรือกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อผลักดันให้เป็นวาระชาติและสากล เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องปฏิบัติ

 

          “วิกฤติการเมืองที่ผ่านมา ผู้ชมจำนวนมากขาดทักษะในการรับข้อมูลข่าวสาร ที่ส่งผลผ่านเข้ามาทุกช่องทาง หากผู้ชมมีทักษะ รู้ว่าข้อมูลใดจริง ข้อมูลใดเท็จ ก็จะไม่เกิดวิกฤติ เชื่อว่าการมีองค์กรตรวจสอบและเฝ้าระวังสื่อ ที่เป็นความร่วมมือจากทั้งฝ่ายนักวิชาชีพ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม จะมีส่วนสำคัญในการปฏิรูปสื่อ” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว

 

          ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสสื่อออนไลน์ และนิว มีเดีย เข้ามามีบทบาทรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคมากขึ้นทำให้โครงสร้างสื่อเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ดังนั้นแนวทางการปฏิรูปสื่อรอบใหม่ ที่ให้ความสำคัญด้าน “เนื้อหา” จึงต้องกำหนดการกำกับดูแลสื่อใหม่ด้วยเช่นกัน

 

          แนวทางการกำกับดูแลกันเองของสื่อ ควรจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อสารมวลชน” เพื่อดูแลสื่อทั้งระบบ ทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่ โดยแนวทางการกำกับดูแลอาจจะเป็นรูปแบบ co self-regulation ด้วยการยืมอำนาจรัฐผ่านทางการใช้กฎหมายเข้ามาร่วมกำกับดูแล ด้วยการปรับปรุงกฎหมายเดิม หรือ จัดทำกฎหมายใหม่ขึ้นมา เพื่อทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อ มีอำนาจกำกับดูแล และกำหนดบทลงโทษสื่อที่เข้าข่ายกระทำผิด และไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะสื่อมวลชน ตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ

 

          ปัจจุบันไม่มีการบังคับสื่อให้เป็นสมาชิกของสมาคมวิชาชีพ ที่จะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของการกำกับดูแลกันเอง ดังนั้นหากสื่อ ที่ไม่เป็นสมาชิกของสมาคมวิชาชีพ กระทำผิดจริยธรรมสื่อ จะไม่มีองค์กรใดเข้าไปตรวจสอบ หรือลงโทษได้ แต่หากมีกฎหมายที่ระบุให้สื่อ ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมวิชาชีพ จะทำให้เกิดการกำกับดูแลในทันที ที่องค์กรสื่อนั้นเกิดขึ้น

 

           การยืมอำนาจรัฐ มากำกับดูแลสื่อ ในรูปแบบองค์กรกำกับดูแลร่วม จะต่างจาก สภาทนายความ หรือแพทยสภา ที่นักวิชาชีพทั้งแพทย์และทนาย จะต้องขอใบอนุญาตประกอบอาชีพ แต่นักวิชาชีพสื่อ ไม่ต้องขอใบอนุญาต โดยจะทำภายใต้องค์กรสื่อที่สังกัดเท่านั้นดร.สมเกียรติ กล่าว

 

          ด้านนายวีระศักดิ์ พงศ์อักษร เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.) อยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างการกำกับดูแลสื่อของสภาวิชาชีพ ซึ่งแนวคิดการใช้อำนาจรัฐผ่านทางกฎหมายเข้ามาร่วมกำกับดูแลกันเอง ยังมีข้อกังวลว่าอาจจะมีการแทรกแซงการทำงานของสื่อได้

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

 

update: 10-08-53

อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ

 

Shares:
QR Code :
QR Code