“นอนกรน” อย่านอนใจ

แพทย์เตือนรอบคอใหญ่เกินเกณฑ์ เสี่ยงสารพัดโรค

 

“นอนกรน” อย่านอนใจ  


        ศ.นพ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ แพทย์จากศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จ.นครนายก บอกว่า หญิงที่มีรอบคอเกินกว่า 15 นิ้ว และชายที่มีรอบคอใหญ่กว่า 17 นิ้ว เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคนอนกรนได้ พอๆ กับคนที่มีต่อมทอนซิลโต และจมูกอักเสบเนื่องจากโรคภูมิแพ้

 

          “เหตุที่คนเจ้าเนื้อมักเป็นโรคนอนกรนมากกว่าคนปกติ เพราะว่าเนื้อที่มากเกินความจำเป็นจะบดบังช่องคอให้แคบลงสาเหตุที่พบมักมาจากต่อมทอลซิลโต ลิ้นโต เพดานอ่อน หย่อนยาน จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ กะโหลกศีรษะและคางผิดปกติทำให้ช่องลมในคอแคบลง รวมถึงฮอร์โมนบางตัวผิดปกติ เช่น ฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ลดลง หรือต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนมากกว่าปกติ”แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุ โสต ศอ นาสิก ลาลิงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ สาธยายเหตุปัจจัยยาวเป็นหางว่าว

 

          หากจะแยกแยะระดับความรุนแรงของโรคนอนกรน เช็คง่ายๆ เพียงดูว่านอนท่าไหนแล้วกรนบ้าง ถ้าแค่นอนหงายแล้วกรน นี่ยังไม่เท่าไรอยู่ในระดับไม่รุนแรงอาจแก้ปัญหาโดยเปลี่ยนมานอนท่าตะแคง

 

          ถ้านอนตะแคงข้างก็แล้ว นอนหงาย นอนคว่ำก็แล้วยัง กรนครอกฟี้อยู่ ยังเป็นกลุ่มรุนแรงปานกลาง และท้ายสุดเป็นการกรนทุกท่าประกอบกับการหยุดหายใจขณะหลับ แบบนี้อันตรายที่สุด

 

          เสียงกรนเกิดจากการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนลิ้นไก่ โคนลิ้น ผนังคอ เมื่อร่างกายต้องออกแรงสูดลมหายใจเข้าออกแรงกว่าปกติ เนื่องจากช่องคอแคบลงมากผิดปกติ โดยพบมากในคนอ้วนเจ้าเนื้อเพศชายมากกว่าเพศหญิง

 

          “สถิติโรคนอนกรนในคนไทย พบในกลุ่มผู้ชายมากถึง 20-30% ส่วนผู้หญิงพบได้ 10-15% โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยทำงาน คนที่อาการรุนแรงมากพบได้สูงถึง 5% และยังพบเด็กเป็นโรคนอนกรนได้เช่นกัน” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคนอนกรน กล่าว

 

          โรคนอนกรนหากปล่อยไว้นานๆ ไม่พบแพทย์เพื่อรับการรักษาในผู้ใหญ่จะส่งผลให้เกิดสารพัดโรคตามมามากมาย อาทิ ความดันโลหิตสูงหัวใจขาดเลือด โรคสมองเสื่อม โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคสมรรถภาพทางเพศเสื่อม โรคเบาหวาน และโรคความจำเสื่อม

 

          สำหรับเด็กที่เป็นโรคนอนกรนอาจส่งผลให้เป็นเด็กที่นอนขี้เซาการเรียนถดถอย โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากต่อมทอนซิลโต ต่อมอะดีนอยด์โต เป็นโรคภูมิแพ้ อ้วน กระดูกบริเวณใบหน้าและคอผิดปกติ

 

          วิธีการสังเกตอาการนอนกรน ถ้าอยู่กันสองคนก็ยังพอบอกกันได้เว้นแต่จะนอนกรนทั้งคู่ กรณีที่อยู่คนเดียวและอยากรู้ว่านอนกรนหรือไม่ ให้สังเกตเวลาตื่นนอนตอนเช้า รู้สึกไม่สดชื่น หรือง่วงนอนช่วงกลางวัน มึนศีรษะบ่อยๆ คอแห้ง หากเป็นเช่นนั้นควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

 

          แพทย์จะแนะนำให้เก็บข้อมูลระหว่างการนอนหลับ (sleep test) เพื่อดูลักษณะการนอนหลับ การหายใจระดับออกซิเจนในเลือด ความดังของเสียกรน เพื่อทำการวิเคราะห์และวางแผนการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป

 

          หากอาการนอนกรนมีสาเหตุจากความอ้วน แพทย์จะแนะนำให้ดูแลตัวเองก่อน เช่น การควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกาย การนอนตะแคง การนอนหัวสูง งดกินยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน เป็นต้น

 

          สำหรับคนที่นอนกรนเนื่องจากความผิดปกติของร่างกาย แพทย์จะวินิจฉัยและรักษาตามอาการ อาทิ การใช้เครื่องช่วยหายใจ ใช้ฟันยางป้องกันการนอนกรน การผ่าตัดซึ่งมีหลายวิธี อาทิ การใช้เลเซอร์การใช้คลื่นความร้อนคลื่นวิทยุ การวางด้ายบริเวณเพดานอ่อนเพื่อลดการสั่นสะเทือนของเพดาน เป็นต้น

 

          โรคนอนกรนหากปล่อยไว้นาน ไม่รับการรักษาอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อาจหลับในขณะที่ขบขี่ยวดยานพาหนะ หรือแม้แต่การขับเครื่องบินก็ด้วยเช่นกัน และอาจส่งผลให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในคนที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจขณะหลับอาจเป็นโรคใหลตายได้เช่นกัน

 

          “การรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ลดอาการนอนกรนลงได้ 80-90% แต่ไม่ทำให้หายขาด ผู้ป่วยจะต้องดูแลตัวเองด้วย เช่น งดดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกายหักโหมจนเกินความจำเป็น และงดกินยาที่ออกฤทธิ์กล่อมประสาทชนิดที่ทำให้ง่วงนอน” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคนอนกรน แนะนำ

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

update 08-12-51

 


 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code