นวัตกรรมสุข พลิกมุมสนุก ให้คนทำงาน

                    ในการประกวดรางวัลนวัตกรรมสร้างสุของค์กร ในโครงการบ่มเพาะนวัตกรรมสร้างสุของค์กร (Happy Workplace Innovation Incubation) ที่จัดขึ้นโดยสสส. ร่วมกับ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อสนับสนุนให้คนในองค์กรได้มีส่วนร่วมคิด ค้นหา บ่มเพาะ เกิดนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในองค์กร ไม่ว่าจะภาคเอกชน หรือ ภาครัฐ และก่อให้เกิดความสุข

                    ซึ่ง 1 ใน 5 ของผู้ที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมสร้างสุข  “โครงการ Simple happy space” ของรพ.หลวงพ่อเปิ่น จ.นครปฐม นำทีมโดย  ทพญ. ลภัสสา มานะชัยไพบูลย์ ทันตแพทย์ชำนาญการ รพ.หลวงพ่อเปิ่น จ”นครปฐม ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า มีโอกาสมาอบรมโครงการกับ สสส. บ่มเพาะนวัตกรรมนักสร้างสุข ประกอบกับสังเกตการเปลี่ยนแปลงในโรงพยาบาล ที่เห็นกลุ่มคนผลัดกันเข้า- ออก ในที่ทำงาน จึงอยากให้โรงพยาบาล กลับมามีบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันเหมือนเดิม เพื่อให้ความสัมพันธ์ในองค์กรแน่นแฟ้น เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ส่งผลให้การทำงานเชื่อมโยงสอดประสานทำได้อย่างราบรื่นมากขึ้น จุดประกายความสุขในองค์กร

                    เริ่มต้นจากการสำรวจความสุขของบุคลากรในองค์กร ด้วยเครื่องมือ happy 8 ที่ได้รับจาก สสส. ที่ครอบคลุมตั้งแต่ happy body ,happy heart ,happy relax, happy brain ,happy money, happy soul, happy family ,happy society พบว่า  ขาด happy relax  และ happy money มากถึง 60-70% เนื่องจากภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้ขาดการพักผ่อน และเมื่อต่อเวร หากจะรอกลับบ้านก็ต้องใช้เวลานาน จึงคิดว่า น่าจะมีพื้นที่สำหรับการพักผ่อนช่วงต่อเวร เป็นทั้งห้องนอนชั่วคราวที่มีมุมพักหลับ ดีกว่าการนอนฟุบกับโต๊ะเก้าอี้ และมีห้องคาราโอเกะที่ไม่รบกวนคนไข้ เพื่อให้ช่วยพักผ่อนคลายเครียดในระหว่างการทำงาน

                    “นำงบ OD ที่ใช้กินเลี้ยงปีละครั้ง มาใช้สร้างห้อง หรือ มุมพักผ่อนของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล, ห้องคาราโอเกะ เพราะงานต้องทำทุกวัน การพักผ่อนก็เช่นกันจะมารอปีละครั้งกินข้าวครั้งเดียว แม้ชื่นชมแต่ทำได้แค่ครั้งเดียว จึงเกิดความเห็นร่วมกันและโชคดีที่ผู้บริหารก็เห็นตรงกัน เพราะกลับไปก็อยู่ห้องพักบ้างคนก็อยู่คนเดียวไถโทรศัพท์ การอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อยก็มีเพื่อน การพักช่วงระยะสั้นๆ ในที่ทำงานเหมือนกับการเติมพลัง และไม่ใช่มุ่งแต่ทำงาน สุดท้ายจะทำให้คนทำงาน เบิร์นเอาท์” ทพญ. ลภัสสา กล่าว

                    สำหรับการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เพื่อให้โครงการได้เดินหน้าต่อ ทพญ. ลภัสสา กล่าวว่า มีการนำเสื้อผ้า หรือกระเป๋าในสภาพดีของเจ้าหน้าที่แต่ละคนมาจำหน่าย ในตลาดนัดของโรงพยาบาล เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่าย หากจะต้องมีการจัดซื้ออุปกรณ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเก้าอี้นวดนอน หรือ กาแฟอาหารในจุดผ่อนคลาย โดยปัจจุบัน happy space ได้เริ่มดำเนินการมาแล้ว 1 เดือน ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้บรรยากาศการทำงานก็อบอุ่น เพราะทุกคนมีส่วนร่วมและช่วยเหลือกัน และบางพื้นที่ บางหน่วยของโรงพยาบาลก็ไม่มีพื้นที่กว้างสำหรับพักผ่อน จุดนี้จึงนับเป็นประโยชน์ร่วมกันที่เห็นตรงกัน

                    ส่วนอีกทีมที่ชนะการประกวดรางวัลนวัตกรรมสร้างสุข เป็นการรวมกลุ่มเยาวชนจากการหลายพื้นที่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และประจวบคีรีขันธ์ นำโดยนายชินกฤต แสนเกรียง นร.ชั้นม.6 โรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน นางสาวธนพัฒน์ จันทา นร.ชั้นม.5 โรงเรียนประจวบวิทยาลัย และนางสาววิชญ์ชยา ปีโภคินอนันต์ นศ.ชั้นปี 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ภายใต้ชื่อทีม Compass สร้างบอร์ดเกม “เกมสนุกสุขล้น” ขึ้น ที่มีจำลองการใช้ชีวิตมุ่งเน้นการลดความเครียดและเสริมสร้างสุขภาวะ  โดยคำนึงถึงปัญหาที่นักเรียนและนักศึกษาต้องเผชิญ ทั้งเรื่องการเรียน การเงิน และสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยมีลักษณะการเล่นคล้ายเกมเศรษฐี แต่มีความพิเศษที่กระดานและการ์ด ออกแบบให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมประกอบด้วย 32 ช่อง ผู้เล่นจะทอยลูกเต๋าและเดิน เมื่อไปตกที่ช่องใด จะต้องหมุนวงล้อและจั่วการ์ด และ  วงล้อแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ เล่นเอง โยนให้คนอื่น และเล่นเป็นทีม

                    ส่วนการ์ดมี 3 ประเภท ได้แก่ การ์ด Content การ์ด Super Content และการ์ด Happy การ์ด Content เป็นภารกิจทั่วไปที่ไม่ยากนัก ให้ 1 Token เมื่อทำสำเร็จ โดยการ์ด Super Content จะมีความท้าทายทำสำเร็จได้ 2 Token และการ์ด Happy เป็นการ์ดพิเศษสำหรับผู้ชนะ เมื่อจั่วได้การ์ด Happy จะมีกิจกรรมให้ทำหลังจบเกม เป็นการต่อยอดเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น โดยความพิเศษของ “สนุกสุขล้น” อยู่ที่การสอดแทรกการเสริมสร้างสุขภาวะ ให้สอดคล้องกับหลัก Happy 8 เพื่อส่งเสริมสุขภาพกายใจและลดความเครียดของผู้เล่น ตัวอย่างเช่น กิจกรรม “กระโดดตบ 10 ครั้ง” หรือ การเต้นตามฟีดTikTok ที่ช่วยส่งเสริม Happy Body

                    “ข้อดีของการเล่นบอร์ดเกม เปลี่ยนให้กับคนกลุ่มไหนก็ได้ ทั้งที่ทำงาน หรือ สถานศึกษา และ เล่นได้ทุกสถานที่ เล่นต่อหน้าสร้างปฏิสัมพันธ์ และยังสามารถเล่นในระบบออนไลน์ แบบ open chat ในระบบของมหาวิทยาลัย หรือในองค์กรก็สามารถเล่นได้  เมื่อบอร์ดเกมออกรูปแบบใหม่ๆ ถ้าคนเล่นติดแล้ว เค้าจะซื้อไอเทม หรือซื้อเกมเพื่อได้เล่นอยากต่อเนื่อง” ทีม Compass กล่าว

                    ด้านศ. ดร. นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สสส.กล่าวว่า การจัดประกวดครั้งนี้ ทำให้ได้ไอเดียใหม่ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาสุขภาวะให้กับคนในองค์กร เปรียบได้กับกระบวนการต้นน้ำ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นยังต้องนำนวัตกรรมไปขยายและต่อยอดอีก เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนวงกว้างในอนาคต ซึ่งไปถึงระดับปลายน้ำ

                    “น่าดีใจที่มีเด็กและเยาวชน สนใจร่วมประกวดนวัตกรรมสร้างสุข นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมคิด ร่วมทำ การประกวดนวัตกรรมนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และต้องอาศัยการประกวดไปอีก 2-3 ครั้ง เชื่อว่าจะตกผลึกและนำนวัตกรรมเหล่านี้ไปต่อยอดใช้ได้จริง เกิดประโยชน์กับคนในวงกว้าง ตอนนี้เหมือนกับเจอเรื่องที่คันแล้ว แต่พลุยังไม่แตก ต้องอาศัยการบ่มเพาะฟูมฟักอีกหน่อย” ศ. ดร. นพ. นันทวัช กล่าว

                    สอดคล้องกับที่นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า ทุกแนวคิดที่ได้รับฟังในครั้งนี้ ให้มุมมองและไอเดียที่หลากหลาย เกี่ยวกับการทำให้พนักงานในองค์กรมีสุขภาพที่ดี แต่การส่งเสริมสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ การคิดค้นนวัตกรรมจึงมีผลทำให้เกิดการขยายต่อเนื่องในวงกว้าง อย่างไรก็ตามดีใจที่ผู้เข้าร่วมประกวดทุกคนไม่ได้ใส่ใจแค่สุขภาพทางกายเท่านั้น แต่เริ่มมีนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ mental health หรือ สุขภาพจิต การคิดค้นนวัตกรรมแก้ไขความเครียดจากงาน

                    “ตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแชร์ไอเดียที่กำลังพลั่งพรู ทำให้คนกล้าก้าวออกมาช่วยคิด จากนั้นจะนำมาคัดเลือก เพื่อไปต่อยอดให้เกิดการใช้ได้ในวงกว้าง หลายเรื่องที่นำเสนอเป็นเรื่องที่ดี และน่าดีใจที่การเสนอนวัตกรรมสร้างสุขในครั้งนี้ หลายคนมุ่งเป้าเรื่อง mental health ที่ถือว่าตอบโจทย์ และเป็นเรื่องที่สสส.ให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่จับต้องได้ยาก” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

                    ในการประกวด “นวัตกรรมสร้างสุของค์กร” มีทีมที่เข้ารอบการคัดเลือกในรอบสุดท้าย 11 ทีม ซึ่งกระบวนการตัดสินพิจารณา ประเมินจากนวัตกรรม ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เกิดผลกระทบและประโยชน์  รวมถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่สามารถนำไปใช้และพัฒนาต่อยอดได้จริง แม้วันนี้นวัตกรรมเหล่านี้ ยังไม่ได้ถูกสร้างและใช้วงกว้างอย่างแพร่หลาย นับว่าเป็นหนึ่งจุดประกายให้คนหันมาสนใจสร้างความสุข ทั้งสุขภาวะและความสุขในองค์กร

Shares:
QR Code :
QR Code